Column: Women in Wonderland
ปัญหาช่องว่างของรายได้ หรือ Gender Pay Gap เป็นปัญหาที่มีมานาน แต่รัฐบาลในเกือบทุกประเทศยังไม่สามารถลดช่องว่างรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานเหมือนกันได้
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลใน The Global Gender Gap Report 2018 ซึ่งทำการสำรวจเรื่องช่องว่างของรายได้ โดยการใช้แบบสอบถาม พบว่าประเทศที่มีช่องว่างรายได้น้อยที่สุดในโลกคือ ไอซ์แลนด์ จากทั้งหมด 149 ประเทศ ตามด้วยสิงคโปร์เป็นลำดับที่ 2 สหรัฐอเมริกาอยู่ในลำดับที่ 8 ฟิลิปปินส์ลำดับที่ 9 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 20 สหราชอาณาจักรอยู่ในลำดับที่ 64 และลำดับสุดท้ายคือ ปารากวัย
ไม่น่าแปลกใจที่ไอซ์แลนด์จะเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างรายได้น้อยที่สุดในโลก เพราะไอซ์แลนด์เพิ่งประกาศบังคับให้ทุกบริษัทต้องจ่ายเงินค่าจ้างทำงานระหว่างหญิงและชายที่ทำงานลักษณะเดียวกัน เท่ากัน โดยบริษัทใดก็ตามที่มีลูกจ้างมากกว่า 25 คน จะต้องแจ้งต่อรัฐบาลว่า ลูกจ้างผู้ชายและผู้หญิงในบริษัททำงานในตำแหน่งใด และได้รับค่าจ้างเท่าไร ถ้าหากบริษัทไม่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันจำนวนเงินที่เท่ากัน ทางบริษัทจะต้องชำระค่าปรับ กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และมีผลบังคับใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งวิธีนี้ก็ดูจะได้ผลที่ดี
ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ แสดงให้เห็นว่าปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้เป็นปัญหาที่มีมานานและยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะสามารถลดช่องว่างระหว่างรายได้ลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 64 ซึ่งเป็นลำดับที่แย่กว่าประเทศไทยอีก
ปีนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics หรือ ONS) เปิดเผยตัวเลขช่องว่างระหว่างรายได้ของปี 2019 ในประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ช่องว่างของรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% จากเดิม 8.6% ในปี 2018 ความต่าง 0.3% ที่เพิ่มขึ้นมานี้นักสถิติส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าแทบไม่มีความต่างทางสถิติ หากดูจากสถิติปี 2017 ที่ช่องว่างระหว่างรายได้อยู่ที่ 9.7% และลดลงมาอยู่ที่ 9.6% ในปี 2018 และในปีนี้ (2019) เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% จะเห็นได้ชัดว่าในช่วง 3 ปีนี้ช่องว่างระหว่างรายได้แทบไม่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลอังกฤษประกาศให้บริษัททั้งภาครัฐและเอกชนที่มีลูกจ้างมากกว่า 250 คนขึ้นไป ส่งรายงานเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ โดยกำหนดให้ภาครัฐต้องส่งรายงานภายในวันที่ 31 มีนาคม และบริษัทเอกชนกับองค์กรต่างๆ ให้ส่งภายในวันที่ 4 เมษายน มีบริษัททั้งหมด 9,961 แห่งที่ส่งรายงานให้กับรัฐบาล และจากรายงานทำให้ทราบว่า มี 7,755 บริษัทที่จ่ายค่าจ้างให้กับผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง โดยดูได้จากค่าแรงต่อชั่วโมงที่จ่ายให้กับผู้หญิงและผู้ชาย และมากกว่า 1 ใน 4 ของบริษัทในประเทศสหราชอาณาจักรจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายถึง 20% มีบริษัทเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นที่จ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง
แม้รัฐบาลอังกฤษจะบังคับให้บริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 250 คนส่งรายงาน แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ปัญหาใหญ่ของช่องว่างระหว่างรายได้ของประเทศสหราชอาณาจักรคือ กฎหมายที่ประกาศใช้ค่อนข้างยืดหยุ่นและไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ควรให้แต่ละบริษัทมีการวางแผนที่ชัดเจนว่าจะลดช่องว่างระหว่างรายได้ในแต่ละปีลงได้อย่างไร และคอยสอดส่องว่าทุกบริษัทสามารถลดช่องว่างระหว่างรายได้ลงได้จริง
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ช่องว่างระหว่างรายได้ลดลงเพียงแค่ 0.6% เท่านั้น ช่วงเวลาที่ช่องว่างของรายได้มีน้อยที่สุดคือ ในช่วงอายุ 40 ปี ที่รายได้ของผู้หญิงและผู้ชายแทบจะเท่ากัน แต่จะเข้าสู่ช่วงที่แย่ที่สุดเมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปจนเกษียณ ซึ่งมีช่องว่างของรายได้มากกว่า 15% และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย
ในช่วงวัย 50 ปีนั้น เงินเดือนของผู้หญิงจะลดลง 8% ในขณะที่เงินเดือนของผู้ชายจะลดลงเพียงแค่ 4% และช่วงนี้ผู้หญิงจะมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายถึง 28% หรือประมาณ 12,509 ปอนด์ (ประมาณ 485,200 บาท) ต่อปี และรายได้จะเริ่มลดลงมาอยู่เรื่อยๆ จนเกษียณ สำนักงานสถิติยังชี้ให้เห็นว่าในประเทศสหราชอาณาจักรนั้นช่องว่างระหว่างรายได้จะเริ่มเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุคือ ช่วงอายุ 18-21 ปีมีช่องว่างของรายได้อยู่ที่ 18% อายุช่วง 20 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 13% อายุ 30 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 16% และอายุ 40 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 25%
นอกจากนี้ จากสถิติทั้งหมดของปี 2018 แสดงให้เห็นว่า 8 ใน 10 ของบริษัทเอกชนในประเทศสหราชอาณาจักรนั้นจ่ายเงินเดือนให้ผู้ชายมากกว่า ที่แย่ยิ่งกว่าคือ 1 ใน 3 มีความต่างของรายได้ระหว่างชายกับหญิงแย่กว่าค่าเฉลี่ยของช่องว่างระหว่างรายได้ของสหราชอาณาจักร โดยเฉลี่ยแล้วช่องว่างของรายได้ในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ไม่ได้ทำงานประจำ สำหรับผู้หญิงที่ทำงานประจำนั้นช่องว่างของรายได้เริ่มลดลงเมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งโดยเฉลี่ยของประเทศสหราชอาณาจักรคือ 17.3% ลดลงมาจาก 17.8% ของปี 2017 สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ในประเทศสหราชอาณาจักรเป็นปัญหาที่มีมานานและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศสหราชอาณาจักรเพียงไม่กี่แห่งที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติ และมีการตรวจสอบว่าช่องว่างระหว่างรายได้ภายในบริษัทนั้นมีมากหรือน้อยอย่างไร หากมีช่องว่างมากจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทสามารถแสดงความสามารถและศักยภาพในการทำงานให้ทุกคนได้เห็น หากพบว่าผู้หญิงสามารถเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ได้ บริษัทก็จะส่งเสริมให้ผู้หญิงมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้ได้รับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและลดช่องว่างระหว่างรายได้ภายในบริษัทลงได้ในที่สุด
ในประเทศสหราชอาณาจักรนั้นปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกอาชีพ แม้กระทั่งในอาชีพที่มีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่ อย่างการดูแลคนป่วยทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล และบริษัทที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีผู้ชายทำงานในด้านนี้เพียงแค่ 11% เท่านั้น แต่ผู้ชายที่มีอยู่น้อยนี้ก็ยังมีรายได้มากกว่าผู้หญิงถึง 30% จากการสำรวจเมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 พบว่าในการทำงานในด้านการดูแลผู้คนและสุขภาพนั้น ผู้หญิงจะได้ค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 33 เพนนี หากผู้ชายได้รับเงิน 1 ปอนด์
ยิ่งถ้าเป็นงานในบริษัทการบิน ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งสูงมาก จากการเปิดเผยของสายการบิน พบว่า สายการบิน Ryanair มีช่องว่างระหว่างรายได้มากที่สุดคือ 64.4% ซึ่งลดลงจากเมื่อปีที่แล้วที่ 71.8% รองลงมาคือสายการบิน easyJet อยู่ที่ 47.9% และสายการบิน Tui Airways อยู่ที่ 42.5% ซึ่งสามสายการบินนี้ถือว่าเป็นบริษัทที่มีช่องว่างระหว่างรายได้ที่สูงมาก
ในวงการแฟชั่นก็เช่นกัน ผู้หญิง 96% ที่ทำงานด้านนี้ได้รับค่าจ้างที่สูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงอีก 100% ที่ได้ค่าจ้างน้อยที่สุดในการทำงานด้านนี้เช่นกัน ซึ่งบริษัทเสื้อผ้า Sweaty Betty ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ในบริษัทมีช่องว่างระหว่างรายได้อยู่ที่ 66.6% แบรนด์เสื้อผ้าที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกอย่าง Uniqlo และ Nike นั้น มีช่องว่างของรายได้อยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น อย่าง Uniqlo มีความแตกต่างของรายได้อยู่ที่ประมาณ 2.9% และ Nike มีช่องว่างของรายได้อยู่ที่ 4%
จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นได้ว่าช่องว่างของรายได้เป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลอังกฤษอาจจะยังไม่ได้ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ประชาชนนั้นเริ่มรับรู้ถึงปัญหานี้ จากการสำรวจผู้หญิงที่ทำงานในสหราชอาณาจักรพบว่า 2 ใน 3 จะตัดสินใจหางานทำใหม่ หากพบว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนระหว่างผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่ากัน
วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่น่าจะได้ผลที่สุดคือ แก้ไขกฎหมายให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังในการลดช่องว่างระหว่างรายได้ภายในบริษัทหรือหน่วยงาน รวมถึงมีแผนการทำงานที่ชัดเจนในการลดช่องว่างระหว่างรายได้ในช่วงระยะเวลา 5 ปี รวมไปถึงภาครัฐควรจะมีนโยบายในการส่งเสริมการแก้สาเหตุของช่องว่างระหว่างรายได้ อย่างเช่นกรณีที่ผู้หญิงลาคลอดบุตร ทำให้ได้รายได้น้อยกว่าผู้ชายเพราะนายจ้างต้องการคนที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลามากกว่า ภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้ผู้ชายสามารถลางานได้ในช่วงที่ภรรยาคลอดบุตร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และไม่มีข้ออ้างในการจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ชายมากกว่า
ดังนั้น หากรัฐบาลอังกฤษไม่แก้ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้อย่างจริงจัง จะกลายเป็นปัญหายืดเยื้ออีกนาน และช่องว่างระหว่างรายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/pound-coin-1523033