ระยะเวลาเพียงเดือนเศษๆ คีรี กาญจนพาสน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดฉากผุดบิ๊กโปรเจกต์รุกขยายอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเริ่มต้นคิกออฟโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ย่านเจริญกรุง เพราะถือเป็นการเจาะแนวรบใหม่ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาที่มีกลุ่มทุนรายใหญ่ยึดครองพื้นที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น “เอเชียทีค” ของกลุ่มทีซีซีกรุ๊ป “ไอคอนสยาม” ที่กลุ่มสยามพิวรรธน์จับมือกับเครือซีพี และ “ล้ง 1919” ของตระกูลหวั่งหลี
ตามแผนเบื้องต้น ยู ซิตี้ และกรมศิลปากรจะเร่งลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีและสเกตช์ภาพเพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารศุลกสถาน (The Custom House) หรือโรงภาษีร้อยชักสามอย่างละเอียด ซึ่งขั้นตอนการสำรวจจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2563
จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการบูรณะอาคารโบราณสถาน ก่อสร้างอาคารใหม่และพัฒนาอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี พร้อมพื้นที่โดยรอบ ประมาณ 5 ไร่ ในรูปแบบมิกซ์ยูส เพื่อสร้าง New Destination ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ภายในปี 2568
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเอเชียทีคและล้ง 1919 ต้องถือว่า โรงภาษีร้อยชักสาม มี Story โดดเด่นไม่แพ้กัน สามารถสร้างความน่าสนใจดึงดูดผู้คน ทั้งไทย-เทศ เพราะเป็นอดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถาน หรือกรมศุลกากรในปัจจุบัน อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ติดสถานทูตฝรั่งเศส สร้างขึ้นระหว่างปี 2429-2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก เป็นผู้กราบบังคมทูลขอ
ตัวอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ศิลปะโรมันคลาสสิก เป็นสถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิก ได้รับการออกแบบและก่อสร้างโดย โยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi or Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมายในขณะนั้น เช่น คองคอร์เดียคลับ พระราชวังบางปะอิน วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร เรือนรับรองสถานทูตโปรตุเกส วังบูรพาภิรมย์ วังใหม่ปทุมวัน โรงทหารหน้า ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ อาคารเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ตึกวิคตอเรียและตึกเสาวภาคที่ศิริราชพยาบาล ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ คุกมหัตโทษ
ภายหลังสร้างเสร็จ ถือเป็นหนึ่งในอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งนอกจากเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” แล้ว สมัยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราชเป็นอธิบดีกรมศุลกากร เคยใช้เป็นที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 2-3 ครั้ง รวมทั้งเป็นที่จัดเลี้ยงงานสมโภชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปคราวแรกด้วย
ต่อมาปี 2497 ที่ทำการศุลกากรย้ายไปบริเวณท่าเรือคลองเตย ศุลกสถานเปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ หรือศุลการักษ์ หรือโปลิศน้ำ ภายหลังเรียกว่าพลตระเวน แล้วต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า ตำรวจ มีหน้าที่ทางน้ำคล้ายตำรวจนครบาล
กระทั่งปี 2502 ปรับเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ยาวนานกว่า 60 ปี ก่อนย้ายออกไปกลายเป็นตึกร้างและเป็นทางผ่านไปที่ทำการตำรวจน้ำ ถือเป็นจุดถ่ายภาพริมน้ำยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ดังนั้น ทั้ง Story ทั้งเม็ดเงินลงทุนพัฒนาก้อนแรกกว่า 4,600 ล้านบาท และชื่อชั้นระดับ “คีรี กาญจนพาสน์” ที่ต้องการกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โปรเจกต์นี้ย่อมไม่ธรรมดา
