พื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตของคนเมือง การมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนประชากร สามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นตัวชี้วัดการบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
แต่การพัฒนาของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและแผ่กว้างอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ถูกพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์ พื้นที่สีเขียวเดิมถูกแทนที่ด้วยตึกสูง ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ และนับวันจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของเมือง
หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีความพยายามในการรักษาและเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวเพื่อทดแทนกับที่เสียไป
“OUR Khung BangKachao” คืออีกหนึ่งโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและรักษาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่ที่ทำหน้าที่เสมือนปอดให้กับคนเมือง
“คุ้งบางกะเจ้า” เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 12,000 ไร่ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีคุณค่าทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม โดดเด่นทางระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมีความสมบูรณ์ของพื้นดินอันเกิดจากการสะสมของตะกอนปากแม่น้ำ มีพันธุ์ไม้กว่า 80 ชนิดในพื้นที่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและชุมชน จนได้รับการยกย่องให้เป็น The Best Urban Oasis Of Asia จากนิตยสาร Time เมื่อปี 2549 และที่สำคัญยังถือเป็นปอดตามธรรมชาติให้กับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย
แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่มีอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อคุ้งบางกระเจ้าอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ลดลง เกิดปัญหาดินและน้ำเค็มขึ้น ส่งผลต่อการประกอบอาชีพด้านการเกษตรและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรกว่า 34 องค์กร ทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน อาทิ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมป่าไม้, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดตั้งโครงการ OUR Khung BangKachao ขึ้นเมื่อปี 2561 ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิต วิถีชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
โดยใช้ความเชี่ยวชาญตลอดจนองค์ความรู้หลากหลายมิติจากพันธมิตรที่เข้าร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุ้งบางกระเจ้า ทั้งการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาเยาวชน การศึกษาตลอดจนวัฒนธรรม การจัดการขยะ การจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง
ที่สำคัญโครงการได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้าให้ได้ 6,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562–2566) โดยขวบปีแรกของการดำเนินงานสามารถพัฒนาพื้นที่สีเขียวได้แล้วจำนวน 400 ไร่ ในพื้นที่ราชพัสดุของกรมป่าไม้ โดยได้มีการปลูกไม้ป่า ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจระยะสั้นกว่า 13,000 ต้น สร้างรายได้และผลประโยชน์ต่อชุมชนกว่า 2.2 ล้านบาท ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้า ต้นไม้เหล่านี้จะสามารถดักจับฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้กว่า 19,204 กิโลกรัม/ปี ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 23,319 ตันคาร์บอน/ปี และปล่อยก๊าซออกซิเจนที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ได้ 27,434 คน/ปี
สำหรับปี 2563 มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 600 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุจำนวน 300 ไร่ และพื้นที่เกษตรส่วนบุคคล 300 ไร่ และพัฒนาต่อจนครบ 6,000 ไร่ภายในระยะเวลา 5 ปี
“ปีแรกเราเริ่มต้นด้วยความไม่มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้ ทุกฝ่ายรวมกันเป็นหนึ่ง เจ้าของพื้นที่ใช้สายตาที่มองเห็นประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน เอาธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาธรรมชาติ และไม่ได้มีแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่มุ่งพัฒนาในหลายมิติ เป็นกิจการเพื่อสังคม มุ่งสู่ความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ องค์กรก็อยู่ไม่ได้” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน กล่าว
นอกจากเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังส่งเสริมการกระจายรายได้ให้กับชุมชน พัฒนาคุณภาพสินค้าท้องถิ่นภายใต้อัตลักษณ์ชาวคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาช่วยส่งเสริม คัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และประชาสัมพันธ์นำออกสู่ตลาด ในอนาคตมีแผนในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตในกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย
การท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เข้ามาช่วยพัฒนากิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ของแต่ละตำบล ได้เปิดตัว 6 เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น ทั้งท่องเที่ยววิถีมอญขอบตำบลทรงคนอง วิถีตลาดน้ำตำบลบางน้ำผึ้ง และวิถีจากตำบลบางกระสอบ เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวคุ้งบางกะเจ้า
ในส่วนของการจัดการขยะและน้ำเป็นอีกบริบทที่สำคัญในการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า มีการจัดแผนอบรมความรู้การจัดการขยะครบวงจร พัฒนาจุดรวบรวมและจัดการขยะอินทรีย์และขยะ Recycle จัดตั้ง Zero Waste Hub รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล เช่น การนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นผ้าบังสุกุลจีวรสำหรับพระสงฆ์
มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อติดตามสถานการณ์และคุณภาพน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาพื้นที่สวนเกษตรผสมผสานแบบร่องสวนและเกษตรอินทรีย์ตำบลให้ได้ร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตร
นับเป็นความท้าทายในการดำเนินงานไม่น้อย ด้วยขอบข่ายของการพัฒนาที่ครอบคลุมหลายด้าน การทำงานที่ต้องแข่งกับการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญความร่วมมือจากชุมชนเจ้าของพื้นที่เอง ก็ถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานด้วยเช่นกัน