อย่างที่ทราบกันดีว่า การส่งออกเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญของเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกประมาณ 70-75 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม หมายความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์การค้าโลกอยู่ในภาวะระส่ำและกระทบต่อการส่งออก นั่นจะเป็นต้นเหตุแห่งปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทย
นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอุบัติขึ้น ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบในทุกระนาบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่สร้างให้เกิดภาวะเฉื่อยในภาคการส่งออกของไทย ทั้งกรณีที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ หรือกรณีเขตการค้าเสรี FTA ที่ไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการเร่งเจรจา
มูลเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเทศไทยประสบกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจต้านทานได้ แม้จะมีปัจจัยบวกจากด้านอื่นอยู่บ้าง ทว่า ไม่อาจช่วยให้ตัวเลขของการส่งออกบวกขึ้นได้ เมื่อตัวเลขการส่งออกของปี พ.ศ. 2562 ติดลบ 2.7%
สถานการณ์วิกฤตที่กำลังรายล้อมอยู่รอบด้าน รวมไปถึงการสรุปผลตัวเลขการส่งออกปีที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องปรับเป้าประมาณการการส่งออกในปี 2563 ว่าน่าจะมีโอกาสเติบโต 1-3% เท่านั้น
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินภาคการส่งออกของไทยว่า น่าจะยังมีโอกาสเติบโตท่ามกลางมรสุมที่หลายชาติกำลังเผชิญ เพราะมองเห็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดกระแสธารเชิงบวก ได้แก่ การคาดการณ์จาก IMF (International Monetary Fund) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปี 2562 ขยายตัวได้เพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ IMF มองว่าการค้าโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดจากกิจกรรมการผลิตในหลายสาขา
การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ผ่อนคลายลงจากการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกหรือ Phase-1 Deal นอกจากนี้ การที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปมีความชัดเจนแล้ว แต่ยังมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
และปัจจัยสุดท้ายคือการอ่อนค่าลงของเงินบาทไทยในช่วงเดือนแรกของศักราชนี้ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงในรอบ 9 เดือน
การพินิจพิเคราะห์ปัจจัยทั้ง 6 ด้านของกระทรวงพาณิชย์ดูจะไม่ผิดนัก เมื่อสถานการณ์แวดล้อม ณ ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ทิศทางของการส่งออกไทยมีแรงหนุนให้เติบโตในแนวบวก
ทว่ายังมีเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องนำมาพิจารณา ทั้งสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา การถูกระงับสิทธิ GSP โดยสหรัฐอเมริกา และกรณี FTA ที่ไทยยังต้องเร่งเจรจา
โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาแม้จะไม่ส่งผลต่อสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด แต่มีสินค้าไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจจะตกค้างเพราะการสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศของเมืองถูกระงับ ด้วยเหตุผลของการจำกัดวงของการแพร่ระบาดเชื้อที่จะส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยภาครัฐของจีนจะเป็นผู้ควบคุม ซึ่งมีสินค้าที่จำเป็นเท่านั้นที่สามารถนำเข้าและส่งออกผ่านเมืองอู่ฮั่นได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่จีนได้ขยายเวลาปิดเทศกาลตรุษจีนออกไปจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ที่อาจทำให้สินค้าส่งออกไปยังประเทศจีนชะลอตัวลง ซึ่งสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นสินค้าประเภทผลไม้สด
โดยประเทศไทยมีการส่งสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งไปจีนปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ผลไม้สดเป็นสินค้าส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 3 รองจากเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง
ขณะที่การถูกระงับสิทธิ GSP โดยสหรัฐอเมริกานั้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์จำเป็นจะต้องหามาตรการรองรับเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้อยที่สุด งานหนักอาจตกอยู่ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีแผนการจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมายกว่า 18 ประเทศ ในปีนี้ เพื่อรักษาฐานเดิมและหวังจะขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง
โดยแผนกิจกรรมจะอยู่ที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังกลาเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV ยุโรป ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย แอฟริกา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง บาห์เรน ออสเตรเลีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์
