วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > การคืนชีพของกล้องฟิล์ม แค่แฟชั่น หรือมนต์เสน่ห์

การคืนชีพของกล้องฟิล์ม แค่แฟชั่น หรือมนต์เสน่ห์

ภาพยนตร์เรื่อง “Walter Mitty ชีวิตพิศวงของวอลเตอร์มิตตี้” ที่เข้าฉายในประเทศไทยช่วงปลายปี 2013 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้จัดการแผนกฟิล์มเนกาทีฟในสำนักงานนิตยสาร Life ที่มักจะหลุดเข้าไปอยู่ในจินตนาการของตัวเองบ่อยๆ ประกอบกับในห้วงยามนั้น สถานการณ์วงการสิ่งพิมพ์ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง การตีพิมพ์นิตยสาร Life ฉบับสุดท้ายและฟิล์มภาพสำคัญ ทำให้เขาต้องออกเดินทาง

เรื่องราวของวอลเตอร์ มิตตี้ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” มองรอบตัวที่ถูกล้อมรอบไปด้วยตู้เก็บฟิล์มภาพถ่ายสำคัญๆ ที่ถูกใช้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สำหรับบางคนอาจมองว่า สิ่งเหล่านี้มันก็แค่ขยะเก่าๆ เท่านั้น

ทว่า เรื่องราว เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกอยู่ในม้วนฟิล์มเหล่านี้ ยังคงทรงคุณค่าอยู่เสมอ

การเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน โลกทั้งใบแทบจะถูกย่อส่วนลงมาบรรจุอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เราได้สืบค้นและเปิดโลกทัศน์

และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี่เองที่ทำให้อะไรหลายอย่างที่เคย “เฟี้ยวฟ้าว” หรือ “เจ๋งโคตร” ในอดีตถูกกลบไปด้วยฝุ่นแห่งกาลเวลา แต่แน่นอนว่า แท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้จางหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เพราะลึกๆ ในก้นบึ้งหัวใจของทุกคนล้วนแล้วแต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้บันทึกความทรงจำที่ชวนประทับใจในวัยหวาน วัยเยาว์ ให้เราได้ระลึกถึงได้เสมอ เหมือนลิ้นชักที่เราเก็บซ่อนความทรงจำที่งดงามและมีค่าเอาไว้ ขณะที่ความทรงจำเหล่านั้นกลับนอนอย่างสงบนิ่ง อดทน ซื่อสัตย์ เพียงเพื่อรอให้เจ้าของความทรงจำเปิดออกมาทบทวนห้วงเวลานั้นอีกสักครั้ง

ในยุคหนึ่ง กล้อง ฟิล์มและภาพถ่ายคืออีกหนึ่งในเครื่องบันทึกความทรงจำ เชื่อว่าหลายครอบครัวต้องมีกล้องฟิล์มไว้ในครอบครองอย่างน้อยๆ หนึ่งตัว เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ หรือภาพประทับใจ และกว่าที่เราจะได้เห็นภาพถ่ายเหล่านั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์หลังส่งฟิล์มไปล้างที่คัลเลอร์แล็บ ช่วงเวลาในการรอคอยนี่เองที่ทำให้ภาพถ่ายเหล่านั้นยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นมาเราหยิบขึ้นมาดูภายหลัง

โลกหมุนรอบตัวเอง มนุษย์ไม่หยุดพัฒนา เวลาไม่เคยหยุดเดิน ทุกอย่างเป็นส่วนประกอบของการเติบโตทางเทคโนโลยี และทำให้กล้องฟิล์มค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง เมื่อกล้องดิจิทัลเริ่มเข้ามาแทนที่

ข้อดีเรื่องความรวดเร็ว ความทันสมัย และออปชั่นมากมายที่กล้องฟิล์มทำไม่ได้ถูกบรรจุลงในกล้องดิจิทัล ซึ่งทำให้กล้องดิจิทัลในเวลานั้นติดตลาดและกลายเป็นไอเทมใหม่ที่ใครหลายคนปรารถนา

แม้ว่าบนโลกยุคดิจิทัลที่กล้องดิจิทัลจะยืนหนึ่งและตอบโจทย์ความต้องการของเหล่าช่างภาพได้ แต่กล้องฟิล์มที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานในความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก ยังคงมนต์เสน่ห์เอาไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งกล้องฟิล์มอาจจะถูกมองว่าเป็นสินค้าแฟชั่นสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่

ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กล้องฟิล์มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากแหล่งชอปปิ้งใจกลางเมืองที่บรรดาวัยรุ่นชอบไป กล้องฟิล์มจะกลายเป็นอีกหนึ่งไอเทมที่คนรุ่นใหม่พกติดตัวอยู่เสมอ

“วัยรุ่นหันมาเล่นกล้องฟิล์มก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับวัยรุ่น เขาคงจะมองว่ามันท้าทาย ให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่เขามีเป็นของ Limited คิดง่ายๆ ว่า เขากินอาหารฟิวชั่นมานาน อยากลองมากินอาหารรสชาติดั้งเดิมดู แต่มันก็ตลกนะ คือเด็กๆ เขามาถ่ายกล้องฟิล์มกัน ถ่ายเสร็จส่งฟิล์มไปล้างสแกนแล้วเอามาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ลงอินสตาแกรมไม่ต่างอะไรกับที่เขาถ่ายภาพด้วยมือถือ หรือกล้องดิจิทัล แต่การถ่ายกล้องฟิล์มของคนรุ่นใหม่มันเหมือนเขาเดินทางอ้อมหน่อย” สุวิชา เปรมใจชื่น หรือพี่หนุ่มแห่ง Fotofile เปิดเผยมุมมองอย่างออกรส

กระแสการขยายตัวของกล้องฟิล์มในห้วงยามนี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากบริษัทผู้ผลิตกล้อง ฟูจิฟิล์ม ที่นำเอาความ Retro ใส่เข้าไปในกล้องดิจิทัลคอมแพคและวางจำหน่ายในช่วงปี 2011 แม้คุณสมบัติกล้องรุ่นแรกที่ฟูจิผสมผสานเข้าไปใน Fuji X100 จะไม่อาจเทียบเท่ากล้อง DSLR ก็ตาม ทว่า กลับสร้างกระแสให้กล้องฟิล์มกลับเข้ามาในตลาดกล้องมือสองได้อย่างดี

“ก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนดีไซน์ของค่ายกล้องพวกนี้มีอิทธิพลต่อความนิยมในตัวกล้องฟิล์มมากขึ้น คือพอคนได้ลองจับกล้องฟูจิด้วยรูปลักษณ์ภายนอก วันหนึ่งก็จะรู้สึกว่า อยากลองกลับไปหากล้องฟิล์มอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกอะไรก็ตาม

และการเติบโตของกล้องฟิล์ม แม้จะบอกเป็นตัวเลขชัดๆ ไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่า กล้องฟิล์มในช่วงที่บูมนี่ เป็นส่วนหนึ่งของตลาดกล้อง แม้จะเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ แต่ในมุมมองผมคนที่หันมาเล่นกล้องฟิล์มจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มวัยรุ่น อยากลองเล่นดูบ้าง อยากลองถ่าย อยากได้รับรู้ความรู้สึกว่า ถ่ายกล้องฟิล์มแล้วเป็นยังไง กับอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เติบโตมาจากกล้องฟิล์มอยู่แล้ว พอทำงานมีเงิน ก็อยากจะได้กล้องฟิล์มตัวในฝัน ที่ในอดีตไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ก็อยากจะได้ อยากจะเก็บมาเป็นคอลเลกชั่น แต่จะไม่ถ่ายเล่นๆ กลุ่มนี้จะถ่ายจริงจัง” พี่หนุ่มอธิบายเสริม

แม้ยามนี้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยจะส่งผลกระทบรอบด้าน และทุกตลาดกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน แต่กระแสของกล้องฟิล์มยังไม่เสื่อมถอย แม้จะผ่านจุดพีคไปแล้วก็ตาม

ทีมงาน “ผู้จัดการ 360 องศา” เดินสำรวจแหล่งซื้อขายกล้องฟิล์มที่นับได้ว่าเป็นแหล่งใหญ่อีกแห่ง คือ ห้างเมก้า พลาซ่า ย่านสะพานเหล็ก เรานัดพูดคุยกับหนึ่งในเจ้าของร้าน Viewfinder camera วุฒิชัย เชื้อชม หรือพี่ป้อม

