วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > CRG ทรานส์ฟอร์มชิงธงรบ ดัน “อร่อยดี” เจาะสตรีทฟู้ด

CRG ทรานส์ฟอร์มชิงธงรบ ดัน “อร่อยดี” เจาะสตรีทฟู้ด

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ออกมาประกาศเดินหน้ารุกสมรภูมิธุรกิจร้านอาหารที่มีเม็ดเงินมากกว่า 410,000 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์ Let’s Make The Jump โดยปีนี้กำหนดกลยุทธ์สำคัญ Transform from Operator to Innovator ไม่ใช่แค่การเป็น “แฟรนไชซี” แบรนด์อิมพอร์ตยักษ์ใหญ่ แต่พลิกบทบาทเข้าสู่โหมดการลุยธุรกิจแบบเต็มสูบ โดยเฉพาะแผนสร้างแบรนด์รุกเซกเมนต์ใหม่ๆ เปิดศึกหลายแนวรบ ทั้งสตรีทฟู้ด แฟรนไชส์และศึกเดลิเวอรี่ที่กำลังร้อนเดือดขีดสุด

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ “ซีอาร์จี” ระบุว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่บริษัทรุกสมรภูมิธุรกิจร้านอาหารมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจดูชะลอตัว แต่ยังคงเติบโตดีอยู่ ที่สำคัญคู่แข่งในกลุ่มฟู้ดเชนรายใหญ่กระโดดลงแข่งขันเจาะตลาดแมสมากขึ้น เพราะสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“ในอดีต ผู้คนต้องตามล่าหาอาหาร แต่ทุกวันนี้ ร้านอาหารต้องตามล่าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกรูปแบบบวกกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเลือกสรรอาหารที่มีคุณภาพ โดนๆ มากกว่าการคำนึงถึงราคาเพียงอย่างเดียว ลูกค้าคนรุ่นใหม่บางคนอาจยอมเสียค่าบริการส่งสินค้าเพื่อสั่งชานมไข่มุก 1 แก้ว เหตุผลเดียว คือ อยากกิน”

นั่นทำให้แนวรบร้านอาหารแข่งขันเชิงนวัตกรรมและช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งข้อมูลการวิจัยการตลาดเมื่อปี 2561 เกี่ยวกับภาพรวมรายได้ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารแยกตามช่องทางต่างๆ พบว่า ช่องทางการเข้ามารับประทานในร้านมีอัตราเติบโตเพียง 3% ซื้อกลับบ้าน (เทคโฮม) เติบโต 3% ช่องทางเดลิเวอรี่เติบโต 18% และบริการไดรฟ์ทรูเติบโตสูงสุด 27%

ขณะที่ปีนี้มีแนวโน้มว่า บริการเดลิเวอรี่ ทั้งการสั่งผ่านคอลเซ็นเตอร์ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันจะเติบโตสูงจากสถานการณ์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่กระโดดเข้าแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่ง ความนิยมของกลุ่มลูกค้าจากความสะดวกรวดเร็วและจำนวนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ดูได้จากช่วงเกิดวิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ยอดขายสินค้าและบริการในช่องทางเดลิเวอรี่เติบโตเกือบทุกกลุ่มสินค้า

นายณัฐคาดการณ์อีกว่า ตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปี 2562 จะขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี จากการเร่งขยายสาขาของผู้เล่นทุกค่ายและการเข้ามาเปิดร้านอาหารของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food chain restaurant) ที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างงัดกลยุทธ์การแข่งขันเชิงรุกอย่างร้อนแรง เพื่อเจาะตลาดหวังขยายฐานลูกค้าทุกเซกเมนต์ ซึ่งซีอาร์จีเตรียมงัดหมัดเด็ดตอกย้ำการพัฒนานวัตกรรม หวังเติบโตแบบก้าวกระโดด เน้นกลยุทธ์ Transform from Operator to Innovator–นอกเหนือจากการเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์แล้ว ยังมุ่งมั่นพัฒนาแบรนด์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนา new product line เพื่อสร้างยอดขาย และเพิ่มโอกาสการบริโภคใหม่ๆ และพัฒนารูปแบบร้านค้า ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

