วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ชีวิตของแม่บ้านในกัมพูชา

ชีวิตของแม่บ้านในกัมพูชา

 
Women in Wonderland
 
อย่างที่ทราบกันดีว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และมีรายได้ของประเทศอยู่ในระดับต่ำ (low income countries) หมายความว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 675 เหรียญสหรัฐต่อปี (หรือประมาณ 22,030 บาทต่อปี ถ้าคิดเป็นรายเดือนก็ตกเดือนละ 1,835 บาท) อาชีพหลักๆ ของชาวกัมพูชายังคงเป็นอาชีพเกษตรกรรม แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว มีการเจริญเติบโตมากขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือที่เรียกย่อๆ ว่า GDP) เพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ในแต่ละปี 
 
ในกัมพูชาผู้หญิงมีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร และดูแลทุกๆ คนในครอบครัว งานบ้านทุกอย่างถูกมองว่าเป็นงานสำหรับผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายจะออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว แต่ปัจจุบันสังคมในประเทศกัมพูชาเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับครอบครัว และหนึ่งในอาชีพที่ผู้หญิงหลายคนเลือกทำก็คือ อาชีพแม่บ้าน ทำหน้าที่ทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า และทำกับข้าว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ย้ายมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้ามาหางานทำในเมืองพนมเปญ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา 
 
ขณะนี้อาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงและหางานได้ง่ายในประเทศกัมพูชา เพราะ (1) ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงมักจะไม่มีเวลาทำงานบ้านเอง เพราะพวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อแข่งขันกับคนอื่นๆ และ (2) ผู้หญิงที่มาจากต่างจังหวัดไม่ได้มีความรู้สูงและไม่มีทักษะความชำนาญในการทำงานด้านอื่นๆ การทำงานบ้านที่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิงนั้น ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้หญิงทุกคนสามารถทำงานบ้านได้เป็นอย่างดี และการทำงานบ้านก็ไม่ได้ต้องการทักษะอะไรเป็นพิเศษ 
 
การที่คนกัมพูชายังมีความคิดว่างานบ้านเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญพิเศษอะไรเลย ทำให้คนกัมพูชาส่วนใหญ่มองอาชีพแม่บ้านว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติในสังคม 
 
แม่บ้านที่ประเทศกัมพูชาต้องทำงานติดต่อกันมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด และได้รับเงินเดือนน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยปกติแล้วแม่บ้านควรจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 3,915 บาท) ซึ่งรายได้นี้ไม่รวมค่าที่อยู่อาศัยและค่าอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม่บ้านเหล่านี้ได้ค่าแรงอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 2,610 บาท) นอกจากนี้แม่บ้านเหล่านี้ยังถูกทำร้ายร่างกาย การพูดจาไม่สุภาพ และบางรายยังถูกข่มขืนจากผู้ที่เป็นนายจ้างอีกด้วย 
 
การที่แม่บ้านในกัมพูชามีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำงานหนักโดยไม่มีวันหยุดและถูกทำร้ายร่างกายจากนายจ้างก็เป็นเพราะกฎหมายแรงงานในประเทศกัมพูชาไม่คุ้มครองแม่บ้านเหล่านี้ แต่กฎหมายแรงงานก็ยังมีข้อยกเว้นว่า คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานก็ต่อเมื่อ (1) พวกเธอถูกบังคับให้ทำงาน ถ้าหากถูกนายจ้างบังคับให้ทำงานโดยที่พวกเธอไม่ต้องการทำ สามารถไปแจ้งความเอาผิดกับนายจ้างได้ ในขณะเดียวกันกฎหมายแรงงานในประเทศกัมพูชาก็ไม่อนุญาตให้มีการจ้างคนมาทำงานเพื่อชดใช้หนี้ที่ติดไว้ เพราะการให้ลูกหนี้มาทำงานทดแทนการใช้หนี้ด้วยเงินนั้นถือเป็นการบังคับให้ผู้อื่นทำงาน
 
