วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม รองรับ EEC

ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม รองรับ EEC

ปัจจุบันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่มีมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาท กลายเป็นโครงการแห่งชาติที่สำคัญและกำลังได้รับการขับเคลื่อนจากรัฐบาลอย่างเต็มสูบ

อีอีซีเป็นโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยระยะแรกเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อส่งเสริมการลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ คมนาคม และโลจิสติกส์ต่อไปในอนาคต

ระยะเวลาที่ผ่านมาการขับเคลื่อนอีอีซีถือว่ามีความคืบหน้าออกมาให้เห็นเป็นระยะ มีการลงนามความร่วมมือทางธุรกิจและการลงทุนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อการเตรียมความพร้อม ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

ไม่เฉพาะการเร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการลงทุนจากต่างชาติเท่านั้น แต่เรื่องของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่อยู่รายรอบต่างก็สำคัญ แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมนำมาซึ่งขยะและของเสียต่างๆ มากมาย การบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซีจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและบรรจุลงในแผนพัฒนาด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซีนั้น พบว่าปัจจุบันมีปริมาณขยะสะสมมากถึง 6 ล้านตัน โดยปี 2561 ที่ผ่านมา ปริมาณขยะอยู่ที่ 4.2 พันตันต่อวัน และคาดว่าในปี 2580 ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันตันต่อวัน และราวๆ 60% ของขยะทั้งหมดใช้วิธีฝังกลบซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องหาพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณขยะที่สูงถึง 1.66 ไร่ต่อวัน

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ประกาศเห็นชอบแนวทางในการกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซี ผุดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะเพิ่มอีก 6 แห่ง และศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้าต้นแบบ 1 แห่ง โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะให้ได้ 120 เมกะวัตต์ และคาดว่าภายใน 12 ปี ขยะสะสมเกือบ 6 ล้านตันในพื้นที่จะถูกกำจัดได้ทั้งหมด โดยเบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว

การเปิดตัวโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ที่ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางเขตอีอีซี เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงดูพอเหมาะพอเจาะและขานรับนโยบายดังกล่าวได้อย่างดี

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ดำเนินการโดยบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CCE) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงาน ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรม การบริหารจัดการน้ำเสีย ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน

บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานรายใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทโกลว์มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,084 เมกะวัตต์ และสุเอช กรุ๊ป ผู้นำด้านการจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำและขยะ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ยื่นประมูลขายไฟฟ้าตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-Tariff (FIT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังการผลิตไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือก 7 ราย และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยได้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลงว่าที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562

โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 ห่างจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 19 กิโลเมตร และอำเภอศรีราชา 22 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวม 115 ราย และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี พร้อมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

โดยทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือราว 100,000 ตันต่อปี มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี และเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป

สำหรับอาคารรับขยะและบ่อเก็บขยะนั้นถูกออกแบบให้เป็นระบบปิด กลิ่นและฝุ่นละอองถูกควบคุมไม่ให้ออกสู่ภายนอก ความดันภายในติดลบ มีระบบกำจัดกลิ่น เพื่อให้การเผาขยะเกิดการเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของระบบการเผานั้น ใช้ระบบเผาขยะแบบตะกรับโดย JFE ผู้ผลิตรายแรกของประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกออกแบบให้ก๊าซไอเสียมีอุณหภูมิสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส นานกว่า 2 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าไดออกซินและฟูแรมได้ถูกกำจัดจนหมด เพื่อทำให้โรงไฟฟ้ามีเสถียรภาพสูง รวมถึงมีการบำบัดไอเสียแบบแห้ง และควบคุมค่าการระบายมลสาร ไม่ปล่อยสารพิษอื่นใดออกสู่สิ่งแวดล้อม

โดยโรงไฟฟ้าได้ทำข้อตกลงในการจัดหาขยะอุตสาหกรรมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) ยักษ์ใหญ่ด้านการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดขยะของเสียในไทย เพื่อดำเนินการจัดหาขยะอุตสาหกรรมจำนวน 100,000 ตันต่อปี จากนิคมต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง

“โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขตอีอีซี จะสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน แทนการฝังกลบแบบเดิม การจับมือกับหุ้นส่วนและพันธมิตรแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดปลอดจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมในการผนึกกำลังร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้คนรุ่นหลังสืบไป” จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป แสดงความเชื่อมั่น

ในอนาคตดับบลิวเอชเอมีแผนที่จะขยายโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในอีอีซีเพิ่มขึ้นอีก และไม่เฉพาะขยะอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ดับบลิวเอชเอยังมองไปถึงโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เพื่อเป็นการลดปัญหาขยะในชุมชนและเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มให้กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น