ขณะเดียวกัน บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) อยู่ในวงการมานานกว่า 30 ปี และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อปี 2558 ซึ่งตามแผนของคีรีตั้งเป้าหมายปลุกปั้นให้เป็นบริษัทชั้นนำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีการถ่ายโอนทรัพย์สินจนปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 54,000 ล้านบาท ขยายการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีธุรกิจโรงแรมในยุโรป ภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ และแบรนด์อื่นๆ จำนวน 71 แห่ง
โรงแรมในประเทศไทยอีก 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร โรงแรมยูสาทร และโรงแรมยู เชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คาดการณ์จะมีจำนวนห้องพักภายใต้การบริหารจัดการมากกว่า 30,000 ห้อง
ล่าสุด บริษัทยังเร่งพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่ ได้แก่ โครงการโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซบริเวณถนนบางนา-ตราด มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคีรีเพิ่งประกาศร่วมทุนกับบริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากฮ่องกง บนพื้นที่มากถึง 168 ไร่ จนถือเป็นโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพฯ และอยู่ติดกับโครงการธนาซิตี้ ย่านบางนา สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ถึง 1,800 คน ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงเกรด 12 โดยจะเริ่มเปิดสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563
นอกจากนี้ มีโครงการยูนิคอร์น ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสโปรเจกต์ ประกอบด้วยโรงแรมและอาคารสำนักงาน ติดบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพญาไท มูลค่าการลงทุน 9,300 ล้านบาท และยังร่วมมือกับพันธมิตรอย่างแสนสิริในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมบนแนวรถไฟฟ้า 26 โครงการ เช่น เดอะไลน์จตุจักร โมนูเมนต์ทองหล่อ รวมมูลค่าโครงการกว่า 60,000 ล้านบาท
ด้านรายได้รวมของ ยู ซิตี้ เติบโตก้าวกระโดดอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2559 จาก 1,164.8 ล้านบาท เป็น 4,454 ล้านบาท ในปี 2560 และพุ่งเป็นกว่า 7,000 ล้านบาท ในปี 2561 ส่วนปี 2562 ข้อมูลงบการเงินครึ่งปีแรกสามารถทำรายได้รวม 3,957 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังสร้างสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ อีก 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจบริการ เนื่องจากต้องอาศัยการลงทุนและรอระยะเวลาสร้างรายได้จนถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งในอดีต คีรีเคยพูดถึงการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาอาจขาดความเชี่ยวชาญในแง่การสร้างแบรนด์และการทำตลาดในประเทศไทย
โดยเฉพาะการทุ่มลงทุนโครงการธนาซิตี้ที่มีเนื้อที่มากกว่า 1,500 ไร่ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ชนิดคิดเร็วกว่าตลาดที่ยังไม่เคยรับรู้รูปแบบมิกซ์ยูส กลุ่มเป้าหมายยังไม่เห็นความสำคัญของโครงการที่มีทั้งคอนโดมิเนียมระดับเลิศหรู บ้านเดี่ยวราคาแพง สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำมาตรฐาน COMMERCIAL COMPLEX ทั้งโรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และร้านค้า
ทว่า ตลาดยุคใหม่ในปัจจุบันเริ่มรับรู้และมีความต้องการโครงการสไตล์มิกซ์ยูส นั่นทำให้คีรีได้โอกาสกลับมาต่อจิ๊กซอว์พลิกฟื้น “ธนาซิตี้” อีกครั้ง
ที่สำคัญการตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สามารถปลุกปั้นแบรนด์และสั่งสมความเชื่อมั่น เรียกได้ว่า 26 โครงการคอนโดมิเนียมในแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชน เป็นความสำเร็จทั้งในแง่การสร้างรายได้ การเจาะกลุ่มลูกค้าและการสร้างแบรนด์ “ยู ซิตี้” ชัดเจนมากขึ้น
งานนี้จึงต้องจับตาแผนต่อยอดขยายอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการเปิดสมรภูมิใหม่ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาจะสามารถผลักดัน “ยู ซิตี้” ผงาดขึ้นอย่างเหนือชั้น ได้หรือไม่!!