ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงมรดกโลกเป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ยูเนสโกประกาศรายชื่อสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกประจำปี 2562 ซึ่งประเทศไทยได้เสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานในการคัดเลือกครั้งนี้ด้วย
คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้จัดการประชุมเพื่อคัดเลือกแหล่งมรดกโลกครั้งที่ 43 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการได้ประกาศรายชื่อมรดกโลกแห่งใหม่ประจำปีทั้งแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติออกสู่สากลรวม 29 แห่ง โดยมี 3 แห่งอยู่ในอาเซียน คือ พุกาม (Bagan) ประเทศเมียนมา, ทุ่งไหหิน สปป. ลาว และเหมืองถ่านหินอมบีลินแห่งซาวะฮ์ลุนโต ประเทศอินโดนีเซีย (Ombilin Coal Mining Heritage of Sawahlunto) รวมถึงอุทยานแห่งชาติวัตนาเยอคูลล์ ประเทศไอซ์แลนด์ (Vatnajökull National Park), นครชัยปุระ ประเทศอินเดีย (Jaipur City, Rajasthan), สุสานโบราณจังหวัดโอซากา ประเทศญี่ปุ่น, นครบาบิโลน ประเทศอิรัก (Babylon) เป็นต้น
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปีนี้ เนื่องจากปัญหาการส่งข้อมูลเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมาและเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ล่าช้า โดยมีแผนจะนำเสนออีกครั้งในปีถัดไป
ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มป่าแก่งกระจานเท่านั้นที่ประเทศไทยได้เสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ยังมีแหล่งวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ทรงคุณค่าอีกหลายแห่งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นสำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์, กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์, พระธาตุพนม, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท, เมืองเชียงใหม่ และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งต่างมีความพยายามในการเตรียมความพร้อมและการผลักดันเพื่อก้าวสู่การเป็นมรดกโลกด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนที่จะยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 2563 ที่จะถึง
วัดพระมหาธาตุฯ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์จากภูมิภาคเอเชียใต้มาสู่อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรตามพรลิงค์ และดินแดนคาบสมุทรมลายู ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามหายานอยู่แต่เดิม ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเป็นหลักฐานการแลกเปลี่ยนคุณค่าทางจิตใจและความเชื่อของมนุษย์มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-16 และเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 18
รวมถึงมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมและมีเอกลักษณ์ องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นองค์แรกในอุษาคเนย์ และมีการพัฒนาโดยลดส่วนความกว้างทำให้องค์ระฆังเพรียวขึ้นต่างจากศิลปะแบบลังกา และยังได้รับการถ่ายทอดต่อไปยังหลายภูมิภาค เช่น วัดเขียนบางแก้ว จ.พัทลุง, วัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เป็นต้น
“นี่คือมรดกของมนุษยชาติที่อยู่ในคาบสมุทรมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมรดกทางพุทธศาสนาเถรวาท และถือเป็นหนึ่งใน 8 จอมเจดีย์ของไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร ถึงเวลาแล้วที่เราจะนำพาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจากมรดกไทยไปสู่มรดกโลก” ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดและประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการมรดกโลกจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงความสำคัญของวัดพระมหาธาตุฯ ในการก้าวขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งต่อไป
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เมื่อ พ.ศ. 2556 โดยตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกกำหนดไว้ทั้งหมด 3 ข้อ คือเกณฑ์ตามข้อที่ 2, 4 และ 6
(2) เป็นการแสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี ศิลปะ สถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์
(4) เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร กลุ่มสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(6) มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิด ความเชื่อต่องานศิลปกรรมและวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล
หลังจากที่ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดทำแผนด้านคุณค่าความโดดเด่นและแผนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนรวมถึงวิธีการดูแลรักษามาโดยตลอด ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ
ในส่วนข้อมูลด้านแผนการอนุรักษ์คุ้มครองโบราณสถาน ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนสำคัญในการก้าวขึ้นสู่การเป็นมรดกโลกนั้น ได้รับความร่วมมือจากคณะวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมี รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย
คณะวิจัยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้ามาช่วยในการสำรวจประเมินความมั่นคงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ วิเคราะห์โครงสร้าง โดยการใช้เทคนิควิธีและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาช่วย เพื่อร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลแบบดิจิทัลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนอนุรักษ์โบราณสถานในอนาคต
วิธีการดำเนินงานในครั้งนี้ประกอบไปด้วยการสำรวจรูปทรง เก็บข้อมูลโครงสร้างและมิติของพระบรมธาตุรวมถึงเจดีย์ราย โดยใช้เทคนิค “ซีทีสแกน” (CT Scan) และโดรนสำหรับบินถ่ายภาพ เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ซึ่งแบบจำลอง 3 มิติดังกล่าว สามารถนำมาใช้ในการประมาณค่าความเอียงของเจดีย์ตลอดจนประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้างจากพื้นผิวภายนอกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากสภาพแวดล้อม ทั้งจากการจราจร ลม รวมถึงการโยกตัวตามธรรมชาติขององค์พระธาตุ เพื่อประเมินถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของโบราณสถาน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลใต้พื้นดินด้วยการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์อีกด้วย ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ความมั่นคงขององค์เจดีย์ด้วยหลักวิศวกรรมและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการอนุรักษ์วัดพระมหาธาตุฯ ให้เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
โดย ผศ.ฉัตรชัยคาดว่าจะสามารถจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ภายในเดือนกันยายน 2562 เพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปีต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจำนวน 5 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ 1. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ. สุโขทัย 3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 2 แห่ง คือ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 2. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวและเอาใจช่วยกันต่อไปว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร แห่งเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงแหล่งมรดกอันทรงคุณค่าของประเทศไทยจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่หรือไม่ นอกจากจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยแล้ว ยังหมายถึงเวทีประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน