ข่าวการสูญเสีย “มาเรียม” พะยูน สัตว์ทะเลหายากที่หลับนิรันดร์ ปลุกคนไทยให้ได้ตื่นรู้ขึ้นอีกครั้ง และที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้น เมื่อ “ผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล” เสียชีวิตลงเพราะสาเหตุมาจากการกินชิ้นส่วนพลาสติก ซึ่งคงไม่ต้องหาว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตายของสัตว์ทะเลครั้งนี้ ถ้าไม่ใช่น้ำมือมนุษย์
ปริมาณขยะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญคือการขาดจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประชาชน ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ที่มีปริมาณขยะพลาสติกปล่อยลงสู่ทะเล ปริมาณขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันที่มาจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย จากรายงานขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy)
ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่อาจต้องจบชีวิตลงก่อนเวลาอันสมควรเท่านั้น ทว่ามนุษย์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารมีโอกาสที่จะได้รับผลของการขาดจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมนี้จากการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้รับสารพิษจากขยะที่ลงสู่ทะเล
เมื่อขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเลและถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด พลาสติกจะแตกตัวออกมาเป็นไมโครพลาสติกและปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล วงจรชีวิตของสัตว์ทะเลคือ กินแพลงก์ตอนที่อาจจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป ท้ายที่สุดมนุษย์ที่อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารก็ไม่อาจหลีกหนีวงจรนี้พ้น
ผลกระทบของปริมาณขยะทั้งบนบกและขยะที่ลงสู่ทะเลไม่เพียงแต่มีผลต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ที่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การกีดกันทางการค้าและการปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกทำให้สินค้าของไทยได้รับผลกระทบไม่น้อย และจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องมองหาตลาดใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ขยะยังสร้างผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย เพราะหากสัตว์ทะเลที่เป็นสินค้าส่งออกได้รับสารพิษจากการย่อยสลายพลาสติกและมีการปนเปื้อนสูงอาจมีผลให้นานาชาติพิจารณาว่าสินค้าไทยไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
โดยสินค้าประมงเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 นั่นคือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 21 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 29,388 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกอาหารทะเลแช่เยือกแข็งมีปริมาณ 432,643 ตัน มูลค่า 81,885 ล้านบาท หรือ 2,557 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561
ไทยยังคงสร้างจุดขายในนานาชาติด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยว พร้อมชูจุดขายที่เป็นความสวยงามด้านธรรมชาติ การบริการ นั่นหมายความว่าปัญหาขยะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวไม่น้อย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยคิดเป็น 18.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง เห็นได้จากการที่หลายภาคส่วนพยายามที่จะโปรโมตโดยหวังให้นักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นๆ เดินทางกลับมาสร้างความคึกคักให้กับการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง
ทว่าห้วงยามที่การท่องเที่ยวไทยส่อแววทรุดหนักและยาวนานขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากในประเทศไทย เมื่อทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระส่ำระสายถ้วนหน้า
และหากภาพลักษณ์ของไทยในเรื่องการจัดการปัญหาขยะจะยิ่งกดตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวให้ต่ำลงไปอีก คงโทษปัจจัยจากภายนอกประเทศอย่างเดียวไม่ได้
แม้ว่าปัญหาขยะที่กำลังสร้างมลภาวะให้กับประเทศในขณะนี้จะไม่ได้สร้างผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขอย่างชัดเจน ทว่า เป็นผลเสียหายแบบองค์รวม ทั้งนี้การแก้ปัญหาคงไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น
ในการประชุมอาเซียนครั้งที่ผ่านมาที่ไทยเป็นเจ้าภาพ มีการผลักดันให้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพ และกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570
การกำหนดเป้าหมายนี้น่าจะส่งเสียงปลุกกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเอกชน ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ คงต้องมองหาหนทางที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกัน หลังจากเก็บเกี่ยวและกอบโกยผลกำไรไปมหาศาล คงต้องถึงเวลาที่จะมองหาทางออกที่จะลดการใช้พลาสติกโดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ
ขยะที่ลอยคว้างอยู่ในทะเลปฏิเสธไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ กล่องวัสดุหีบห่ออาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ
ตัวอย่างการลดใช้ขวดบรรจุภัณฑ์ที่เห็นเป็นรูปธรรม และน่าที่จะนำมาเป็นต้นแบบคือ ร้าน ZeroMoment Refillery ซึ่งเป็นร้านขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน มีคอนเซ็ปต์ว่า ลูกค้าสามารถนำภาชนะมาได้เองและมาเลือกเติมสินค้าในปริมาณที่ต้องการ เป็นการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นทาง
บางทีเวลานี้น่าจะถึงเวลาที่ภาครัฐต้องรณรงค์อย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือไปกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต สินค้าอุปโภคบริโภค ว่ามีหนทางใดที่จะลดการใช้พลาสติกในสินค้าเหล่านี้ลง เมื่อความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์กลับสร้างหายนะให้กับสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้
ขณะที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามรณรงค์การใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับมลพิษพลาสติกด้วยการสนับสนุนระบบการผลิตและการบริโภคของเสียเหลือศูนย์
ซึ่งกรีนพีซตั้งคำถามกับบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกถึง “การขยายความรับผิดชอบ (extended producer responsibility)” และแผนงานลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) และการยุติการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ล้นเกินที่ออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งและกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ทุกกระทรวงรณรงค์ลดและเลิกใช้พลาสติก โดยเฉพาะบริเวณชายหาด แม่น้ำลำคลอง พร้อมกับมีบทลงโทษต่างๆ ที่ต้องนำมาบังคับใช้ให้ชูเป็นแคมเปญว่า “มาเรียมต้องไม่ตายฟรี” ประเทศไทยต้องร่วมมือกันขยายผลให้คนไทยตระหนัก ไม่อยากให้ตื่นตัวเพียงสัปดาห์เดียว
ปัญหาขยะที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้สังเวยด้วยชีวิตสัตว์ทะเลอย่างต่อเนื่อง น่าจะสร้างความตระหนักให้เห็นแล้วว่า การรณรงค์ด้วยการ Recycle เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เมื่อประจักษ์ว่า ผลกระทบของปัญหาขยะไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้
สร้างผลเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การส่งออก และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของงบประมาณที่เป็นค่าแรงให้กับผู้เกี่ยวข้องในการจัดการกับขยะปริมาณมหาศาล
การสูญเสียที่ผ่านมาเพียงพอแล้วหรือยังที่จะทำให้เราตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องจริงจังกับเรื่องขยะเสียที หรือต้องรอให้สิ่งแวดล้อมสูญสลายและสัตว์ทะเลตายหมดเสียก่อน ถึงจะได้เวลาตื่นรู้