“แกร็บ (Grab)” ประกาศเร่งสปีดเดินหน้าแผน “ซูเปอร์แอป” รับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่จากยุคออฟไลน์สู่ “ออนไลน์” เต็มรูปแบบ เป้าหมายไม่ใช่แค่การเป็นแอปพลิเคชันที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งบริการเดินทาง บริการรับส่งอาหาร บริการขนส่ง บริการชำระเงินผ่านบัตร และบริการทางการเงินเท่านั้น แต่ต้องการเป็น “เบอร์ 1” ในทุกบริการ และปี 2562 ต้องเติบโตอย่างน้อย 1 เท่าจากปีก่อน
ตามข้อมูลของแกร็บคุยไว้ว่า ปี 2561 แกร็บมีปริมาณธุรกรรมด้านส่งคน 100,000 เที่ยวต่อวัน ส่งอาหารกว่า 3 ล้านออร์เดอร์ ยอดส่งสินค้าเติบโตขึ้น 2 เท่า และเพียงไม่กี่เดือนในปี 2562 มียอดผู้โดยสารกว่า 200,000 เที่ยวต่อวัน และมียอดการจัดส่งอาหารกว่า 4 ล้านออร์เดอร์
ล่าสุด หลังจาก แกร็บ ประเทศไทย จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงพหุภาคีพันธมิตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Alliance) ว่าด้วยความร่วมมือและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านบริการที่หลากหลายของแกร็บ
เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา แกร็บ ได้เผยโฉม ‘ทริป แพลนเนอร์’ (Trip Planner) ฟีเจอร์และบริการวางแผนเดินทางใหม่ล่าสุด ที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเข้าในแอปพลิเคชันแกร็บทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผู้คนหันมาใช้ฟีเจอร์ซูเปอร์แอปมากขึ้น ตั้งแต่แผนให้ผู้ใช้บริการเลือกวิธีเดินทาง และสามารถเชื่อมโยงกับบริการแกร็บไบค์ (วินมอเตอร์ไซค์) หรือจัสท์แกร็บ ซึ่งเป็นบริการรถแท็กซี่และรถรับจ้างส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการรถที่อยู่ใกล้ที่สุดในเวลารวดเร็ว
หากผู้ใช้งานประเมินการเดินทางไม่คุ้มกับเวลา สามารถเลือกใช้บริการอื่นๆ เปลี่ยนจากการเดินทางไปยังจุดหมายมาเป็นการใช้บริการอื่น ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร (แกร็บฟู้ด) ส่งสินค้า (แกร็บเอ็กซ์เพรส) บริการส่งของสด (แกร็บเฟรช) รวมถึงธุรกรรมทางการเงิน (แกร็บเพย์) ชนิดที่ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านฝ่าจราจรที่ติดขัด ผ่านแอปพลิเคชันแกร็บเพียงตัวเดียว
นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีจำนวนรถส่วนตัวและมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนกว่า 9.8 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ถนนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถส่วนตัวเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ซึ่งแกร็บมองเห็นโอกาสการเชื่อมโยงเข้าสู่บริการทริปแพลนเนอร์ เพื่อนำเสนอทางเลือกให้ผู้ใช้บริการด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาเหมาะสมแทนการใช้รถส่วนตัว
ทั้งนี้ แกร็บเริ่มเปิดตัวฟีเจอร์ทริปแพลนเนอร์ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากนั้นเปิดขยายบริการในกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์
จุดเด่นของบริการอยู่ที่ความสามารถในการวางแผนเดินทาง ดูเส้นทางการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในแต่ละขั้นตอน ตรวจสอบตารางการเดินรถของรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือ และรถโดยสารประจำทาง ในกรุงเทพฯ สามารถระบุจุดหมายปลายทางเพื่อให้ระบบนำเสนอทางเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมประมาณเวลาการเดินทางที่จะไปถึง รวมถึงทางเลือกการเดินทางอื่นๆ ทั้งที่เป็นบริการแกร็บไบค์ จัสท์แกร็บ เพียงกดเรียกใช้บริการแกร็บผ่านฟีเจอร์นี้ได้โดยตรง
แน่นอนว่า แกร็บต้องการสร้างความเชื่อมโยงบริการทั้งหมดและครอบคลุมไลฟ์สไตล์ โดยอาศัยจุดแข็งด้านบริการเกี่ยวกับการเดินทางและการขยายบริการส่งอาหาร ซึ่งเป็นบริการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก จากปัจจุบันแกร็บมีบริการแล้วใน 16 จังหวัด 18 เมือง ครอบคลุมเมืองหลักทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ร่วมขับในเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่าหมื่นร้านค้า
หากเทียบกับ “ไลน์แมน” ซึ่งเน้นให้บริการหลัก 5 บริการเช่นกัน ได้แก่ บริการสั่งอาหาร บริการแมสเซนเจอร์ บริการสั่งซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ บริการส่งพัสดุ และบริการเรียกรถแท็กซี่ โดยบริการสั่งอาหาร “ไลน์แมน” มีร้านอาหารและสตรีทฟู้ดที่เป็นพันธมิตรกว่า 40,000 ร้าน