(2) ถ้านายจ้างมีการจ้างเด็กมาทำงานถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ในกฎหมายแรงงานของประเทศกัมพูชาระบุไว้ว่า อายุขั้นต่ำสำหรับการจ้างงานเต็มเวลาคือ 15 ปี และงานที่ทำต้องเป็นงานที่ไม่มีอันตราย ถ้างานที่จะทำเป็นงานอันตรายลูกจ้างจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี นอกจากนี้นายจ้างสามารถว่าจ้างเด็กที่มีอายุระหว่าง 12–15 ปีให้ทำงานได้ แต่สามารถทำได้แต่งานเบาๆ ที่จะไม่มีผลกระทบต่อการไปโรงเรียนของพวกเขา
 
เนื่องจากอาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานสูง และคนที่เป็นแม่บ้านยังถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นจำนวนมาก ทำให้ Marisa Tan ซึ่งเป็นคนอังกฤษที่ย้ายไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชามองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจขึ้นมา Marisa ได้ตัดสินใจเปิดบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อฝึกอบรมการเป็นแม่บ้านและจัดหาแม่บ้านให้กับลูกค้าที่เป็นคนต่างชาติทั้งในประเทศกัมพูชาและต่างประเทศ 
 
ในขั้นตอนของการฝึกอบรบ ผู้หญิงที่จะมาเป็นแม่บ้านจะต้องเข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นเวลา 3 เดือน โดยพวกเธอจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เช่นการใช้น้ำยาต่างๆ อย่างถูกวิธีในการฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น การเรียนรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของคนตะวันตก และการแจ้งความเมื่อถูกนายจ้างใช้ความรุนแรง เมื่อแม่บ้านเหล่านี้ได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว บริษัทก็จะส่งพวกเธอไปทำงานตามบ้านที่ติดต่อเข้ามา
 
นอกจากนี้ Marisa ยังมองว่าข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเรื่องการทำความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนายจ้างอาจจะไม่พอใจและเลิกจ้างแม่บ้านได้ ถ้าหากพวกเขาคิดว่าแม่บ้านเหล่านี้ทำงานได้ไม่ดีตามที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นจึงควรที่จะมีการตกลงตั้งแต่แรกว่า นายจ้างต้องการให้แม่บ้านทำความสะอาดบริเวณไหนของบ้าน และต้องการให้งานออกมาเรียบร้อยขนาดไหน อย่างเช่นต้องการให้ทำความสะอาดหน้าต่างและซักผ้าม่าน หรือต้องการเพียงแค่ทำความสะอาดพื้นและเช็ดตามตู้ต่างๆ เท่านั้น 
 
เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเหล่านี้ตามมาในภายหลัง บริษัทจะทำการตกลงกับผู้ว่าจ้างก่อนว่าต้องการให้ทำความสะอาดแบบไหน และราคาก็จะแตกต่างกันออกไปตามความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทได้จัดทำรายการทำความสะอาดในแต่ละรายการเพื่อให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการให้ทำความสะอาดบริเวณใดในบ้านบ้าง และหลังจากที่แม่บ้านทำความสะอาดเสร็จ บริษัทก็จะส่งคนไปตรวจงานก่อนที่จะให้ลูกค้าเข้ามาตรวจดูว่าพอใจในการทำความสะอาดหรือไม่ ซึ่งในรายการทำความสะอาดนี้ไม่รวมการซักผ้า รีดผ้า และทำอาหารไว้ด้วย ถ้าหากนายจ้างต้องการให้แม่บ้านทำงานเหล่านี้ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 
 
โดยทั่วไปแล้วบริษัทของ Marisa คิดค่าจ้างการทำงานของแม่บ้านขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงและวันที่ต้องทำงาน และขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านที่ทำความสะอาดอีกด้วย โดยคิดราคาเริ่มต้นที่ 75 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,447 บาท) ต่อเดือน ในการทำความสะอาดคอนโด 4 ชั่วโมงต่อหนึ่งอาทิตย์ และถ้าต้องทำความสะอาดบ้านที่มีขนาดใหญ่ ก็จะคิดราคาอยู่ที่ 225 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,342 บาท) ต่อเดือน นอกจากนี้นายจ้างยังต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 25% ของเงินเดือนของแม่บ้านให้กับบริษัทในการดำเนินการหาแม่บ้านมาให้
 
