Column: From Paris
กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) เป็นจิตรกรชื่อดังชาวฝรั่งเศสของศตวรรษที่ 19 เป็นจิตรกรคนแรกที่ “ขบถ” ต่อกฎเกณฑ์ของราชบัณฑิตสาขาวิจิตรศิลป์ ที่กำหนดให้การเขียนภาพขนาดใหญ่ต้องเป็นเรื่องราวของเจ้านายและศาสนาเท่านั้น เขาเป็นคนแรกที่เขียนภาพขนาดใหญ่เกี่ยวกับวิถีของชาวบ้าน
เมื่อนโปเลองที่ 3 (Napoléon III) พ่ายแพ้สงครามกับปรัสเซีย ปรัสเซีย และเยอรมนีจึงกรีธาทัพเข้ายึดฝรั่งเศส ชาวกรุงปารีสยอมรับไม่ได้ จึงลุกขึ้นต่อต้านเป็นเวลา 4 เดือน แต่ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ ฝรั่งเศสจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถลงคะแนนเสียง ได้สมาชิกสภาที่นิยมเจ้าถึง 400 คน และแต่งตั้งผู้นิยมนโปเลองในรัฐบาลหลายคน ชาวกรุงปารีสส่วนหนึ่งที่ต้องการเป็นสาธารณรัฐ ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลที่แวร์ซายส์ (Versailles) เป็นยุค Commune de Paris เกิดการต่อสู้ระหว่างปารีสและแวร์ซายส์ พวก Commune ที่เรียกว่า Communard เผาทำลายสถานที่หลายแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของนโปเลองและสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งพระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuilleries) และเสาวองโดม-Colonne de Vendôme ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะของนโปเลองที่ 1 ในการสงคราม กุสตาฟ กูร์เบต์เป็นหนึ่งในผู้นำ Commune de Paris
เป็นยุคที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจากการต่อสู้ระหว่างสองค่าย Commune de Paris ที่ถือเป็นฝ่ายซ้าย และรัฐบาลที่แวร์ซายส์ที่เป็นฝ่ายขวา วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนดังของฝรั่งเศสถ่ายทอดสภาพกรุงปารีสในยุคนั้นในหนังสือเรื่อง Les Misérables หลังจากที่พวกคอมมูนถูกปราบ กุสตาฟ กูร์เบต์ถูกพิพากษาให้จ่ายเงินชดเชยการก่อสร้าง Colonne de Vendôme ขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่เขามิได้ร่วมทำลาย เพียงแต่เคยเขียนเสนอแนะว่า ควรจะย้าย Colonne de Vendôme ไปยัง Hôtel des Invalides ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร รัฐถือเป็นผู้ชี้นำ กุสตาฟ กูร์เบต์จึงต้องลี้ภัยไปสวิส และเสียชีวิตที่นั่นก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมเพียง 3 ปี
นั่นคือชีวิตที่โลดโผนของจิตรกรที่เป็น “ขบถ”
ภาพเขียนที่ทำให้กุสตาฟ กูร์เบต์โด่งดังมากคือภาพ Origine du monde เป็นภาพสาวที่นอนอ้าซ่าให้เขาเขียนรายละเอียด ทุกครั้งที่ไปชมภาพนี้ จะเห็นคนเข้าไปเพ่งพินิจเสมอ เกิดคำถามว่าสาวไหนหนอที่กล้าเป็นแบบให้เขาเขียน
โคล้ด ชอปป์ (Claude Schopp) เป็นผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีที่แต่งโดยอเล็กซองดร์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) ผู้พ่อและลูก และแล้วเขาได้รับมอบหมายให้ศึกษาจดหมายติดต่อระหว่างอเล็กซองดร์ ดูมาส์ ผู้ลูก และจอร์จ ซองด์ (George Sand) ในจดหมายฉบับหนึ่ง อเล็กซองดร์ ดูมาส์ ผู้ลูกใช้รูปหอยแทนสิ่งที่ต้องการเขียน พร้อมกับว่า เราไม่อาจเขียนภาพที่ละเอียดอ่อนที่สุด และเสียงก้องที่สุด คือการ “สัมภาษณ์” (interview) ของนางสาว เกนีโอลต์ (Mlle Queniault) แห่งโรงโอเปรา (อเล็กซองดร์ ดูมาส์ ผู้ลูกไม่เห็นด้วยกับ Commune de Paris และไม่ชื่นชอบกุสตาฟ กูร์เบต์)
อเล็กซองดร์ ดูมาส์ ผู้ลูก ใช้คำว่า interview ซึ่งน่าจะหมายถึง intérieur–ภายใน มากกว่า
โคล้ด ชอปป์บอกเล่าสิ่งที่เขาค้นพบแก่ซิลวี โอเบอนาส์ (Sylvie Aubenas) ผู้อำนวยการแผนกภาพพิมพ์และภาพถ่ายของหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเห็นด้วย 99% ว่าผู้เป็นแบบให้กุสตาฟ กูร์เบต์ คือ ก็งสต็องซ์ เกนีโอซ์ (Constance Quéniaux) นั่นเอง
กุสตาฟ กูร์เบต์เขียนภาพ Origine du monde ตามคำขอของนักการทูตชาวตุรกี-อียิปต์ชื่อ คาลิล เบย์ (Khalil Bey) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมชั้นสูงกรุงปารีสในทศวรรษ 1860 เขาผู้นี้ออร์เดอร์ในปี 1866 เมื่อภาพเสร็จแล้ว เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับผู้เป็นนางแบบ บ้างก็ว่าเป็นโฌแอนนา ฮิฟเฟอร์แนน (Joanna Hiffernan) ภรรยาลับชาวไอริชของกุสตาฟ กูร์เบต์ ทว่าผมสีแดงสนิมของเธอผู้นี้ไม่ตรงสีขนลี้ลับในภาพ บ้างก็ว่าเป็นฌาน เดอ ตูร์เบย์ (Jeanne de Tourbey) หนึ่งในภรรยาลับของนักการทูตผู้นี้เอง
ในปี 1866 ก็งสต็องซ์ เกนีโอซ์อายุ 34 ปี เธอเป็นนักเต้นบัลเลต์และเป็นภรรยาลับของคาลิล เบย์ด้วย เธอมีผมดำและคิ้วสีดำ ซึ่งตรงกับสีเส้นผมของสาวในภาพ Origine du monde หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสมีรูปของสาวผู้นี้หลายรูป ซึ่งจะนำออกแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายของนาดาร์ (Nadar) ในเดือนตุลาคม ๒๐๑๘
เมื่อก็งสต็องซ์ เกนีโอซ์ถึงแก่กรรมในปี 1908 มรดกตกทอดมีภาพเขียนของกุสตาฟ กูร์เบต์ด้วย เป็นภาพช่อดอกคาเมเลียสีแดงและขาว กลีบดอกสีแดงที่บานขยาย
เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในหนังสือของโคล้ด ชอปป์ชื่อ L’Origine du Monde, Vie du modèle ซึ่งวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2018
ภาพ Origine du monde อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ (Musée d’Orsay) ตั้งแต่ปี 1995