วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > มอสเบอร์เกอร์เพิ่มทุนใหญ่ เปิดศึกเขย่า “แมค-ไมเนอร์”

มอสเบอร์เกอร์เพิ่มทุนใหญ่ เปิดศึกเขย่า “แมค-ไมเนอร์”

การประกาศเปิดทางให้นักธุรกิจไทย “พิธาน องค์โฆษิต” ซีอีโอบริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ “มอสเบอร์เกอร์” น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงการเปิดเกมบุกครั้งใหญ่ที่มีสีสันจัดจ้านมากขึ้น หลังจากใช้เวลาเจาะตลาดไทยนานกว่าสิบปี แต่ขยายสาขาได้เพียง 8 แห่งและยังเจอสมรภูมิคู่แข่งรายใหญ่จนทำให้เบอร์เกอร์สายพันธุ์ญี่ปุ่นเจ้านี้ต้องจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะตลาดนิชมาร์เก็ต มีส่วนแบ่งไม่ถึง 1%

ขณะเดียวกันตลาดเบอร์เกอร์มีมูลค่าเม็ดเงินนับหมื่นล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% แต่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่รายและเป็นรายใหญ่ที่ยึดครองตลาดมาอย่างยาวนาน เช่น แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง ไม่รวมกลุ่มฟาสต์ฟู้ดไก่ทอดไก่ย่างที่ขอแจมตลาดเบอร์เกอร์ด้วย เช่น เคเอฟซี เท็กซัสชิคเก้น และเชสเตอร์กริลล์

ส่วน “คาร์ล จูเนียร์ (Carl’s Jr)” ของกลุ่ม CKE Restaurants, Inc จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งความจริงเข้ามาบุกสมรภูมิไทยตั้งแต่ปี 2555 ในฐานะเบอร์เกอร์สไตล์สุขภาพระดับพรีเมียม มีเมนูเอกลักษณ์อยู่ที่แฮมเบอร์เกอร์แบบที่อัดแน่นด้วยเนื้อ ผัก และซอสสูตรต่างๆ เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน นิวซีแลนด์ แต่เมื่อเจอรูปแบบการแข่งขันในไทยกลับไม่สามารถเติบโตตามเป้าหมายและเลือกประคองตัวเจาะตลาดนิชมาร์เก็ต ด้วยจำนวนร้านเครือข่ายเพียง 6 สาขา ดูไม่ต่างจากมอสเบอร์เกอร์มากนัก

แน่นอนว่า การพลิกกลยุทธ์ครั้งใหม่ของแบรนด์ “MOS BURGER” กลายเป็นเกมที่เจ้าตลาดกำลังจับตา โดยเฉพาะจุดขายหลักความเป็นญี่ปุ่น ทั้งตัววัตถุดิบ รสชาติ และความพยายามสื่อสารถึงวัฒนธรรมการกินจากแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งต่อยอด Story ยุคก่อตั้ง เมื่อนายซากุระดะ ซาโตชิ ตัดสินใจเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์ “มอสเบอร์เกอร์” แห่งแรกในเมืองนาริมาซึ กรุงโตเกียว และนำเสนอ “แฮมเบอร์เกอร์” ซึ่งเป็นเมนูอาหารของชาวอเมริกันในรูปแบบวัฒนธรรมการกินรสชาติญี่ปุ่น เน้นการทำอาหารด้วยมืออย่างพิถีพิถัน เสิร์ฟทีละชิ้น ไม่มีการทำทิ้งไว้

โดยเฉพาะการบุกเบิกเมนู “เทริยากิเบอร์เกอร์ (Teriyaki Burger)” ที่ใช้มิโสะกับซอสโชยุเป็นตัวปรุงรส และมอสไรซ์เบอร์เกอร์ (Rice Burger) ที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นเป็นวัตถุดิบหลัก เรียกได้ว่า ลูกค้าในญี่่ปุ่นต่างชื่นชอบทุกเมนูของมอสเบอร์เกอร์ มีการขยายร้านแบบแฟรนไชส์ทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ก่อนตัดสินใจรุกตลาดต่างประเทศเมื่อปี 2534 จนล่าสุดมีสาขามากกว่า 1,700 สาขา ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และไทย

หลายคนในวงการประเมินว่า มอสเบอร์เกอร์ได้ทั้งทุนและเทคนิค โดยนายพิธาน องค์โฆษิต ประกาศทุ่มงบส่วนตัวซื้อหุ้น 75% ในบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการร้านฟาสต์ฟู้ด มอสเบอร์เกอร์ ในประเทศไทย กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และใส่เม็ดเงินเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 200 ล้านบาท จากเดิมบริษัทแม่ญี่ปุ่นมีทุนจดทะเบียนเพียง 6 ล้านบาท เพิ่มเป็น 206 ล้านบาท พร้อมกับเข้ามานั่งตำแหน่งประธานบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) เพื่อลุยธุรกิจเต็มตัว

นายพิธานกล่าวว่า มอสเบอร์เกอร์ เป็นแบรนด์ร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดชั้นนำที่ประสบความสำเร็จอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จในอีกหลายๆ ประเทศ โดยในไทยนั้น เปิดตัวครั้งแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2550 และได้รับกระแสการตอบรับที่ดีพอสมควร ซึ่งการร่วมธุรกิจครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์มอสเบอร์เกอร์ ทั้งด้านการตลาดและการบริหารงาน

สำหรับแผนการตลาดในปีนี้ บริษัทจะขยายสาขาอีก 6 สาขา จากปัจจุบัน 8 สาขาในกรุงเทพฯ ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ แฟชั่นไอส์แลนด์ เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า สุขุมวิท เซ็นทรัลพลาซ่า บางนา เซ็นทรัล พระราม 3 เอ็มโพเรียม ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เทอร์มินอล 21 (อโศก) และวางเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มอีกปีละ 9 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว หรือภายใน 8 ปีจะมีสาขารวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 90 แห่ง

ส่วนแผนการรุกตลาดจะปรับกลยุทธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เน้นการทำออนไลน์ ดีลิเวอรี่ ซึ่งจะทำโปรโมชั่นร่วมกับผู้ให้บริการดีลิเวอรี่ต่างๆ และจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดอื่นๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ได้ 500 ล้านบาทภายใน 4 ปีนับจากนี้ และผลักดันส่วนแบ่งตลาดจาก 1% ขยับขึ้นเป็น 10% ภายใน 8 ปี

“มอสเบอร์เกอร์ เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและมีโอกาสที่เติบโตได้ เนื่องจากแบรนด์มีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพอาหารและรสชาติที่เป็นญี่ปุ่นชัดเจน ซึ่งตรงกับความชอบของคนไทยที่ชื่นชอบรสชาติของอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว เมื่อนำกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับคนไทยเข้ามาเสริม มอสเบอร์เกอร์สามารถเป็นคู่แข่งลำดับต้นๆ ในตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดไทยในอนาคตได้”

“สิ่งที่เราจะเข้าไปเสริมเป็นเรื่องการบริหารการจัดการและช่วยคิดเมนูใหม่ๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของคนไทย ขณะที่มอสเบอร์เกอร์ ญี่ปุ่น ยังคงดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ทั้งคุณภาพอาหารและวัตถุดิบตามมาตรฐานของแบรนด์ดั้งเดิม” นายพิธานกล่าว

ปัจจุบันถ้าดูเมนูเบอร์เกอร์ของมอสที่นำเข้ามาทำตลาดในไทยนอกเหนือจากเบอร์เกอร์สไตล์ตะวันตก บริษัทแม่เน้นจุดขายความเป็นญี่ปุนระดับพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง เช่น วากิว ชีสเบอร์เกอร์ ไก่เทอริยากิเบอร์เกอร์ คุโรบุตะชาบูชาบูเบอร์เกอร์ และล่าสุด เปิดตัวเมนู “ฟูจิยามะ เบอร์เกอร์” (Fujiyama Burger) เบอร์เกอร์สุกี้เนื้อและไข่ออนเซ็น ต้นตำรับสไตล์ญี่ปุ่น ในราคา 109 บาท เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ของแบรนด์มอสเบอร์เกอร์ ให้เด่นชัดขึ้น

นายพิธานย้ำกว่า หากมองพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อเบอร์เกอร์ ประมาณ 40% ต้องการความเร็ว อีก 60% ต้องการเบอร์เกอร์คราฟท์ หรือพิถีพิถัน มีคุณภาพ นั่นหมายความว่ายังมีช่องว่างให้มอสเบอร์เกอร์ เข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม เจ้าตลาดชื่อ “แมคโดนัลด์” ซึ่งเน้นย้ำกลยุทธ์การตลาดทุกไตรมาส ยังคงเดินหน้าสร้างกระแสดึงดูดกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะการเปิดตัวเมนูใหม่ๆ ทั้งเมนูสไตล์ไทยสไตล์สุขภาพและสไตล์ญี่ปุ่น เพิ่มเมนูหลากหลายมากกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น ทั้งกลุ่มเบอร์เกอร์ที่มีให้เลือก 10-20 มีชุดแฮปปี้มีลสำหรับเด็กที่มีทั้งเบอร์เกอร์ ไก่ทอด นมกล่องและแอปเปิลอีก 1 ชิ้น

