วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > DoiSter Craftstay แบรนดิ้งแบบชาวดอย เสริมความแกร่งให้การท่องเที่ยวชุมชน

DoiSter Craftstay แบรนดิ้งแบบชาวดอย เสริมความแกร่งให้การท่องเที่ยวชุมชน

การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความเร่งรีบ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างแสวงหาวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่รีบเร่ง เพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดในชีวิตประจำวัน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) หรือโฮมสเตย์ (Home Stay) ซึ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เน้นความเรียบง่ายและไม่รีบร้อน จึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญเพราะตอบโจทย์สิ่งที่คนในสังคมต้องการ และดูจะได้รับความนิยมไม่น้อย เห็นได้จากแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดและทั่วทุกภาคของเมืองไทย ซึ่งแต่ละชุมชนต่างมีเอกลักษณ์และจุดขายที่แตกต่างกันออกไป

ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีอยู่มากมายในหลายพื้นที่นี้ “บ้านห้วยตองก๊อ” ชุมชนชาวปกาเกอะญอ ที่ฝังตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่าจับตามอง เพราะดำเนินการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนมายาวนานร่วม 20 ปี อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ และพัฒนาการที่น่าสนใจ

กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ เกิดขึ้นโดยสืบเนื่องมาจากโครงการพัฒนาที่สูงไทย-เยอรมัน (TG) ที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่บ้านห้วยตองก๊อ ส่งเสริมและให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ เกษตรหมุนเวียน การเลี้ยงสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แก้ปัญหายาเสพติด และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

ภายหลังการสิ้นสุดของโครงการ ทางชุมชนได้ต่อยอดการพัฒนาดังกล่าว โดยก่อตั้ง “การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ” ขึ้นในปี 2542 เป็นการพัฒนาชุมชนโดยใช้การท่องเที่ยวมาช่วย เพื่อเผยแพร่วิถีชีวิต ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวปกาเกอะญอ สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน และทำให้การพัฒนาที่ได้ดำเนินมาเป็นไปอย่างยั่งยืน

บ้านห้วยตองก๊อตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การเดินทางค่อนข้างลำบาก ต้องลัดเลาะไปตามเทือกเขา ผ่านเส้นทางที่ทุรกันดาร ดังนั้น การเข้ามาท่องเที่ยวที่บ้านห้วยตองก๊อ ทางชุมชนจึงเน้นให้นักท่องเที่ยวมาพักแบบ “CraftStay” มีเวลามาพักคราวละหลายๆ วัน ค่อยๆ ใช้เวลาในเรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตและธรรมชาติรอบตัว

กิจกรรมท่องเที่ยวของบ้านห้วยตองก๊อเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้วิถีชาวปกาเกอะญอที่อยู่ร่วมกับป่าอย่างกลมกลืน ใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดอยู่ตามบ้าน ใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ไร้สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต อาหารการกินง่ายๆ ที่ได้มาจากพืชผักและผลิตผลภายในชุมชน

นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เรื่องไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบคนบนพี้นที่สูง ชาวบ้านปลูกข้าวในปริมาณที่เพียงพอต่อการยังชีพในแต่ละปี ได้เดินป่าศึกษาระบบนิเวศและการจัดการป่าของชุมชน เรียนรู้งานหัตถกรรมทั้งการทอผ้า จักสานเครื่องมือเครื่องใช้ การตีมีด และการรำดาบที่ผสมผสานกับการขับร้องอันเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีมาแต่โบราณของชาวปกาเกอะญอ

เดิมทีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่สนใจเรียนรู้ความหลากหลายวัฒนธรรม การบริหารจัดการกลุ่ม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะชุมชนมีการทำการตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางการสื่อสาร รวมถึงพัฒนาสินค้าชุมชนจนเป็นที่รู้จัก

“การท่องเที่ยวโดยชุมชนจะยั่งยืนและเติบโตต่อไปได้ ต้องมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ชุมชน นักท่องเที่ยวมาพักก็ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปได้ พอคนภายนอกได้เห็นผลิตภัณฑ์ของเรา มันก็จะช่วยเชื่อมโยงมายังหมู่บ้านและทำให้เขาอยากมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น” ทินกร เล่อกา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยตองก๊อ กล่าวถึงที่มาในการทำงานร่วมกับกลุ่มดอยสเตอร์ (DoiSter) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ” จนเป็นที่รู้จักในแบรนด์ “ตองก๊อแฟมิลี่” และ “DoiSter”

