ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการยานยนต์และตลาดยานยนต์ในประเทศไทย ดูจะมีความคึกคักและเป็นที่จับตามองในฐานะที่อาจเป็นดัชนีหรือสัญญาณบ่งชี้ทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของกำลังซื้อ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ หลังจากที่ตลาดส่งออกยานยนต์ได้รับผลกระทบจากพิษของสงครามทางการค้าที่ฉุดให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี
แม้ว่าปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะส่งผลกระทบแผ่กว้างไปในทุกอุตสาหกรรม หากแต่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ผลกระทบที่เกิดขึ้นดูจะหนักหน่วงและรุนแรงมากเป็นพิเศษ เพราะความเป็นไปของผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศไทย ยังพึ่งพิงตลาดส่งออกมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องพลิกกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากที่การส่งออกยานยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนอยู่ในภาวะชะงักงัน
ผลของการชะลอตัวในตลาดส่งออกผนวกกับภาวะถดถอยซบเซาทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ในปี 2562 ลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.15 ล้านคันเหลือเพียง 2 ล้านคัน โดยเป็นไปเพื่อตลาดส่งออกและตลาดในประเทศอย่างละ 1 ล้านคัน ซึ่งการปรับลดเป้าการผลิตดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหดหายไปไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
การปรับลดกำลังการผลิตของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความกังวลใจอย่างกว้างขวาง เมื่อโรงงานประกอบรถยนต์หลายแห่งมีการปรับลดเวลาการทำงานของพนักงานในโรงงานหรือแม้กระทั่งหยุดทำงานชั่วคราวตามประกาศบริษัท ซึ่งแม้การหยุดดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ กับการคำนวณเบี้ยขยัน หรือการประเมินผลงาน หากแต่การที่บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานทุกระดับในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานจากผลของการปรับตัวให้สอดรับกับปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลง ย่อมส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในโรงงานเหล่านี้อย่างไม่อาจเลี่ยง
ยังไม่นับรวมกรณีที่ผู้ประกอบการบางแห่งส่งหนังสือเลิกจ้างพนักงาน โดยบริษัทจะจ่ายค่าแรง และค่าสินไหมทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายอีกด้วย
ปัจจัยทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ดำเนินไปในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง อาจได้รับการประเมินว่าอยู่ในสถานการณ์ประคองตัวที่บางฝ่ายยังเชื่อว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หากแต่ในห้วงเวลาปัจจุบันดัชนีและตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในทุกมิติได้บ่งชี้ถึงทิศทางขาลงและถดถอยรอบด้าน ทั้งในมิติของความเชื่อมั่น การลงทุน การส่งออก ค่าเงินบาท สงครามการค้า ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาและเตรียมพร้อมมาตรการเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเคยกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทยเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ภาวะแข่งขันของ Global Supply Chain ในระดับโลก ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ไปไกลกว่าการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก หากแต่เป็นการมุ่งพัฒนาในเรื่องการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับแนวโน้มทางเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานความปลอดภัยไปพร้อมกัน
เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในด้านหนึ่งประกอบส่วนขึ้นด้วยวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2564 (VISION 2021) ซึ่งเป็นการกําหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยกระดับจากความสําเร็จของการพัฒนาตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ พ.ศ. 2550-2554 ซึ่งได้กําหนดวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2554 (2011) ไว้ที่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชียสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง
ขณะที่เป้าหมายปี 2564 (2021) อยู่ที่มุ่งเน้นการพัฒนายกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศจากระดับเอเชียสู่ระดับโลก มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดกับประเทศโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในซัปพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์
แต่ดูเหมือนว่าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน นี่อาจเป็นเวลาของการปรับเปลี่ยนทั้งยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อก้าวเดินสู่อนาคต
ผลจากความตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้สะท้อนภาพทั้งในมิติของโอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาและเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่น้อย เพราะในขณะที่ประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสในมิติของตลาดที่มีพื้นที่เพิ่มกว้างขวาง แต่อุปสรรคสำคัญกลับอยู่ที่ประเด็นเกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านมลพิษและความปลอดภัย ยังไม่นับรวมพัฒนาการของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดเดียวกัน ซึ่งดูเหมือนว่ากำลังกําหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต และเป็นประเด็นสําคัญสำหรับภาครัฐในการพิจารณาขับเคลื่อนการพัฒนา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืนในเวทีโลกในห้วงเวลาจากนี้
กระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และการหันเข้าหาพลังงานทางเลือก (Alternative and renewable energy) จากแนวโน้มที่ว่าน้ำมันจากปิโตรเลียมจะหมดไปในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า รวมถึงความผันผวนด้านราคา ที่ทำให้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล หรือ ไบโอดีเซล ซึ่งได้รับการบรรจุให้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ของกระทรวงพลังงาน กลับอยู่ในสภาวะที่หาความชัดเจนในเชิงนโยบายได้ยาก
ขณะที่การส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ที่มีการพัฒนาให้ใช้พลังงานจากการขับเคลื่อนแบบอื่น ทั้งในส่วนของ HEV, PHEV, รถไฟฟ้าและ Fuel Cell Vehicle ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับแนวโน้มในอนาคต ก็อยู่ในภาวะชะงักงัน จากผลของนโยบายและมาตรการส่งเสริมที่ขาดความชัดเจน แม้ว่ากลไกของรัฐไทยพยายามที่จะอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องให้เกิดขึ้นก็ตาม
ความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายและมาตรการส่งเสริมของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยบางรายประกาศยกเลิกแผนการทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยออกไป ทั้งที่รัฐได้ผ่อนปรนด้านภาษีนำเข้าเพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกอบการยานยนต์สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้า 100% เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้ หากแต่มีเงื่อนไขด้านจำนวนซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการบางราย
ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลในมิติดังกล่าวยังส่งผลให้การลงทุนใหม่ของผู้ประกอบการยานยนต์ที่หวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อรุกตลาดในภูมิภาคลดความสนใจลงไปและกำลังมองหาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาซียน หรือแม้กระทั่งจีนเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่จะใช้สิทธิพิเศษทางการค้าอาเซียน-จีนรุกตลาดในภูมิภาคเช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ที่กำลังรุกคืบในตลาดอาเซียนตามข้อตกลงทางการค้าแทน
ประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากจะผูกพันอยู่กับการหาแรงดึงดูดใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ในอีกโสตหนึ่งยังเป็นประโยชน์สําหรับการช่วยทดแทนการนําเข้าน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปสู่เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานทดแทนจึงไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม
บรรยากาศแห่งความคึกคักเพื่อกระตุ้นเร้ากำลังซื้อช่วงปลายปีภายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป อาจชี้วัดด้วยปริมาณยอดจองรถยนต์ ที่อาจเปรียบเทียบกับยอดปริมาณการจองในปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปและทิศทางของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ได้บ้าง
แต่นั่นอาจเป็นเพียงประเด็นแห่งการย้ำเตือนข้อเท็จจริงทางการตลาดเล็กน้อย ท่ามกลางประจักษ์พยานในเชิงนโยบายชิ้นใหญ่ที่ได้แสดงอยู่เบื้องหน้า และอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสำหรับการแข่งขันที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด