วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > โอกาสและการเติบโต ธุรกิจกาแฟในไทย

โอกาสและการเติบโต ธุรกิจกาแฟในไทย

เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วด้วยความร้อน ส่งกลิ่นโชยกรุ่น ปล่อยสารเคมีที่ชื่อว่า “กาเฟอีน” ปลุกผู้คนให้ตื่นจากภวังค์และการหลับใหลได้เป็นอย่างดี

การบริโภคกาแฟของคนไทยไม่ใช่เพียงเพื่อใช้คุณสมบัติจากเครื่องดื่มชนิดนี้ เพื่อปลุกให้ตื่นจากความง่วงงุนยามเช้าหรือยามบ่ายเท่านั้น ทว่า กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่บ่งบอกรสนิยมและความชอบของผู้บริโภคได้ชัดเจน

และตัวเลขที่บอกว่า คนไทยบริโภคกาแฟประมาณ 300 แก้วต่อคนต่อปี หรือราว 0.5-1 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี น่าจะทำให้เข้าใจอัตราการขยายตัวและเติบโตของธุรกิจกาแฟในไทยได้สูงถึง 15-30 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าตลาดการบริโภคกาแฟในไทยจะมีตัวเลขสูงขึ้นทุกๆ ปี แต่แท้จริงแล้วคนไทยยังมีการบริโภคกาแฟน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ

ถึงจะชัดเจนเรื่องปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก แต่ด้วยมูลค่าธุรกิจร้านกาแฟในไทยนับตั้งแต่ปี 2560 ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.12 หมื่นล้านบาท และสูงขึ้นอีกในปี 2561 ที่ 2.34 หมื่นล้านบาท สำหรับปี 2562 ที่มีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าธุรกิจร้านกาแฟอาจสูงถึง 2.58 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร) แต่กลับมีผู้เล่นทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ พร้อมกระโจนเข้าร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ด้วยมูลค่าตลาดกาแฟที่สูงถึงหมื่นล้านบาท อาจจะเป็นสาเหตุให้นักลงทุนหันมาจับธุรกิจนี้มากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์กาแฟทั้งจากต่างประเทศและโลคอลแบรนด์ ตบเท้าเข้ามาในตลาด และมีร้านกาแฟ หรือคาเฟ่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมของเมือง ทั้งในสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟรูปแบบ Stand alone หรือกระทั่งร้านกาแฟรถเข็น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังหยิบเอากาแฟมาปั้นแต่งเป็นยุทธศาสตร์ และมุ่งหมายที่จะสร้างกลยุทธ์ในการผลักดันอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า กาแฟเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการค้าขายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากปิโตรเลียม อีกทั้งอัตราการเติบโตของธุรกิจยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เมื่อการบริโภคกาแฟของประชากรโลกขยายตัวเฉลี่ยปีละ 1.2 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลของ International Coffee Organization-ICO ระบุว่า ปีเพาะปลูก 2015 ผลผลิตกาแฟของโลกสูงถึง 9 ล้านเมตริกตัน จากการเพาะปลูกใน 70 ประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมกาแฟสร้างเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่ประชากรกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา อเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของอาเซียนในการพัฒนาธุรกิจกาแฟ พบว่าแม้อาเซียนจะเป็นอนุภูมิภาคในทวีปเอเชียที่มีสมาชิกอยู่เพียง 10 ประเทศ แต่อาเซียนมีศักยภาพสูงทั้งในการผลิตและส่งออก รวมถึงการบริโภคกาแฟที่มากที่สุดในภูมิภาคหนึ่งของโลก

อีกก้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือการสร้างยุทธศาสตร์กาแฟปี 2560-2564 โดยมุ่งหวังที่จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน เพิ่มผลผลิตกาแฟในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงการยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ของกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากล

โดยยุทธศาสตร์กาแฟปี 2560-2564 มีเป้าประสงค์สำคัญที่จะต้องบรรลุในปี 2564 คือ 1. รักษาผลผลิตกาแฟภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 30,000 ต้นต่อปี 2. เพิ่มผลผลิตให้มากกว่า 250 กิโลกรัมต่อไร่ ในสวนเดี่ยวและมากกว่า 150 กิโลกรัมต่อไร่ ในสวนผสมผสาน 3. ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ และ 4. เพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า การตั้งขอบข่ายระยะเวลายุทธศาสตร์กาแฟของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟของอาเซียนภายในปี 2564 นั้น มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในไทย

ทว่า หากภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องให้การสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกกาแฟ เช่น การจัดสรรพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถเพาะปลูกกาแฟโดยไม่ต้องถางป่า แต่อาศัยร่มไม้ใหญ่ในป่าปลูกกาแฟ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนเกษตรกรให้มีพื้นที่ทำกินแล้ว ยังเป็นการทำให้เกษตรกรรู้จักหวงแหนและอนุรักษ์ป่าไม้ไปพร้อมๆ กับการทำเกษตร เพราะสินค้าที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ในการบริโภคยุคปัจจุบัน

นอกจากการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในไทยแล้ว ตลาดการผลิตเมล็ดกาแฟในไทยเองยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2561 มีการขยายตัว 1.06 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมียอดการส่งออกสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ส่งออกในลำดับที่ 6 ของโลก และประเทศที่มีความต้องการกาแฟมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล และญี่ปุ่น

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือในปี 2561 ไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตกาแฟได้เพียง 23,617 ตัน ซึ่งทำให้ต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟมากถึง 68,616 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ตัวเลขของการเติบโตในด้านตลาดผลิตเมล็ดกาแฟ และธุรกิจร้านกาแฟ รวมไปถึงพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยสอดคล้องกันมาก จึงไม่น่าแปลกใจหากธุรกิจกาแฟจะเป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคน

เพราะเงินลงทุนเริ่มต้นที่ไม่สูงนัก หากเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก และแนวโน้มของตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านกาแฟต้องเผชิญคือ ปัญหาด้านการเงิน ที่อาจต้องใช้เงินทุนล่วงหน้าสูง และระยะเวลาการคืนทุนนาน อีกทั้งธุรกิจร้านกาแฟยังเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ทว่า หากผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟ หรือธุรกิจผลิตเมล็ดกาแฟ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพและรสชาติ รวมไปถึงการบริการ น่าจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่นับวันจะทวีความเข้มข้นดุเดือดมากขึ้น

หากหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนธุรกิจผลิตกาแฟอย่างจริงจัง บางทีกาแฟไทยอาจกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ให้คุณค่าแก่สังคมได้ไม่ยาก

ใส่ความเห็น