สำหรับกลุ่มดอยสเตอร์เองนั้น ถือเป็นนักพัฒนาอิสระที่มุ่งนำเสนอความหลากหลายของวิถีชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง หรือ “ชาวดอย” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวดอย ลดช่องว่างอันเกิดจากการแบ่งแยก โดยผ่านการสื่อสารในหลายรูปแบบ ทั้งภาพถ่าย สารคดี งานหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนประสบการณ์

กลุ่มท่องเที่ยวบ้านห้วยตองก๊อได้ร่วมกับดอยสเตอร์ในการพัฒนาผ้าทอมือที่ถือเป็นหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านให้มีเอกลักษณ์และความโดดเด่น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น โดยได้รับทุนในการวิจัยและพัฒนาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากชาวดอยเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งเสื้อผ้า ผ้าทอ แต่บางครั้งสีของผ้าและแบบที่มีอยู่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเท่าไรนัก เราจึงพัฒนาในเรื่องของสี ลวดลาย และปรับรูปทรงให้เข้ากับความต้องการของตลาดมากขึ้น” สมภพ ยี่จอหอ นักวิจัยและพัฒนาจากกลุ่มดอยสเตอร์กล่าว

จากผ้าทอมือแบบดั้งเดิม ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ได้สีที่หลากหลายและสวยงาม โดยใช้วัตถุดิบภายในชุมชน อย่าง “ตองก๊อ” ต้นปาล์มชนิดหนึ่งคล้ายต้นตาลที่มีมากบริเวณนี้จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านห้วยตองก๊อ ชาวบ้านนำใบของต้นตองก๊อมาใช้มุงหลังคา ผลนำมาใช้ย้อมผ้าซึ่งจะได้ผ้าสีน้ำตาลอ่อนสวยงาม นอกจากนี้ยังใช้เมล็ดของต้นคอคอเด๊าะมาใช้เพื่อให้ได้ผ้าทอสีฟ้า และสีกรมท่าจากมะขามป้อม เป็นต้น

ไม่เพียงแค่พัฒนาเรื่องสีจากธรรมชาติเท่านั้น ดอยสเตอร์ยังนำ “งานปักด้าย” ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของหมู่บ้านมาสร้างลวดลายบนผืนผ้าจนได้ผ้าทอมือสีธรรมชาติที่มีลายปักงดงามเป็นเอกลักษณ์ และนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในแบรนด์ “ตองก๊อแฟมิลี่” ที่มีจุดขายคือความเป็นสินค้าออร์แกนิก (organic) ไร้สารเคมีและยังผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการ

ดอยสเตอร์ยังช่วยชุมชนเรื่องการทำการตลาดทำให้ผลิตภัณฑ์ตองก๊อแฟมิลี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยการใช้สื่อออนไลน์อย่างเฟชบุ๊กรวมถึงเว็บไซต์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ สร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ (Brand Awareness) ส่วนการจัดจำหน่ายสินค้าจะเน้นการจัดจำหน่ายผ่านงานแฟร์ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับสินค้าและพูดคุยกับตัวแทนของชุมชนโดยตรง รวมถึงยังเป็นช่องทางการโปรโมตโปรแกรมการท่องเที่ยวของชุมชนอีกด้วย

ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยตองก๊อและผลิตภัณฑ์แบรนด์ตองก๊อแฟมิลี่ คือการได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวของประเทศไทยเข้าร่วมงาน International Tourism Borse 2019 (ITB 2019) ครั้งที่ 53 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานท่องเที่ยวระดับนานาชาติที่ใหญ่และสำคัญที่สุดงานหนึ่ง

การได้มีโอกาสเข้าร่วมงานครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้บ้านห้วยตองก๊อได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและถือเป็นตัววัดความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวและความพยายามในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้ดำเนินการมาอย่างดี จนแบรนด์ตองก๊อแฟมิลี่และชื่อของดอยสเตอร์เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของผู้บริโภค

“เราไม่ได้หวังแค่ว่าชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่เราทำออกมา แต่เราหวังว่าสิ่งที่เราทำนี้จะช่วยให้คนในหมู่บ้านที่เข้าไปทำมาหากินอยู่ในเมืองกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน เพราะที่นี่มีงานให้เขาทำ มีรายได้ ให้เขาได้กลับมาช่วยพัฒนาและทำให้หมู่บ้านเราเข้มแข็งมากขึ้น” เสียงจากผู้นำชุมชนที่แสดงถึงความหวังและสะท้อนความห่วงใยที่มีต่อชุมชน

หวังว่าในอนาคต “บ้านห้วยตองก๊อ” ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญแห่งนี้ จะยังคงสืบทอดและเผยแพร่วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอสู่ผู้คนในสังคมผ่านทางการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นตัวแทนของชุมชนได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป

ใส่ความเห็น