การวิวาทกันของนักศึกษาสถาบันการอาชีวศึกษากลายเป็นภาพจำของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวัยเรียน ไม่ว่ามูลเหตุของความขัดแย้งจะมาจากอะไรก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวดูเบาบางไปเลยเมื่อเทียบกับปัญหาความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคดิจิทัล
ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนดูเหมือนกำลังขยายวงกว้างและไร้ซึ่งการใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในห้วงยามนี้คือ กลุ่มเด็กที่มีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง มีอายุน้อยลงหรืออยู่ในช่วงปฐมวัย
หลายสิบปีก่อนการกลั่นแกล้งกันระหว่างเด็กนักเรียนเห็นจะมีเพียงการนำชื่อบิดามารดาของอีกฝ่ายมาล้อเลียนกันเท่านั้น ซึ่งการกระทำนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ทว่าก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และจบลงในเวลาสั้นๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การกลั่นแกล้งกันภายในรั้วโรงเรียนกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ผลสำรวจเมื่อปี 2560 พบว่าการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนของไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีอันดับ 3 คือประเทศอังกฤษ และตัวเลขของเด็กที่ถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คนหรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด
ภาพข่าวต่างๆ ที่ปรากฏบนสื่อในหลายช่องทางนำมาซึ่งคำถามที่ว่า สาเหตุที่แท้จริงของการใช้ความรุนแรง การกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็กคืออะไร ความใสบริสุทธิ์ของผ้าขาวที่ควรจะซึมซับเอาสรรพวิทยาความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นดั่งเรือจ้าง กลับกลายเป็นผ้าขาวที่ซ่อนงำหลุมดำที่ปกคลุมจิตใจจนอาจจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กทั้งฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ
นักวิชาการการศึกษา นักจิตวิทยาเด็ก ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกรังแกหรือกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียนนั้น คือเด็กที่มีความแตกต่างของลักษณะภายนอก เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ หรือเด็กที่มีพัฒนาการช้า ความแตกต่างทางเพศสภาพของเด็กที่ไม่ตรงกับเพศที่ถือกำเนิด ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา
ในขณะที่เด็กที่เป็นฝ่ายรังแก มักเป็นเด็กที่มีปูมหลังทางครอบครัวที่เคยใช้ความรุนแรง หรือการมองว่าการทำร้ายกันไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มักจะถูกรังแก หรือเด็กที่เป็นผู้รังแก ล้วนแล้วแต่จะเกิดบาดแผลขึ้นภายในจิตใจและส่งผลต่ออารมณ์ด้วยกันทั้งสิ้น
หากจะพินิจพิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วนถึงมูลเหตุปัจจัยที่ทำให้เด็กสักคนรับบทเป็นเด็กที่ชอบแกล้งผู้อื่น ต้องยอมรับว่าพื้นฐานของครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเด็กจะซึมซับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัว และด้วยวัยวุฒิที่ยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่สมควรและไม่สมควรได้ จึงส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ผิด คิดว่าสิ่งที่พบเจอในสังคมของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้
ไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวเท่านั้นที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของเด็ก ทว่าการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวของสังคมไทยก็เช่นกัน เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์มีทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
หากเป็นเด็กที่ไร้ภูมิต้านทานที่ดีจากครอบครัวแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ความบกพร่องทางสังคมอาจส่งผลเสียต่อเด็ก หรือทำให้เด็กเข้าใจผิดจนไม่สามารถแยกแยะสิ่งถูกผิดได้เลย เช่น ความผิดพลาดของสังคมไทยที่มักให้คำนิยามแก่บุคคลที่มักทำสิ่งไม่ดี แต่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นเน็ตไอดอล อาจทำให้เด็กที่ยังขาดวุฒิภาวะเข้าใจผิดได้ว่า การกระทำเช่นนี้แม้จะเป็นสิ่งที่ผิดในสายตาผู้ใหญ่ แต่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นไอดอล
