วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ยานยนต์อาเซียน ถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่?

ยานยนต์อาเซียน ถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่?

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 (34th ASEAN Summit) ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ท่ามกลางภาพรวมที่กลไกภาครัฐพยายามโหมประโคมถึงความสำเร็จและเรียบร้อยของการจัดการ หากแต่ในอีกด้านหนึ่งการประชุมดังกล่าวดูจะห่างไกลจากทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับรู้ถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ไม่นับรวมถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่วงทำนองและสถานะของคณะผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ท่ามกลางแนวคิดว่าด้วย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่รัฐไทยพยายามนำเสนอควบคู่กับภารกิจสำคัญว่าด้วยการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สามารถบรรลุบทสรุปสำเร็จลุล่วงภายในปี 2562 ดูเหมือนว่าบริบทแห่งความเป็นไปของเพื่อนบ้านอาเซียนที่แวดล้อมดูจะก้าวไกลไปกว่าพัฒนาการของสังคมไทยอย่างน่าสนใจ

ข่าวการเปิดตัว VinFast รถยนต์สัญชาติเวียดนามในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียน ดูจะเป็นประหนึ่งการส่งสัญญาณเตือนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้อยู่ไม่น้อย แม้ว่า VinFast จะไม่ใช่แบรนด์รถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนแบรนด์แรกที่เกิดขึ้นก็ตาม

ก่อนหน้านี้ Proton จากมาเลเซียได้ถือกำเนิดและเข้าสู่ตลาดรถยนต์มาตั้งแต่ปี 1983 ก่อนที่ในปี 1993 หรืออีก 10 ปีถัดมามาเลเซียจะมี Perodua เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ออกมาโลดแล่นบนถนนอาเซียนมากว่า 3 ทศวรรษ แม้ว่าพัฒนาการที่ยาวนานของแบรนด์ยานยนต์จากมาเลเซียทั้งสอง อาจไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับภูมิภาคมากนักในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

ความเชื่อมั่นที่ว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งและอุดมด้วยศักยภาพในการบริโภคที่เป็นประหนึ่งเบ้าหลอมทัศนะในการประเมินสถานการณ์รอบข้างของทั้งผู้ประกอบการและกลไกที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพราะท่ามกลางกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ที่สูงถึงร้อยละ 80 และร้อยละ 60 สำหรับจักรยานยนต์ที่ดำเนินมาในช่วงกว่า 30 ปีก่อนหน้านี้ ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน รวมถึงการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ทำให้ความฝันความหวังที่จะก้าวไปสู่การเป็น Detroit แห่งเอเชียกังวานก้องในมโนสำนึกของรัฐไทยมาโดยตลอด

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนโดยในปี 2018 ที่ผ่านมา ไทยประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรวม 877,015 คันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อีก 1,290,679 คัน หรือรวมต่อปีมากกว่า 2 ล้านคัน ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากถึง 1,055,774 คัน โดยมีการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพียง 287,940 คัน เช่นเดียวกับในกรณีของมาเลเซียที่เน้นผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ระดับ 522,392 คัน และผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพียง 42,579 คัน

ความเคลื่อนไหวจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์หลักในอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ก็คือ ทั้งสองประเทศลงนามในบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding: MOU) ที่จะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วน อุปกรณ์ รวมถึงการยกระดับองค์ความรู้ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรในภาคการผลิต ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนความสำเร็จของการเจรจาทวิภาคีระหว่างกัน และเป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การสร้างยานยนต์ภายใต้แบรนด์ของอาเซียนในอนาคต

พัฒนาการของความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียดังกล่าว เกิดขึ้นจากผลของข้อตกลงภายใต้กรอบของการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) เมื่อปลายปี 2015 ซึ่งส่งผลให้มีการปรับลดอัตราภาษีสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ภูมิทัศน์ ที่หมายถึงจังหวะก้าวและโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนอาจเปลี่ยนไปไม่น้อยนับจากนี้

กรณีดังกล่าวใช่ว่าผู้ประกอบการในแต่ละประเทศจะได้รับผลในเชิงบวกเท่านั้น เพราะในช่วงเวลา 2-3 ปีหลังการเข้าสู่ AEC ที่ผ่านมา ตลาดยานยนต์ของเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปรับลดอัตราภาษีสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งทำให้ยอดการจำหน่ายยานยนต์ที่ผลิตได้ในประเทศลดลงอย่างมาก ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน และการลดภาษีนำเข้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนาม โดยเวียดนามมีโอกาสไม่มากนักในการได้รับการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในช่วงขณะนี้

