สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนดูจะยังหลอกหลอน และสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างให้แก่อุตสาหกรรมการส่งออกของไทย ที่เป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ
หากจะพินิจพิเคราะห์กันอย่างรอบด้านด้วยใจเป็นธรรมแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอยอยู่ในขณะนี้ ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤตที่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก
แต่สำหรับระบบเศรษฐกิจไทยที่มีฟันเฟืองขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้าได้เพียงไม่กี่ตัว ทำให้หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่า ไทยจะหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างไร เมื่อสถานการณ์ส่งออกของไทยอยู่ในภาวะติดลบและขาดดุลในรอบหลายปี
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า ส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะติดลบ 0.64 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2562 มีมูลค่า 251,338 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำเอฟทีเอระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป ที่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และกรณี Brexit
ห้วงยามนี้ฟันเฟืองการส่งออกของไทยที่เคยเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยดูจะอ่อนประสิทธิภาพลง และหากจะพิจารณาฟันเฟืองตัวอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเกษตร และภาคอุตสาหกรรมล้วนแล้วแต่อยู่ที่ย่ำแย่จนถึงติดลบ
แม้จะมีการขยายตัวอยู่บ้างในบางอุตสาหกรรม ทว่าเมื่อพิจารณาตัวเลขการขยายตัวยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยข้อมูลตัวเลข รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในช่วงเดือนเมษายนหดตัว -3.0 เปอร์เซ็นต์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตเพียง 3.3 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าการส่งออกหดตัว -2.6 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น แต่เวลานี้คงต้องพิจารณากันใหม่ว่า เมื่อรัฐบาลจัดตั้งเรียบร้อยแล้วจะยังสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้หรือไม่
เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งตำแหน่งประธาน ครม. เศรษฐกิจ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นเลขานุการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาล
สถานการณ์เลวร้ายที่รายล้อมไทยอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นบททดสอบสำคัญว่า รัฐมนตรีชุดใหม่จะสามารถระดมสมองและแก้ปัญหาปากท้องคนไทยได้หรือไม่ และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรสถานการณ์แห่งความหม่นหมองเหล่านี้จะเลือนหายไป
โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือ สศอ. อดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 100.49 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็น 5.54 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 29 เดือน แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการปรับฐานการคำนวณ MPI (Manufacturing Production Index) เมื่อเดือนมกราคม 2559 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงเพราะกรณีพิพาทของสงครามการค้า ส่งให้คำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศลดลง
ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีผลให้ดัชนี MPI ลดลง คือ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ โดยการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายนปีนี้ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็น 8.52 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยอดขายภายในประเทศลดลง 2.1 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลจากมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ลดลงเป็นเดือนแรกในรอบ 30 เดือน
แต่ยอดการส่งออกรถยนต์มีทิศทางการขยายตัว 2.4 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรมที่สร้างแรงบวกต่อดัชนี MPI ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเบียร์
อย่างไรก็ตาม สศอ. ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อ MPI ในช่วงเวลานี้ จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีผลมาจากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องภัยแล้งที่ไทยกำลังประสบ เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมในสินค้าแปรรูปการเกษตร
หากจะพูดว่า ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยไร้ฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อน หรือไร้ตัวเอก ก็คงจะไม่ผิดนัก เมื่อเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจอ่อนแรงลงทุกตัว โดยอดิทัตกล่าวว่า “MPI ในเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะหดตัวลงไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีปัจจัยบวกซึ่งคือการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีทีมงานเข้ามาบริหารประเทศแล้ว แต่ยังต้องรอข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2562 และครึ่งแรกของปีนี้ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาทบทวนการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของ MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรมปีนี้ทั้งปี จากปัจจุบันคาดว่าจะอยู่ในระดับเดียวกันที่ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์”
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีน ก็ยังประสบกับสภาวะที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตลดลง โดยในไตรมาส 2 ปี 2562 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 27 ปี และปัจจัยที่ฉุดรั้งให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงคือ อุปสงค์ภายในประเทศจีนที่อ่อนแรงลง
อีกทั้งยังมีกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังมีแรงกดดันให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยการส่งออกของจีนลดลง -1.0 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการลดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้า รวมถึงการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลในโครงการพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านหยวน แต่เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแรง นั่นหมายความว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอที่จะกระตุกชีพจรเศรษฐกิจและอาจทำได้เพียงช่วยประคองเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะลอตัวต่ำลงไปมากกว่านี้
เมื่อจีนประสบกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และพยายามหามาตรการต่างๆ ออกมาแก้ไข ขณะที่ไทยกำลังประสบเคราะห์กรรมไม่แตกต่างกัน หรืออาจจะหนักหน่วงกว่า เมื่อเครื่องจักรหลายตัวยังทำงานได้ไม่เต็มที่
ทว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ยังคงนั่งแท่นในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สืบเนื่องมาจากรัฐบาล คสช. และโปรเจกต์ที่เหมือนเป็นความหวังสุดท้ายคือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ที่สมคิดยังต้องเข็นโครงการนี้ให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ เพื่อรั้งให้นักลงทุนไม่ย้ายเงินออกนอกไทยไปเสียก่อน เมื่อความล่าช้ายังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากการทำงานของคณะรัฐบาล คสช. เท่านั้น หากแต่สืบเนื่องมาจากหลายปีก่อนหน้า นั่นอาจเป็นเพราะว่าภาครัฐของไทยขาดความต่อเนื่องในการทำงานอย่างแท้จริง
โดยนโยบายของแต่กระทรวง กรม กอง จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทุกรัฐบาลควรจะผนึกกำลังในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าชิงดีชิงเด่นกัน โดยที่เห็นประเทศไทยเป็นสนามประลองกำลังของพรรคที่ได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลและเข้ามาบริหารประเทศแต่เพียงอย่างเดียว
และผู้ที่รับผลกรรมจากการกระทำของฝ่ายบริหารก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นประชาชนคนไทยทั้งสิ้น
เวลานี้แม้ฟันเฟืองทุกตัวในระบบเศรษฐกิจไทยจะยังคงทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ทว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าพอใจมากน้อยแค่ไหน คงต้องให้ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นผู้ตอบ