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่าไอดอล มักจะใช้เรียกบุคคลที่เป็นต้นแบบที่ควรเอาอย่าง ทั้งบุคคลที่มีความสามารถด้านการเรียน กีฬา การแสดง รวมไปถึงมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในหลายๆ ด้าน
เรื่องสนุกของฝ่ายกระทำ ขณะที่ฝ่ายถูกกระทำกลับบอบช้ำเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ยหรือเรียกร้องให้ใครเข้าใจ เมื่อหลายครั้งภาพที่ปรากฏบนภาพข่าว เด็กที่เป็นฝ่ายถูกรังแกมักเป็นเด็กที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ หรือความแตกต่างด้านเพศ
และหลายครั้งที่เสียงร้องขอความช่วยเหลือไม่เคยดังพอจนได้รับการใส่ใจที่ดี ปมที่อยู่ภายในใจถูกผูกจนแน่นขึ้น จนในที่สุดแรงระเบิดที่กดเอาไว้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
แท้จริงแล้วเด็กที่มักถูกรังแกไม่ได้ต้องการความใส่ใจหรือความสนใจมากไปกว่าเด็กคนอื่น ทว่า ในห้วงยามที่ต้องการใครสักคนสนใจปัญหา เวลานั้นสมควรหรือไม่ที่จะมีเพียงสักคนที่พร้อมเปิดประตูรับฟังข้อเรียกร้องและพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
เด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนเป็นเวลา 1 ใน 3 ของวัน และใช้เวลา 5 วันต่อสัปดาห์ที่โรงเรียน และปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่ครูอาจารย์จะมองเห็นปัญหาและพร้อมยื่นมือโอบอุ้มให้สมกับที่ทำหน้าที่ครู หรือพ่อแม่คนที่สองของเด็ก
การกลั่นแกล้งไม่ใช่เรื่องปกติ หรือเรื่องสนุกสนาน หลายครั้งเราพบว่าการแกล้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีต้นเหตุมาจากครูผู้สอนเสียเอง และเมื่อเด็กคนอื่นเห็นครูเป็นผู้ล้อเลียนจึงเข้าใจไปว่า สามารถล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งได้
แต่ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาต้องพึงระลึกเสมอว่า ทั้งผู้ที่ถูกรังแกและผู้รังแกย่อมต้องได้รับผลเสียที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะเด็กที่ถูกรังแก หากการร้องขอไม่ได้รับความช่วยเหลือ อาจส่งผลร้ายต่อเด็ก ทั้งความเครียดที่รุมเร้า แรงกดดันที่ทำให้เข้าสังคมได้ยาก และแน่นอนหากปัญหาเรื้อรังอาจนำไปสู่ผลร้ายรุนแรง เช่น การแก้แค้น การทำร้ายตัวเอง หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหา
การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล เพราะผลร้ายที่ตามมานั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรังแกที่เกิดขึ้นกับร่างกายเด็ก แต่การกลั่นแกล้งด้วยคำพูดและใช้ช่องทางไซเบอร์เป็นเครื่องมือสร้างแรงกดดันให้เด็กไม่น้อย
เมื่อการส่งข้อมูลผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว และผู้กระทำมักจะมีความสนุกสนานหรือความสะใจเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรทำเมื่อได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือรับฟังอย่างมีสติ ตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และร่วมแก้ไขปัญหาไปกับเด็กทั้งสองฝ่าย
ในขณะที่ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก ควรเร่งปรับทัศนคติ พฤติกรรม และชี้ให้เด็กเห็นว่า การรังแก กลั่นแกล้งผู้อื่นนั้นสร้างความทุกข์ใจให้อีกฝ่ายเพียงใด ควรชี้ให้เห็นการเคารพสิทธิของผู้อื่นและวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
การรังแกและกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียนไม่ใช่ปัญหาของเด็กที่ผู้ใหญ่จะรอเพียงเวลาให้การกลั่นแกล้งจบลงด้วยตัวเอง ควรตระหนักว่าการกลั่นแกล้งกันในหมู่นักเรียนนั้นสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เพราะต้องไม่ลืมว่า หากเราต้องการที่จะพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่ ควรจะต้องปูพื้นฐานที่ดีให้แก่เยาวชน
คำโบราณที่ถูกหยิบยกมาสอนว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” นั้น ไม่ผิดเลยจริงๆ เพราะผลเสียก็เป็นดังเช่นที่เราได้เห็นกันอยู่ในสังคมทุกวันนี้ หากผู้ปกครองและครูอาจารย์ปรารถนาให้เด็กในวันนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าเช่นไร ควรหรือไม่ที่จะดัดและปรับนิสัยไม่ดีออกเสียตั้งแต่วันนี้