พี่ป้อมเล่าการกลับมาของกล้องฟิล์มขณะที่มือยังระวิงกับการซ่อมกล้องไปพลาง “กล้องฟิล์มกลับเข้ามาเป็นที่นิยมอีกครั้งประมาณ 4 ปีเห็นจะได้ หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2011 เครื่องมืออุปกรณ์การสอนเกี่ยวกับกล้องฟิล์มของมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายหมด แต่มหาวิทยาลัยที่เริ่มกลับมาสอนกล้องฟิล์มได้คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตามลำดับ ความนิยมก็เริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยก่อน แล้วก็ค่อยๆ ขยายวงไปเรื่อยๆ จนไปถึงศิลปิน ดารานักแสดง นักร้อง เซเลบ พวกเพจนักรีวิว Influencer ก็มีอิทธิพลเหมือนกัน พอร้านเรามองเห็นกระแส เราก็เริ่มปรับเปลี่ยนนำเอากล้องฟิล์มเข้ามาขาย

จริงๆ กล้องฟิล์มก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มช่างภาพอยู่นะ บางคนถึงจะมีกล้องดิจิทัล แต่ก็ยังใช้กล้องฟิล์มถ่ายอยู่ตลอด อย่าง ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง อีกหลายประเทศเขาก็ยังนิยมกันอยู่ แล้วพออินเทอร์เน็ตมันครอบคลุม ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้กระแสกล้องฟิล์มในไทยกลับมา”

แม้ว่ากลุ่มที่มาซื้อกล้องฟิล์มที่ร้าน Viewfinder Camera จะเป็นกลุ่มนักศึกษาและนักเรียนมัธยมปลายเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่พี่ป้อมเล่าและทำให้เราแปลกใจคือ “เชื่อป่าวว่า เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่มาซื้อกล้องฟิล์มที่ร้านคือ เด็กอายุ 13 ปี กำลังจะขึ้น ม. ต้นได้”

ขณะที่การพูดคุยเริ่มออกรส ลูกค้าคนแรกก็เข้าร้าน “ผู้จัดการ 360 องศา” มองวิธีการเลือกกล้องของลูกค้าแล้วอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสอบถามหลังจากเธอได้กล้องที่ตามหาแล้ว ว่าอะไรคือเหตุผลที่หันกลับมาสนใจกล้องฟิล์ม “พอดีเห็นเพื่อนลงภาพใน IG ค่ะ ภาพเขาสวยดี ก็เลยถามเพื่อนว่าใช้กล้องอะไรถ่าย พอเพื่อนบอกว่าเป็นกล้องฟิล์มก็เลยตัดสินใจมาซื้อ ขอเริ่มจากกล้องสำหรับผู้เริ่มต้นค่ะ” นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอบแบบเขินๆ พร้อมกับลองกลไกของกล้อง Olympus Trip 35 ในมือ

นอกจากร้านจำหน่ายกล้องมือสองที่อยู่บนห้างเมก้า พลาซ่า จะเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักเล่นกล้องฟิล์มมือใหม่ ทว่า ช่องทางออนไลน์ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

“ในออนไลน์ก็ขายกันเยอะนะ อย่าง IG ทวิตเตอร์ ก็มี แต่ที่นี่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คนจะมาซื้อกล้องฟิล์ม” พลัฐ สายวุฒินนท์ หรือ พี่เซี้ยน เจ้าของร้าน Viewfinder Camera อีกคนอธิบายเสริม

ในยุคที่กล้องฟิล์มมีอิทธิพลกับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้ว ถ้าเอ่ยถึงกล้อง Nikon FM2 เชื่อว่าหลายคนต้องยกให้กล้องรุ่นนี้ยืนหนึ่งในใจใครหลายคน กระทั่งปัจจุบัน Nikon FM2 ยังเป็นที่ต้องการ นั่นเป็นเหตุให้ FM2 ถูกปรับราคาให้สูงขึ้นถึง 3 หมื่นบาท หากเป็นกล้องที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เลนส์พร้อมใช้งาน

“พี่ว่าลูกค้านี่แหละที่เป็นผู้นำเทรนด์เอง ทำให้กล้องฟิล์มมันกลับเข้ามาเป็นกระแสอีกครั้ง ก็มีทั้งกลุ่มที่วอล์กอินเข้ามา อีกกลุ่มคือพวกที่ตามกลุ่มแรก มองหากล้องที่ใช้ง่าย ราคาไม่แพง กับกลุ่มที่เกิดมากับกล้องฟิล์มอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเอื้อมถึงกล้องฟิล์มในฝันได้ในยุคหนึ่ง แล้วที่น่าสนใจคือ พวกวัยรุ่นที่หันมาเล่นกล้องฟิล์มเพราะเขาเห็นความแปลกใหม่จากภาพถ่ายของเพื่อน สำหรับเขาคงให้ความรู้สึกแปลกใหม่ เป็นเรื่องที่ Challenge เช่น เห็นภาพจากหัวฟิล์มที่มีแสงสีผิดเพี้ยนไป เพราะแสงมันเข้ากล้องตอนใส่ฟิล์ม เขาก็อาจจะรู้สึกว่า มันสวย แปลกตาดี”

สำหรับคนที่โตมากับกล้องฟิล์ม พอได้ฟังเรื่องราวแบบนี้ ก็คงจะงงอยู่พอสมควร เพราะในยุคหนึ่งที่เราเริ่มใช้กล้องฟิล์ม และมีฟิล์มเพียง 36 เฟรมต่อม้วน สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก่อนตัดสินใจกดชัตเตอร์คือ ถ่ายอย่างไรให้ได้ภาพที่ดีและประหยัดฟิล์ม คุ้มค่าฟิล์มมากที่สุด

แต่คงไม่แปลกหากเรื่องของความรู้สึกท้าทายจะเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้ทำความรู้จักกับกล้องฟิล์ม เพราะบางคนยังไม่รู้จักวิธีการใส่ฟิล์มด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงการวัดแสง

หลายคนที่โตมากับการใช้กล้องฟิล์ม คงจะนึกถึงและจดจำบรรยากาศในห้องมืดได้เป็นอย่างดี ห้องมืดที่เรียกได้ว่า มืดจริงๆ เพราะช่วงเวลาที่ต้องถอดฟิล์มออกจากกลักฟิล์ม โหลดฟิล์มลงแท็งก์ จะต้องไม่มีแสงใดๆ เล็ดลอดเข้ามาได้เลย

เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจคิดว่าห้องมืดจะต้องมีแสงไฟสลัวสีแดง เช่นที่เคยเห็นในภาพยนตร์หรือมิวสิกวิดีโอ แต่นั่นเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งหลังจากที่ล้างฟิล์มเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ช่วงเวลาที่ต้องใส่ฟิล์มลงในเครื่องอัดและนับเวลาฉายแสงลงบนกระดาษอัด เรียกได้ว่าระทึกใจอย่างที่สุด เพราะต้องคอยนับวินาทีว่า ควรจะปล่อยให้แสงฉายลงมาที่กระดาษนานเท่าไร ภาพที่ถ่ายมาถึงจะพอดี แล้วจากนั้นเราก็มานั่งชื่นชมหรือวิจารณ์ภาพถ่ายกันอย่างสนุก

แต่ในยุคดิจิทัล ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไปหมด ไม่เว้นแม้แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ที่แม้ว่าคนถ่ายจะตั้งใจถ่ายออกมาแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วภาพถ่ายเหล่านั้นก็ถูกโพสต์ลงในโลกโซเชียลมีเดีย ที่น่าตกใจคือบางครั้งแผ่นฟิล์มที่บรรจุความทรงจำมากมายอาจถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ในร้านล้างฟิล์ม ซึ่งเจ้าของฟิล์มไม่ต้องการ เพราะภาพถ่ายได้ถูกส่งมายังช่องทาง Line เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าสำหรับบางคนการใช้กล้องฟิล์มจะเป็นเพียงแฟชั่นหวือหวา ที่วันหนึ่งก็จะถูกลืมเลือนและกล้องฟิล์มจะถูกเก็บเข้ากรุ แต่คนอีกกลุ่มที่เติบโตมากับอุปกรณ์ Mechanic เหล่านี้ กลับพร้อมที่จะเปิดลิ้นชักใหม่เพื่อบรรจุความทรงจำที่มีค่าเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะมนต์เสน่ห์ของกล้องฟิล์มได้หยั่งรากลึกลงไปนานแล้ว และลึกเกินกว่าที่กล้องดิจิทัลจะทดแทนได้

ใส่ความเห็น