การเปิดเผยตัวเลขของตลาดส่งออกที่สำคัญที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 น่าจะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง โดย พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้รายละเอียดว่า การส่งออกเดือนธันวาคม 2562 มีการขยายตัวในหลายตลาด การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา และจีนขยายตัว 15.6% และ 7.3% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และ 18 เดือน ตามลำดับ
นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางและตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS (The Commonwealth of Independent States) ขยายตัว 11.4% และ 8.0% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน และ 16 เดือน ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 1.1% ซึ่งการส่งออกไปตลาดสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงการส่งออกไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2563
สนค. วิเคราะห์และพบว่ายังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ควรเร่งผลักดันเพื่อให้การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวในปี 2563 โดยสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 30 รายการ ทำสถิติมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางการค้าโลกที่ชะลอตัวในปี 2562 และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
สนค. มองกว่าการที่ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น สะท้อนให้เห็นความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สินค้าอุตสาหกรรมได้แก่ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
ขณะที่ภาครัฐยังต้องเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA เพื่อลดภาษีสินค้า รวมถึงการเจรจาแก้ไขปัญหาจากอุปสรรคและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีในตลาดเป้าหมายก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกในอนาคต โดยหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนด้วย
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้รับผลกระทบและยอดการส่งออกและยอดการผลิตลดลงตั้งแต่ปี 2562 โดยยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 75,185 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 19.25% โดยลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทย แม้จะมีปัจจัยบวกจากการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางไม่แข็งค่าเท่าปีที่แล้ว แต่ปัจจัยลบอีกหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว รวมถึงการที่ออสเตรเลียคู่ค้าหลักของไทยต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่า รวมถึงปัจจุบันยังมีปัญหาใหม่จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีแนวโน้มกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในประเทศคู่ค้าไทยหลายประเทศด้วย
โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์ 2 ประเทศคู่ค้าตลาดส่งออกรถยนต์หลักอันดับ 2 และ 3 ของไทย ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูง และมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อจีดีพีสูง ส่งผลกดดันการส่งออกรถยนต์ของไทยทั้งปี 2563 ให้หดตัวลงอย่างไม่อาจเลี่ยง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังประเทศคู่ค้า อันเป็นผลจากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยการคาดการณ์แบ่งตามระยะเวลาของความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของจีนไว้ 2 กรณี คือ 1 หากทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศได้ภายใน 1 เดือน รวมทั้งไม่มีการระบาดในต่างประเทศ ไทยน่าจะส่งออกรถยนต์ได้ 1,005,000 ถึง 1,025,000 คัน หรือหดตัวลงกว่าร้อยละ 3 ถึง 5 จากปีที่แล้ว
แต่ในกรณีที่ 2 หากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนขยายระยะเวลาเป็นประเมาณ 1 ถึง 3 เดือน และยังไม่มีการแพร่ระบาดในต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยจะหดตัวร้อยละ 5 ถึง 7 คิดเป็นตัวเลขส่งออก 985,000 ถึง 1,005,000 คัน
ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว ยังไม่คำนวณถึงผลกระทบในแง่มุมอื่น ซึ่งหากความรุนแรงของเหตุการณ์ได้นำไปสู่ความชะงักงันของภาคเศรษฐกิจอื่นในประเทศจีนด้วยแล้ว ย่อมมีผลเชื่อมโยงมาสู่เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ด้วย และอาจทำให้ผลกระทบต่อการส่งออกสูงกว่าที่คาดเอาไว้
หวังว่าเหตุการณ์ที่กำลังอุบัติอยู่ในปัจจุบันจะเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุด และไทยกำลังจะผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ ด้วยความบอบช้ำที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยแนวทางการแก้ปัญหาที่ภาครัฐกำลังดำเนินการจะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากก้นเหวได้ในเร็ววัน