เช่น การสร้างโมเดลร้านค้าขนาดเล็กสไตล์คาเฟ่และร้านสไตล์ Mobile unit ที่เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้นและเคลื่อนย้ายตามจุดทำเลที่มีศักยภาพได้ตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาแบรนด์ และการมีแบรนด์ของตัวเอง

ปัจจุบันซีอาร์จีมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือรวม 11 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้แอนส์, เปปเปอร์ลันช์, ชาบูตง, โคลสโตน ครีมเมอรี่, เดอะเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ และคัตสึยะ

ซึ่งตามแผนตั้งเป้าผลักดันรายได้ปี 2562 อยู่ที่ 13,400 ล้านบาท เติบโต 12% จากปี 2561 ที่เติบโต 10% และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเซกเมนต์ร้านอาหารเครือข่ายหรือ Food Chain ที่มีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 9% โดยเร่งขยายสาขาครบ 1,000 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขามากกว่า 960 แห่ง ขยายช่องทางเดลิเวอรี่และเร่งสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ล่าสุด เปิดตัวร้านอาหาร 2 แบรนด์ใหม่ คือ “อร่อยดี” (Aroi Dee) และ “สุกี้เฮาส์” (Suki House) เพื่อเจาะกลุ่มสตรีทฟู้ดและตลาดแมสมากขึ้น โดยร้านอร่อยดี เป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่งที่มีจุดขาย เน้นความสะอาด สดจากเตา เย็นสบายและราคาที่เข้าถึงได้ นำเสนออาหารที่พัฒนาสูตรเฉพาะจากเชฟมากประสบการณ์ของซีอาร์จี เช่น เมนูข้าวไข่ข้น ข้าวกระเพราไก่สับ-ไข่กรอบ เส้นจันทน์ผัดไทย ราคาเริ่มต้น 59 บาท ซึ่งลูกค้าสามารถรับประทานที่ร้าน สั่งกลับบ้านหรือใช้บริการเดลิเวอรี่ได้

ณ วันนี้ ร้านอร่อยดีเปิดแล้ว 3 สาขาที่สีลมซอย 32, ปั๊มน้ำมัน ปตท. สายไหม, ไทวัสดุ บางนา และมีแผนขยายอย่างน้อย 10 สาขา

ส่วน “สุกี้เฮาส์” เป็นแบรนด์ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาดร้านสุกี้ เน้นบรรยากาศความสนุกสนานให้กลุ่มลูกค้า เพื่อฉีกแนวการกินสุกี้แบบเดิมๆ โดยจะเผยโฉมสาขาแรกในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนั้น มีแผนเปิดแบรนด์ใหม่อย่างน้อยอีก 2-3 แบรนด์ ทั้งการซื้อกิจการและจับมือกับพาร์ตเนอร์รายย่อยสร้างกิจการร้านอาหารแนวใหม่ๆ

กระนั้นก็ตาม สตรีทฟู้ดเริ่มเป็นแนวรบใหม่ที่กลุ่มฟู้ดเชนรายใหญ่กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นมากขึ้น เนื่องจากสอดรับกับเทรนด์การบริโภคในตลาดแมส ราคาเหมาะกับยุคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขนาดร้านง่ายต่อการขยายในย่านชุมชนและกลุ่มผู้บริโภคถือเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่