ตั้งแต่เปิดบริษัทมาได้ประมาณ 9 เดือน บริษัทของ Marisa ฝึกอบรมการเป็นแม่บ้านให้ผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้หญิงมาเข้ารับการฝึกตั้งแต่อายุระหว่าง 21 ปี ไปจนถึงอายุ 45 ปี และบริษัทได้ส่งแม่บ้านมากกว่า 14 คนไปทำงานประจำและพักอยู่อาศัยที่บ้านของนายจ้าง โดยที่พวกเธอเหล่านี้จะทำงานบ้านเพียงแค่วันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้น (เริ่มทำงานตอน 8 โมงเช้าและเลิกงานตอน 5 โมงเย็น) และถ้าหากนายจ้างต้องการให้พวกเธอทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเพิ่มมากกว่าปกติ 
 
กลางเดือนธันวาคม 2557 องค์กรอิสระทั้งในประเทศกัมพูชาและต่างประเทศ รวมถึงประเทศต่างๆ จากทั่วโลกอีกกว่า 40 ประเทศ ได้เรียกร้องรัฐบาลกัมพูชาลงนามใน International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention (No. 189) เพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ทำงานเป็นแม่บ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเวลานี้มีแม่บ้านที่ทำงานในกัมพูชาและต่างประเทศ อย่างเช่นมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น ที่ถูกทำร้ายร่างกายและไม่สามารถทำอะไรนายจ้างที่ทำร้ายพวกเขาได้ เพราะกฎหมายไม่คุ้มครองแม่บ้านเหล่านี้
 
แต่ถ้ารัฐบาลกัมพูชาลงนามในสัญญานี้ แม่บ้านก็จะได้รับสิทธิ์ในการมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ มีจำนวนการทำงานในแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง และได้รับการคุ้มครองเมื่อถูกนายจ้างทำร้าย นาง Yem Sothy ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Cambodia Domestic Worker Network (CDWN) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจะมีแม่บ้านมากกว่า 240,000 คนในประเทศกัมพูชา และอีกเป็นพันคนที่ทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ต่างประเทศ ที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้ International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention ถ้าหากรัฐบาลกัมพูชายอมลงนามในสัญญานี้ 
 
ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 ประเทศจากทั่วโลกที่ได้ลงนามใน International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention ซึ่งประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาฉบับนี้
 
เรื่องการลงนามใน International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention อาจจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชาต้องใช้เวลาในการคิดและตัดสินใจ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำได้ง่ายและเร็วกว่าคือ การแก้ไขกฎหมายแรงงานในกัมพูชาให้คุ้มครองแม่บ้านเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพื่อที่แม่บ้านเหล่านี้จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากเกินไป โดยเฉพาะการได้เงินเดือนที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งๆ ที่ต้องทำงานหนักมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่พวกเขาไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย ในทางกลับกันถ้ากฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครองแม่บ้าน อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เงินเดือนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเหมือนกับอาชีพอื่นๆ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
 
 
แม่บ้านในกัมพูชาต้องทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมงและทำงานตลอด 7 วันโดยไม่มีวันหยุด
 
 
ทุกวันที่ 16 มิถุนายนของทุกปี องค์กร International Labour Organization กำหนดให้เป็นวัน International Domestic Workers’ Day และยังได้ออกมารณรงค์ให้นานาประเทศร่วมลงนามใน International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention
 
 
 
แผนที่นี้แสดงให้เห็นว่ามีประเทศใดบ้างที่ได้ลงนามใน International Labour Organization’s 2011 Domestic Workers Convention ไปแล้ว และมีประเทศใดบ้างที่กำลังจะร่วมลงนามในสัญญาฉบับนี้ในอนาคต