การเดินทางเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ด้วยสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าหืดจับ เมื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยต้องแขวนและฝากความหวังไว้กับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้า รวมไปถึงต้องพึ่งพาอาศัยนักลงทุนจากต่างชาติ ที่จะช่วยให้ฟันเฟืองในระบบหมุนไปได้ตามครรลองที่พึงจะเป็น
ตลอดระยะเวลาที่ไทยถูกนำพาและบริหารประเทศด้วยรัฐบาลทหาร กระทั่งการเลือกตั้งเกิดขึ้น เราไม่อาจหลีกหนีข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลทหารในช่วงที่การเมืองกำลังระอุนั้น นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย
ทว่า อีกความจริงที่ไม่อาจหลีกหนีได้เช่นกัน คือความง่อนแง่นของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระนั้นหากจะโยนความผิดไปที่การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียวดูจะไม่ยุติธรรมนัก
เมื่อความเป็นจริงคือ เศรษฐกิจของประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยแรงขับจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องอาศัยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคการส่งออกที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ แม้จะไม่ร้อนแรงดุเดือดเท่าในระยะแรก แต่ก็สร้างบาดแผลลึกให้กับอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยไม่น้อย
หรือด้านการลงทุน ที่นักลงทุนส่วนใหญ่เฝ้ารอสัญญาณความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงนโยบายสำคัญที่จะมีส่วนในการตัดสินใจ ที่จะเลือกและย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
คล้ายกับว่าในห้วงยามนี้ ไทยยังต้องเผชิญคลื่นลมพายุที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ที่พร้อมใจกันดาหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนแล้ว ยังต้องระดมสรรพกำลังเพื่อหาทางออกบนเวทีโลก เมื่อมีการแข่งขันนัดสำคัญรออยู่
ประเด็นที่น่าขบคิดในเวลานี้คือ ทิศทางและอนาคตของอุตสาหกรรมไทยจะดำเนินไปอย่างไร เมื่อไทยเริ่มมีคู่แข่งที่หลายคนให้คำจำกัดความว่า “โตเงียบ” อย่างประเทศเวียดนาม
ข่าวคราวจากหลากหลายช่องทางให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า เวลานี้ เวียดนามกำลังเนื้อหอม และเป็นที่หมายตาของนักลงทุน ทั้งนักลงทุนหน้าใหม่รวมไปถึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ค้าสงคราม เพื่อหลีกหนีผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของทั้งจีนและสหรัฐฯ
เหตุผลหลักๆ ที่เวียดนามสามารถก้าวขึ้นมายืนบนเวทีโลกและพร้อมจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ คือเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเวียดนามคือ 160,000 ดอง ถึง 230,000 ดอง หรือ 213-306 บาท ต่อวัน
นักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมากมักนำเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศที่จะเป็นฐานการผลิตมาพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ แม้ว่าข้อจำกัดของเวียดนามจะยังมีอีกหลายด้าน ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความสามารถของแรงงานฝีมือ รวมไปถึงความชำนาญในขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน
ขณะที่ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องข้างต้น รวมไปถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และฝีมือแรงงานที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก ทว่า ในอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยจะเดินไปในทิศทางใด เพราะช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บอร์ดค่าจ้างมีความพยายามที่จะนำประเด็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันน้อยเกินไปซึ่งไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพของไทยในเวลานี้ ที่สินค้าอุปโภคบริโภคทยอยขึ้นราคา รวมไปถึงค่าโดยสารรถสาธารณะถูกปรับขึ้นไปแล้ว
ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่วันละ 310-330 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าแรงที่สูงที่สุดในอาเซียน และหากอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าต้องการให้ปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน ได้รับการอนุมัติ น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย และอาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในอนาคตหรืออย่างน้อยที่สุดคือเลือกประเทศอื่นเป็นฐานการผลิต ซึ่งเวียดนามกลายเป็นตัวเลือกที่ดีมากในขณะนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลยุทธ์ที่ไทยควรดำเนินต่อไปในอนาคตคือ ไทยควรมุ่งเน้นยกระดับตนเองและเพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อให้ไทยยังสามารถแข่งขันในเวทีโลก และทิ้งห่างเวียดนามได้
อีกทั้งไทยควรเร่งปิดช่องว่างในเรื่องแรงงานทักษะสูงและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ซึ่งหากไทยไม่สามารถยกระดับตนเองได้เท่าที่ควร ไทยก็อาจจะติดกับดักอยู่ที่เดิม และเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับเวียดนาม และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะติดกับดักอยู่ในอัตราการขยายตัวต่ำต่อไป
ขณะที่ฟันเฟืองตัวสำคัญอย่างภาคการส่งออก ที่มาถึงไตรมาสสุดท้ายยังไร้วี่แววที่จะเห็นแรงบวกในตลาดการค้าระหว่างประเทศ เมื่ออิทธิพลจากการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้สร้างความเสียหายให้หลายประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้า แม้จะไม่ได้เข้าไปเป็นตัวหมากสำคัญในสงครามนี้ก็ตาม
การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหดตัวลงร้อยละ 2.2 ต่อปี และมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมหดตัวลงที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวเป็นบวกสวนทางกับภาพรวม ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลบวกจากสงครามการค้าที่มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตลาดจีน
โดยเฉพาะการส่งออกทองคำในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการขยายตัวสูงขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งเมื่อหักลบมูลค่าการส่งออกทองคำ ทำให้การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม จะหดตัวที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีความต้องการทองคำในตลาดโลกในระดับสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในเดือนกันยายน 2562 การส่งออกทองคำ จะเป็นแรงหนุนที่ดีต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย แต่อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อปริมาณการค้าโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี
นอกจากการคาดหวังให้จีนและสหรัฐฯ ยุติสงครามการค้าระหว่างกัน และเศรษฐกิจโลกดีขึ้นแล้ว ความคาดหวังอีกประการที่มีผลต่อสถานการณ์การส่งออกของไทยคือ การฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทย-อียู
เพราะ FTA นี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการขยายตลาดการส่งออกของไทยในห้วงยามที่การส่งออกของไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างหนัก
เมื่อมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในปี 2561 อยู่ที่ 47,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยส่งออกเป็นมูลค่า 25,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าส่งออกสำคัญคือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า
ขณะที่ไทยนำเข้า 22,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม
ทั้งนี้ การฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู จำเป็นต้องศึกษาประโยชน์รวมถึงผลกระทบ และยังต้องรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคเกษตร โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า “เอฟทีเอไทย-อียู จะช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตรต่างๆ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและมีแต้มต่อด้านสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ เวียดนาม มีการทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว ส่วนผลกระทบจากการทำเอฟทีเอจะมีกองทุนเอฟทีเอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาก่อนจะเสนอเข้า ครม. ต่อไป”
แม้ว่า FTA ไทย-อียู จะส่งผลดีต่อการส่งออก ที่จะทำให้ภาคการส่งออกมีตลาดที่กว้างมากขึ้น ทว่ายังมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ คือเรื่องผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เช่น ข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่าที่ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก เพราะนั่นกระทบต่อการการผูกขาดในภาคการเกษตร ด้านระบบสุขภาพ และข้อผูกพันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา
นับว่าเป็นห้วงยามที่ไทยต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤตรอบด้านอย่างแท้จริง คำถามคือ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร และผลจะออกมาในรูปแบบใด