กลุ่มอาหารจานเดี่ยว ทั้งเมนูประจำและเมนูชั่วคราวที่หมุนเวียนสร้างสีสันให้กลุ่มลูกค้า เช่น ซุปมะกะโรนี แมคข้าวกะเพราเนื้อ แมคข้าวกะเพราปลา แมคข้าวกะเพราไก่กรอบ แมคข้าวกะเพราหมู แมคข้าวน้ำตกไก่กรอบ แมคข้าวน้ำตกปลา แมคข้าวน้ำตกหมู แมคข้าวน้ำตกเนื้อ

กลุ่มอาหารรับประทานเล่น เช่น แมคนักเก็ต ชิคสติ๊ก เฟรนช์ฟรายส์ ไก่กรอบเต็มแมค แมควิงส์ กลุ่มเมนูอาหารเช้าและของหวานกลุ่มพายต่างๆ รวมทั้งการขยายจุดบริการแมคคาเฟ่ เสิร์ฟกาแฟและเบเกอรี่นำเข้า เพื่อสร้างเดสทิเนชันของลูกค้าทุกกลุ่ม

ขณะที่ “เบอร์เกอร์คิง” ของกลุ่มไมเนอร์ ปีนี้เร่งขยายเครือข่ายสาขาจากปัจจุบันมีมากกว่า 103 สาขา พัฒนาเมนูใหม่ๆ เป็นทางเลือกมากขึ้น และการขยายบริการดีลิเวอรี่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งไมเนอร์ฟู้ดกรุ๊ปได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112Delivery รวมอาหารและเครื่องดื่มจาก 7 แบรนด์ในเครือ ทั้งเดอะ พิซซ่า คอมปะนี เบอร์เกอร์คิง สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เลอร์ แดรี่ควีน เดอะคอฟฟี่ คลับ และไทย เอ็กซ์เพรส เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้า เพราะสามารถสั่งได้ในครั้งเดียว และเร่งขยายสาขาในแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ภูเก็ต กะบี่ เกาะพีพี ทั้งรูปแบบร้านให้บริการในศูนย์การค้า สแตนด์อะโลน และไดรฟ์ทรู

ดูเหมือนว่า สมรภูมิฟาสต์ฟู้ดรอบนี้ ทั้งแมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิงไม่ยอมเสียส่วนแบ่งให้คู่แข่ง โดยเฉพาะรุ่นน้องใหม่อย่าง “มอส เบอร์เกอร์” ง่ายๆ แน่

MOS BURGER ขุนเขา มหาสมุทร พระอาทิตย์

“มอสเบอร์เกอร์” เริ่มต้นเส้นทางเบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) โดยนายซากุระดะ ซาโตชิ เปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์ในเมืองนาริมาซึ กรุงโตเกียว

เขาตั้งชื่อร้านว่า MOS ด้วยความรู้สึกที่อยากขอบคุณมวลมนุษย์และความรักที่มีต่อธรรมชาติและมนุษย์ ผ่านทั้งสามตัวอักษร คือ M-Mountain อยากให้มนุษย์แข็งแกร่งดั่งขุนเขา O-Ocean มีหัวใจลึกซึ้งดั่งมหาสมุทร และ S-Sun มีความต้องการแรงกล้า แรงบันดาลใจแรงกล้าดั่งพระอาทิตย์ โดยนำเสนอ “แฮมเบอร์เกอร์” ที่สะท้อนวัฒนธรรมการกินสไตล์และรสชาติญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการฟาสต์ฟู้ดญี่ปุ่นและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

๐ ปี 2527 เปิดตัวเทริยากิเบอร์เกอร์

๐ ปี 2530 เปิดตัวไรซ์เบอร์เกอร์

๐ ปี 2534 เปิดสาขาแรกในต่างประเทศที่ไต้หวัน

๐ ปี 2536 เปิดสาขาแรกในสิงคโปร์

๐ ปี 2549 เปิดสาขาแรกในฮ่องกง

๐ ปี 2550 เปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา

๐ ปี 2551 เปิดสาขาต่อเนื่องในศูนย์การค้าสยามพารากอนและฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
เปิดสาขาแรกในประเทศอินโดนีเซีย

๐ ปี 2553 เปิดสาขาแรกในประเทศจีน

๐ ปี 2554 เปิดร้านแห่งที่ 3 ในประเทศไทย สาขาเทอร์มินอล 21 (อโศก)
เปิดสาขาแรกในประเทศออสเตรเลีย

๐ ปี 2555 เปิดสาขาแรกในประเทศเกาหลีใต้

๐ ปี 2559 เปิดสาขาที่ 4 ในห้างเอ็มโพเรียม ประเทศไทย

๐ ปี 2560-2562 มีสาขาในประเทศไทยรวม 8 แห่ง และสาขาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 1,700 สาขา ทั้งสาขาในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

๐ เดือน ก.ค. 2562 มอสเบอร์เกอร์ปรับโครงสร้างบริษัทลูกในประเทศไทย เปิดทางให้นักธุรกิจไทย เข้าถือหุ้นใหญ่ 75%

ใส่ความเห็น