เนื่องเพราะผู้ผลิตรถยนต์จากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เข้ามาลงทุนในโรงงานผลิตและตั้งฐานอย่างมั่นคงแล้ว ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ซึ่งโดยปกติ ศูนย์กลางการผลิตจะไม่ผลิตเพื่อตลาดภายในประเทศนั้นๆ แต่โดยลำพัง หากแต่ยังจะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งในกรณีนี้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะไม่ลงทุนซ้ำอีกครั้งในประเทศอื่นหากสามารถดำเนินการผลิตในประเทศเดียวได้ รวมทั้งตลาดรถยนต์ของเวียดนามยังไม่ใหญ่พอเพื่อสามารถรองรับผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยได้รายงานข้อเสนอแนะเมื่อช่วงต้นปี 2560 ระบุว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในเวียดนามต้องปรับตัวโดยหันไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ซ่อมบำรุง ที่นอกจากจะสามารถจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังมีแนวโน้มส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ดีกว่าการส่งออกรถยนต์ทั้งคันอีกด้วย

การเกิดขึ้นของ VinFast บริษัทในเครือ Vingroup บรรษัทเอกชนรายใหญ่ของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุน 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลเวียดนาม ทั้งในมิติของภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนความพยายามของเวียดนามในการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ

ขณะเดียวกันยังเป็นประหนึ่ง showcase ในการผนวกผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่หลากหลายจากพันธมิตรในสหภาพยุโรป ซึ่งเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน (EU-Vietnam FTA) ไม่ว่าจะเป็น BWM, Opel และ Robert Bosch จากเยอรมนี Magna Steyr จากออสเตรีย รวมถึง Pininfarina จากอิตาลี เพื่อให้ VinFast ก้าวไปสู่การยกระดับแบรนด์รถยนต์เวียดนามเพื่อใช้ในประเทศ และการส่งออกไปในตลาดโลก

นอกจากนี้ การมาถึงของอดีตผู้บริหารระดับสูงของ GM มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ VinFast ภายหลังจากที่ GM ประกาศร่วมเป็นพันธมิตรกับ VinFast ด้วยการให้สิทธิ VinFast เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในเวียดนามควบคู่กับการให้สิทธิในการบริหารโรงงานของ GM ในกรุงฮานอย เพื่อผลิตรถยนต์ขนาดเล็กของ GM (all-new global small car) ภายใต้แบรนด์ VinFast อีกด้วย

เป้าหมายเบื้องต้นของ VinFast ในฐานะบริษัทรถยนต์หน้าใหม่มีอายุเพียง 2 ปีด้วยการระบุว่าจะผลิตรถยนต์ให้ได้ปีละ 2.5 แสนคัน ซึ่งใกล้เคียงกับยอดจำหน่ายรถยนต์ต่อปีในตลาดเวียดนามที่มีประมาณ 2.8 แสนคันและจะเพิ่มกำลังการผลิตไปสู่ระดับ 5 แสนคันในอีก 2-3 ปีจากนี้ และมีเป้าหมายระยะยาวที่จะผลิตให้ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี อาจให้ภาพของความทะเยอทะยานที่อาจเป็นไปได้ยาก

แม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะสะท้อนการเติบโตที่รวดเร็วมากในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน แต่ตลาดรถยนต์เวียดนามยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ขณะที่การส่งออกไปต่างประเทศภายใต้แบรนด์ผู้ผลิตจากอาเซียนก็ต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ซึ่งเป็นกรณีที่ท้าทายอย่างยิ่ง

หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจังหวะก้าวของ VinFast ด้วยการเลือกเปิดตัว VinFast สู่การรับรู้ของสาธารณะในงาน 2018 Paris Motor Show เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นหลักไมล์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตรถยนต์จากเวียดนามรายนี้เช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจจากนี้จึงอยู่ที่ว่า VinFast จะสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนได้มากน้อยเพียงใด

ประเด็นที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่งก็คือ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area: ACFTA) ซึ่งทำให้สินค้าจำนวนมากกว่า 7,800 รายการ หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของสินค้านำเข้าที่มีการแลกเปลี่ยนกันมีการจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งรวมถึงสินค้าในกลุ่มยานยนต์ กำลังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนด้วยอัตราเร่งอย่างไม่อาจเลี่ยง

การมาถึงของรถยนต์ MG ZS EV 2020 ซึ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 100% นำเข้า CBU จากประเทศจีนและได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 0% ตามข้อตกลง ACFTA ทำให้สถานการณ์ด้านการแข่งขันและราคายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสั่นคลอนไม่น้อย ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ที่ยังให้ความสำคัญต่อการผลิตยานยนต์แบบไฮบริด (HEV) และ Plug-In Hybrid (PHEV) และประวิงเวลาในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ทั้งสำหรับเพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทยและระดับอาเซียนมาในช่วงก่อนหน้านี้ อาจต้องทบทวนแผนการผลิตไม่น้อยเลย

จังหวะก้าวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนนับจากนี้ อาจดำเนินไปท่ามกลางปัจจัยและตัวแปรมากกว่าที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียนเคยได้ผ่านประสบการณ์และคุ้นเคย ซึ่งอาจแปลกแตกต่างไปอย่างที่นึกไม่ถึงก็เป็นได้

ใส่ความเห็น