แต่ “แกร็บ” มีจุดแข็งมากขึ้นทันที หลังจากกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาร่วมถือหุ้นเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและถือเป็นดีลการขยายโอกาสครั้งใหญ่ของทั้งสองยักษ์
ด้านหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเร่งต่อจิ๊กซอว์รองรับการพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกจากออฟไลน์สู่ออนไลน์และการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ เริ่มตั้งแต่การร่วมทุนกับอี-คอมเมิร์ซจีน “JD.com” มูลค่า 17,500 ล้านบาท ตั้งบริษัท เจดี เซ็นทรัล จำกัด เพื่อรุกตลาดอี-คอมเมิร์ซเมืองไทย ภายใต้แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส JD.co.th
จากนั้น เซ็นทรัล เจดี มันนี่ บริษัทในเครือของ เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบริการ “ดอลฟิน วอลเล็ท” (Dolfin Wallet) แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รุกเข้าสู่ธุรกิจฟินเทค และเติมเต็มด้วยการทุ่มเม็ดเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นบริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) เพื่อก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ “NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY”
ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทที่เริ่มต้นแล้ว 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการส่งอาหารจากร้านอาหารและแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ผ่านบริการ “แกร็บฟู้ด” เพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร ขนม และเครื่องดื่มให้ลูกค้าแกร็บ, บริการโลจิสติกส์ ส่งพัสดุออนดีมานด์และส่งพัสดุด่วนสำหรับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลและพาร์ตเนอร์ ผ่านบริการ “แกร็บเอ็กซ์เพรส” และบริการการเดินทางให้ลูกค้า แขกที่เข้าพักและนักท่องเที่ยว ในศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในเครือบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล
ขณะที่อีกด้านหนึ่งของแกร็บ บริษัทตั้งเป้าหมายขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยวางยุทธศาสตร์เจาะจังหวัดที่มีธุรกิจในเครือข่ายของเซ็นทรัล ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า
อย่างไรก็ตาม สมรภูมิซูเปอร์แอปมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้น นอกเหนือจากคู่แข่งหลักอย่าง “ไลน์แมน” เช่น เก็ท (GET) แอปพลิเคชันเรียกรถ ส่งของ และบริการอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักธุรกิจคนไทยและได้รับทุนสนับสนุนจาก โกเจ็ก (GO-JEK) ซูเปอร์แอปรายใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่ง “เก็ท” เริ่มต้นจากบริการแรก เรียกรถวินมอเตอร์ไซค์ (GET WIN )และบริการรับส่งของ (GET DELIVERY) ก่อนขยายไปสู่บริการอื่นๆ ตามไลฟ์สไตล์ของคนเมือง
ล่าสุด เก็ทสามารถขยายพื้นที่บริการ 50 เขตในกรุงเทพฯ หลังเปิดทดลองให้บริการกว่า 5 เดือน และเพิ่มบริการ GET FOOD (สั่งอาหาร) และ GET PAY (อีวอลเลต) ซึ่งเน้นจุดขายการเป็นทางเลือกการใช้งานสะดวกสบาย ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร และมีช่องทางเติมเงินที่เข้าถึงง่าย
ปัจจุบัน เก็ทมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกือบ 400,000 ครั้ง มีคนขับกว่า 10,000 คน และจำนวนร้านอาหารในเครือข่ายราว 20,000 ร้านอาหาร
อีกค่ายที่กำลังรุกตลาดทั่วเมือง คือ ลาลามูฟ (Lalamove) เป็นแอปพลิเคชันให้บริการรับ-ส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ตลอด 24 ชั่วโมงจากฮ่องกง มีเครือข่ายให้บริการในทวีปเอเชียและประเทศจีน รวมถึง 5 เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ไทเป และมะนิลา
สำหรับลาลามูฟเข้ามาทำตลาดประเทศไทยเมื่อปี 2557 เน้นจุดขายบริการจัดส่งเร็วหรือรวมเวลาตั้งแต่รับของไปจนถึงส่งของถึงมือผู้รับได้เร็วสุดใน 1 ชั่วโมง ซึ่งผู้บริหารลาลามูฟยืนยันเช่นกันว่า บริษัทมีแผนพัฒนาแอปพลิเคชันและฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ใหม่ๆ รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ตลาดมีความต้องการรูปแบบการขนส่งแบบออนดีมานด์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งลาลามูฟถือเป็นเบอร์หนึ่งในแง่การส่งแบบออนดีมานด์ที่ส่งเร็วที่สุดใน 1 ชั่วโมง
สงครามซูเปอร์แอปบนหน้าจอมือถือกำลังร้อนเดือดสุดๆ แล้ว