ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ไทยยังคงเผชิญกับสภาวการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราหายใจหายคอได้ไม่คล่องนัก ทั้งสภาวะความฝืดเคืองของเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่สร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลก และปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่เรื้อรังมานาน จนทำให้หน้ากากป้องกันฝุ่นแทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว
ช่วง 2-3 ปีมานี้ เราต้องดำเนินชีวิตประจำวันภายใต้ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM2.5 ที่คลุมเมืองอยู่เป็นระลอก และนับวันสถานการณ์ดูจะรุนแรงและขยายวงมากขึ้น จนทำให้ประเทศไทยมักถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก
ปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนับเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากสร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผลต่อสุขภาพเพราะสารพิษในฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง เกิดการระคายเคือง ทำลายอวัยวะของระบบทางเดินหายใจ และยังส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
ไม่เพียงผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่นๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 3,200-6,000 ล้านบาท (ภายในกรอบเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 5 ม.ค. – 5 ก.พ. 2563) โดยแบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนปรับกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด 200-600 ล้านบาท
ตามที่ทราบกันดีว่าแหล่งกำเนิด PM2.5 หลักๆ นั้นมาจาก การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่งแจ้ง และอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เมื่อรวมกับสภาพความกดอากาศต่ำจึงทำให้เกิดค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน ซึ่งปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน ควรตระหนักและหามาตรการในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขร่วมกัน
ที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อันประกอบด้วยมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาว พร้อมระบุว่ามีแผนปฏิบัติการที่จะใช้ในการขับเคลื่อนตามมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
มาตรการระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการในช่วงที่ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและพบค่าเกินมาตรฐาน ส่วนมาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น การเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ, ปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี, พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า, การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง เป็นต้น
สำหรับมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565-2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่, กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม, กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
โดยในวันที่ 21 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ประการ อาทิ การขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก, ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 2563, ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) รถโดยสารและรถบรรทุก, ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่น, กำกับกิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอื่นๆ, ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM, ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน อันเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดปริมาณฝุ่นในช่วงวิกฤตให้เบาบางลง บางมาตรการมีการนำมาประกาศใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การประกาศงดการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สายในพื้นที่กรุงเทพฯ และการก่อสร้างอาคารสูง ตั้งแต่วันที่ 4-6 ก.พ. เป็นต้น ส่วนมาตรการอื่นๆ คงต้องดูกันต่อไป
และดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น การเผาในที่โล่งแจ้งคืออีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิด PM2.5 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น การเผาอ้อยก่อนตัดส่งขายโรงงาน การเผาตอซัง หรือฟางข้าว เป็นต้น หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรงดการเผาทางการเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นการกำกับควบคุมการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตร เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องสั่งให้ทางเกษตรจังหวัด ควบคุมและงดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร อีกทั้งยังถูกบรรจุอยู่ในมาตรการเกี่ยวกับการจัดการวัสดุจากการทำเกษตร และยังมีเป้าหมายที่จะไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อย ร้อยละ 100 ภายในปี 2565 อีกด้วย
แต่ล่าสุดกลับมีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมจากภาคเอกชนที่ออกมาสนับสนุนให้เกษตรกรงดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร อย่างบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ได้ออกประกาศรับซื้อใบอ้อยสดและฟางข้าวจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรไร่อ้อยงดการเผาอ้อยก่อนนำมาขาย
โดยนายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้เปิดเผยว่า “กลุ่มมิตรผลตระหนักดีว่าสาเหตุที่เกษตรกรไทยต้องเผาอ้อยก่อนส่งเข้าโรงงานนั้นเพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้องการลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ทางบริษัทฯ จึงส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาอ้อย ที่สำคัญเกษตรกรเองจะได้ประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทั้งในด้านของรายได้ และการอนุรักษ์ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ในการทำไร่อย่างยั่งยืน” ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
อีกหนึ่งมาตรการในการบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 และดูจะใกล้ตัวเรามากที่สุด คือการที่ศาลเจ้าย่านเยาวราชอย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ออกมาขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มาสักการะเทพเจ้างดการจุดธูปเทียนเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น โดยได้เริ่มรณรงค์งดจุดธูปเทียนตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมเป็นต้นมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจุดธูปเทียนตลอดจนการเผาเครื่องกระดาษและของไหว้ต่างๆ ล้วนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทั้งสิ้น คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ลงพื้นที่สำรวจค่าฝุ่น PM2.5 ในศาลเจ้าย่านเยาวราช พบว่าศาลเจ้าเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 โดยอยู่ในช่วง 60-120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันประเทศไทยมีศาลเจ้าราวๆ สองหมื่นแห่งทั่วประเทศไทย โดยมี 261 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งย่านเยาวราช–เจริญกรุงถือเป็นย่านที่มีศาลเจ้ามากที่สุด มีจำนวน 22 แห่ง
จากจุดนี้เองทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง กรมอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต่างมีนโยบายและมาตรการส่งตรงมายังศาลเจ้าในพื้นที่ ทั้งการขอความร่วมมือและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ลดการใช้ธูป การเผาเครื่องกระดาษ และการประกอบพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ส่งผลให้ศาลเจ้าหลายแห่งต้องสร้างระบบการจัดการต่อนโยบายซึ่งส่งตรงมาจากรัฐ
พระธวัชชัย แก้วสิงห์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ระบุว่าตั้งแต่ก่อนมีวิกฤต PM2.5 ทางวัดได้ลดจำนวนกระถางธูปและเตาเผากระดาษ เพราะตระหนักถึงสุขภาพของประชาชน โดยคณะกรรมการวัดและเจ้าอาวาสได้กำชับให้ลดการเผาของสักการะในช่วงเทศกาล ปัจจุบันเหลือกระถางธูป 5 กระถาง จากเดิม 10 กระถาง มีคนคอยเก็บธูปตลอด และให้ตั้งอยู่บริเวณด้านนอก นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเท ในอนาคตอาจจะลดจำนวนกระถางธูปและกระดาษให้เหลือน้อยที่สุด ก่อนนี้ทางวัดได้รวบรวมนำกระดาษไปเผาทิ้งในบริเวณชานเมืองกลางแจ้ง แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ห้ามทำเช่นนั้น ทางวัดก็ตระหนักถึงเรื่องนี้และจะหากระบวนการปรับเปลี่ยนเพื่อลด PM2.5 ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย โดยวัดและสำนักงานเขตจะร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการให้ไวที่สุด
ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของประชาชนผู้ศรัทธาต่างมีทั้งเห็นด้วยและที่ยังคงยึดมั่นในพิธีกรรมที่เคยทำมา ประเพณีและวัฒนธรรมคงไม่ใช่เรื่องที่จะห้ามกันได้ แต่การแสวงหารูปแบบและการจัดการที่เหมาะสม ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นสิ่งที่เราทำได้
ได้แต่หวังว่าความพยายามของทุกฝ่ายจะสามารถบรรเทาเบาบางปัญหาฝุ่นพิษลงได้ และมาตรการต่างๆ จากภาครัฐจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่เราจะได้กลับมาหายใจหายคอได้อย่างปลอดโปร่งอีกครั้ง