วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > J&T Express ลุยศึกท้าชนยักษ์

J&T Express ลุยศึกท้าชนยักษ์

ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ แบรนด์ธุรกิจส่งด่วนน้องใหม่ J&T Express เตรียมแถลงข่าวเปิดตัวธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้เวลากว่า 1 ปี ซุ่มศึกษาพื้นที่และตะลุยขยายสาขาชนิดปูพรมทั่วเมือง พร้อมกับดึงซูเปอร์สตาร์ชื่อดังอย่าง “มาริโอ้ เมาเร่อ” นั่งแท่น “Brand Ambassador” คนแรก เพื่อปลุกกระแสการรับรู้ครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายท้าชนยักษ์คู่แข่ง ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ หวังเป็นบริษัทขนส่งพัสดุด่วนที่เน้นให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุด J&T Express ประเทศไทย ผุดสาขาทั้งหมดกว่า 300 สาขา ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และในปี 2562 ตั้งเป้าจะเปิดร้านสาขาเพิ่มขึ้นอีก 100 สาขา โดยดำเนินธุรกิจในรูปแบบการลงทุนเองครึ่งหนึ่งและร้านแฟรนไชส์อีกครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้เล่นใหม่ต้องเจอสมรภูมิการแข่งขัน โดยเฉพาะตลาดการจัดส่งพัสดุด่วนประเภทถึงมือผู้รับภายใน 1-2 วัน หรือขนส่งด่วน (Express) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 30,000 ล้านบาท อัตราเติบโตปีละ 15-20% และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนรุ่นใหม่ พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภค และการเติบโตก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 3.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ J&T Express เป็นบริษัทที่จดทะเบียนก่อตั้งที่ฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อปี 2558 แต่ไปปักหมุดสำนักงานใหญ่ลุยตลาดประเทศอินโดนีเซียเป็นจุดยุทธศาสตร์แรก เนื่องจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ภายใต้สโลแกน “Express Your Online Business” จากนั้นขยายเครือข่ายไปที่ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย และเตรียมแผนรุกประเทศอื่นๆ ต่อเนื่อง ได้แก่ ลาวและพม่า

ถ้านับเครือข่ายสาขาของน้องใหม่จากจีนเจ้านี้ไม่ธรรมดา เพราะ J&T Express ใช้เวลาไม่ถึง 4 ปี เปิดร้านสาขาในประเทศอินโดนีเซียมากกว่า 4,000 สาขา ร้านสาขาตัวแทนมากกว่า 3,000 ร้าน และศูนย์กระจายสินค้าอีกหลายร้อยแห่ง ขณะที่ประเทศไทยล่าสุดมีร้านสาขามากกว่า 300 สาขา ฟิลิปปินส์ 300 สาขา มาเลเซีย 300 สาขา และเวียดนาม 700 สาขา ยังไม่นับจุดรับฝากพัสดุอีกจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยตามแผนระยะแรก บริษัทเตรียมเงินลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท หลังจากเข้ามาเตรียมความพร้อมและวางกลยุทธ์ต่างๆ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 พร้อมกับเปิดสาขาจนสามารถรุกทำเลหลักๆ ทั่วประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และวางแผนจะเปิดร้านสาขารวมจุดรับฝากพัสดุครบ 1,000 แห่งภายในปีนี้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งในเซาต์อีสต์เอเชีย โดยตั้งเป้าจะเปิดศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่มากกว่า 15 แห่ง จากปัจจุบันเปิดแล้ว 1 แห่ง จำนวนพนักงานมากกว่า 10,000 คน และรถวิ่งให้บริการมากกว่า 600 คัน

ผู้บริหารของ J&T Express ระบุว่า บริษัทมีการบริการในรูปแบบปกติ คือ ผู้ส่งมาส่งพัสดุที่สาขา เพื่อส่งไปยังผู้รับ แต่จุดเด่นที่แตกต่างจากค่ายคู่แข่ง คือ การเปิดให้บริการตลอด 365 วัน สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

มีระบบชดเชยความเสียหายอย่างเร่งด่วน โดยกรณีไม่ได้ซื้อประกันคุ้มครอง หากพัสดุเกิดการชำรุดหรือสูญหาย บริษัทจะชดเชยค่าเสียหายสูงสุดถึง 10 เท่าของค่าขนส่ง ประเภทเอกสารมีค่าชดเชยสูงสุด 200 บาท พัสดุมีค่าชดเชยสูงสุด 2,000 บาท กรณีซื้อประกันคุ้มครอง จะได้รับเงินชดเชยตามมูลค่าการเอาประกันภัย

ขณะเดียวกัน มีระบบติดตามพัสดุผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ โดยใช้ระบบ Real time tracking system เพียงกรอกเลขพัสดุในช่อง Trace & Track มีช่องทางลูกค้า VIP ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศไทย และมีช่องทางการให้บริการ 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งบริการรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

ที่สำคัญ ระยะเวลาการจัดส่ง ซึ่งบริษัทระบุว่า รวดเร็วมากที่สุด โดยในกรณีจังหวัดเดียวกันและจังหวัดข้างเคียงใช้ระยะเวลาการจัดส่งต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง กรณีต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลใช้ระยะเวลาจัดส่งไม่เกิน 72 ชั่วโมง และพัสดุต้องถูกส่งออกจากสาขาภายใน 2 ชั่วโมง

ต้องถือว่า J&T Express เป็นผู้เล่นจากต่างชาติอีกรายที่กระโดดเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดส่งพัสดุแบบด่วน หรือ “เอ็กซ์เพรส” ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มนักธุรกิจสตาร์ตอัพ กลุ่มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นแนวรบด้านธุรกิจที่พลิกโฉมการขนส่งไปรษณีย์ของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง

จนกระทั่งเสือที่เคยนอนกินอย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ต้องปรับตัวขนานใหญ่ งัดนโยบาย THP FIRST เน้นเรื่องคุณภาพ บริการ และความรวดเร็ว ส่งเช้าถึงบ่าย ส่งบ่ายได้วันรุ่งขึ้น ขยายเวลาการให้บริการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และบริการอีคอมเมิร์ซโลจิสติกส์ครบวงจร

จะว่าไปแล้ว ทุกค่ายในกลุ่มเอ็กซ์เพรสต่างประชันจุดขายด้านบริการทุกรูปแบบ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการรับฝากพัสดุและมารับสินค้าได้ตามจุดบริการ (Dropbox) การบริการขนส่งพัสดุภายในวันเดียว (Sameday) การชำระเงินปลายทาง บริการเก็บเงินปลายทางผ่าน QR Code หรือเรียกว่า QR COD และการรับชำระเงินเป็น Wallet COD

นอกจากนี้ ยังมีการขยายบริการ Food Delivery ที่ขยายจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักไปต่างจังหวัดมากขึ้น บริการขนส่งของเย็น เช่น ไอศกรีม การใช้ Big Data Analytics และ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าว่า มีการสั่งซื้อสินค้ารูปแบบไหน และความต้องการใช้บริการเพื่อช่วงชิงลูกค้า ระบบบริหารและจัดการคลังสินค้าขยับไปสู่ Micro Fulfillment หรือให้บริการคลังสินค้ารายย่อยในต่างจังหวัด การเกิดแอปพลิเคชันโลจิสติกส์มากขึ้น และการขนส่งพัสดุระหว่างประเทศจากการขายแพลตฟอร์ม Market Place

สมรภูมิส่งด่วนรอบนี้ได้เปิดฉากประชันกลยุทธ์ชนิดไม่มีใครยอมใครแน่

ใส่ความเห็น