อย่างกลุ่มเซ็น คอร์ปอเรชั่น เพิ่งนำร่อง 2 แบรนด์น้องใหม่ คือ ร้านอาหารไทย “เขียง” และร้านอาหารญี่ปุ่น “มูชะ” ในรูปแบบสาขา “Micro Format” ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก เมนูอาหารไม่ซับซ้อน และใช้เงินลงทุนไม่สูง ง่ายต่อการขยายสาขาและขายสิทธิ์แฟรนไชส์ โดยร้านเขียงเปิดแล้ว 2 สาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ นนทบุรี และปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาเกษตรนวมินทร์ ซึ่งเซ็นต้องการปลุกปั้นร้านเขียงหัวหอกเจาะกลุ่มสตรีทฟู้ด เน้นทำเลในปั๊มน้ำมัน ราคาอาหารเฉลี่ยมื้อละไม่เกิน 100 บาท เหมาะกับกลุ่มลูกค้าวัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว นักเรียน นักศึกษา นักเดินทางที่ต้องการรับประทานอาหารแบบเร่งด่วน สบายๆ และมีคุณภาพ เพราะใช้วัตถุดิบต่างจากสตรีทฟู้ดทั่วไป เช่น เมนูประเภทข้าวใช้ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ข้าวมีกลิ่นหอมและนุ่ม

ด้าน “มูชะ” เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ คอนเซ็ปต์ ร้านข้าวสไตล์ญี่ปุ่น ใช้ข้าวญี่ปุ่นแท้และมีเมนูให้เลือกเกือบ 50 เมนู พร้อมจุดขายพิเศษ คือ เติมข้าวได้ไม่อั้น ปรุงสด หน้าล้น และไม่คิดค่าบริการ 10% ราคาเริ่มต้น 95 บาท เช่น ข้าวหน้าไก่ ข้าวหน้าไข่ข้นเบคอนปูอัด ข้าวแกงกะหรี่คอหมูย่างไข่ข้น รวมทั้งมีเมนูญี่ปุ่นอื่นๆ ด้วย เช่น สลัดเบคอนกรอบ อุด้งต้มยำไก่ทอด มุฉะชิสซี่ เน้นจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน กลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ที่นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่น และเป็นอาหารญี่ปุ่นสไตล์ “ควิกมีล” จานด่วน

สำหรับมูชะเปิดให้บริการแล้ว 4 สาขา ในห้างบิ๊กซี นครปฐม ห้างแหลมทอง บางแสน เมเจอร์รัชโยธิน และแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งขยายสาขาในปั๊มน้ำมันในรูปแบบไมโครฟอร์แมตเช่นกัน

หากเทียบกลยุทธ์ของทั้งสองค่ายดูเหมือนว่า ทั้งซีอาร์จีและเซ็น ต่างต้องการใช้สตรีทฟู้ดเป็นจุดขายรุกบริการเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะกลุ่มซีอาร์จีงัดโมเดล Multi-brand Delivery เต็มรูปแบบ ต่อยอดจากคอลเซ็นเตอร์ “1312” สู่ช่องทางออมนิแชนแนลด้วยแอปพลิเคชั่น “CRG 1312” ให้ลูกค้าสั่งอาหาร และจองร้านอาหารในเครือในแอปเดียว เสียค่าบริการครั้งเดียวตามระยะทาง ทั้งร้านอาหารในเครือ นอกเครือและสตรีทฟู้ดชื่อดัง โดยมีพันธมิตรด้านการขนส่งรายใหญ่อย่าง Grab Food, Line Man และ Food Panda ให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ เตรียมพัฒนาฟอร์แมตใหม่ Online Virtual Stores รวมแบรนด์ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ดชื่อดัง เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในตลาด โดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นได้ และวางแผนเปิดแพลตฟอร์มใหม่ Hub Model รวมแบรนด์ร้านอาหารในพื้นที่เดียวที่ไม่ใหญ่มาก เน้นบริการเดลิเวอรี่มากกว่านั่งรับประทานในร้าน เพื่อสร้างจุดขายแข่งขันกับฟู้ดเชนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไมเนอร์ฟู้ด “1112” โออิชิ “1773” เอ็มเค “1642” ไม่รวมกลุ่มฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหารสตรีทฟู้ดรายใหญ่อีกหลากหลายแบรนด์

น่าจับตาว่า การออกตัวอย่างแรงของซีอาร์จี โดยเฉพาะเกมทรานส์ฟอร์มลั่นกลองรบรอบนี้จะโดนใจตลาดแมสได้หรือไม่ เพราะโฉมหน้าคู่แข่งแต่ละรายล้วนยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น!!

ใส่ความเห็น