สงครามทีวีดิจิทัลยิ่งร้อนระอุ หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางแนวทาง ทั้ง “ช่วยเหลือ” และ “เยียวยา” ทั้งสนับสนุนค่าภาระ Must Carry และค่าใช้จ่ายการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (Mux) ร้อยละ 50 จนถึงปี 2565 ผลักดันการสำรวจความนิยม (Rating) ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัลที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่ออ้างอิงหารายได้อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะแผนเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ของทีวีดิจิทัล เพื่อนำเงินประมูลมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้เกิดการพลิกฟื้นธุรกิจครั้งใหญ่
ความเคลื่อนไหวที่เห็นชัดเจน คือ การเสริมจุดแข็งด้านคอนเทนต์และขยายฐานผู้ดู เพื่อเพิ่มเรตติ้งและดูดโฆษณา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินรายได้ที่สำคัญของช่องทีวีค่ายต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ช่วงปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาที่ส่งผ่านสื่อต่างๆ มีมูลค่ารวม 1.05 แสนล้านบาท เติบโต 3.9% ประกอบด้วย สื่อทีวี 6.79 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.05% สื่อเคเบิล-ทีวีดาวเทียม 2,434 ล้านบาท ติดลบ 16.44% สื่อวิทยุ 4,802 ล้านบาท เติบโต 7.28% สื่อหนังสือพิมพ์ 6,100 ล้านบาท ติดลบ 20.84% สื่อนิตยสาร 1,315 ล้านบาท ติดลบ 33.65% สื่อในโรงภาพยนตร์ 7,312 ล้านบาท เติบโต 7.28% ป้ายโฆษณากลางแจ้ง 6,833 ล้านบาท เติบโต 7.03% สื่อเคลื่อนที่ 6,067 ล้านบาท เติบโต 3.25% สื่อ ณ จุดขาย 1,054 ล้านบาท เติบโต 11.42% สื่ออินเทอร์เน็ต 1,605 ล้านบาท เติบโต 6.08% โดยสื่อทีวียังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและใช้เม็ดเงินสูงสุด
ขณะที่ผลการจัดอันดับความนิยมหรือเรตติ้งทีวีดิจิทัลล่าสุด (21-27 มกราคม 2562) พบว่า ช่อง 7 HD ยังคงคว้าแชมป์เรตติ้งสูงสุด รองลงมา ได้แก่ ช่อง 3 HD โดยรายการที่กระแสดีต่อเนื่องและสร้างเรตติ้งยาวนาน คือ ศึก 12 ราศี ส่วนช่องโมโน 29 รั้งอันดับ 3
นางปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท มายด์แชร์ คาดการณ์แนวโน้มการใช้เงินโฆษณาในปี 2562 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2561 มูลค่าราว 124,000 ล้านบาท เป็นผลจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค นโยบายภาครัฐและการเลือกตั้งที่ส่งผลให้ตลาดคึกคัก โดยสัดส่วนหลักของเงินโฆษณาเริ่มขยายเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นจาก 12.6%ในปีที่ผ่านมา เป็น 14% ในปีนี้ และจะเติบโตเป็น 20% ใน 3-5 ปี ขณะที่แพลตฟอร์มออฟไลน์ ทีวียังเป็นสื่อในการใช้เงินโฆษณา 60% และสื่อโฆษณานอกบ้าน เช่น บิลบอร์ด อยู่ที่ 12%
สำหรับกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะใช้เงินซื้อสื่อโฆษณาสูงสุดในปี 2562 อันดับ 1 ยูนิลีเวอร์ แนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.3% จากมูลค่าปีก่อน 3,799 ล้านบาท 2. ไลฟ์สตาร์ เพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน 2,547 ล้านบาท 3.พีแอนด์จี เพิ่มขึ้น 25.6% จากปีก่อน 2,458 ล้านบาท 4. ทีวีไดเร็ค เพิ่มขึ้น 136.7% จากปีก่อน 2,085 ล้านบาท 5. โตโยต้า เพิ่มขึ้น 0.1% จากปีก่อน 1,944 ล้านบาท
6. โค้ก เพิ่มขึ้น 14.5% จากปีก่อน 1,541 ล้านบาท 7. เอไอเอส เพิ่มขึ้น 24.1% จากปีก่อน 1,391 ล้านบาท 8. อีซูซุ ลดลง 1.1% จากปีก่อน 1,354 ล้านบาท 9. ลอรีอัล เพิ่มขึ้น 25.1% จากปีก่อน 1,324 ล้านบาท และ 10. เนสท์เล่ เพิ่มขึ้น 9.1% จากปีก่อน 1,153 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ผ่านมาเริ่มเผยแผนธุรกิจประจำปี 2562 ส่วนใหญ่พุ่งเป้าเน้นจุดขายด้านรายการข่าวรับสถานการณ์ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม และการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เช่น ช่อง 7 HD เน้นนำเสนอข่าวแบบรายงานสดและเกาะติดกระแสโลกโซเชียลมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มเวลา 3 รายการข่าว ได้แก่ รายการข่าว 7 สี สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ และข่าวดึก 7HD
ช่อง 3 เกาะติดรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งและเพิ่มเวลาออกอากาศของรายการ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกับ ททบ.5 เพิ่มสัดส่วนรายการข่าวจาก 40% เป็น 50%
MCOT HD เน้นการบูรณาการ content สู่ธุรกิจฐานข้อมูล ภายใต้แนวคิด The Difference โดยจับมือพันธมิตรระดับโลก เช่น BBC First นำเสนอ Drama series เช่น Luther, Press, MC Mafia จับมือกับ Bloomberg business TV และ Discovery science นำเสนอสารคดีวิทยาศาสตร์ และข่าวการเงินและเศรษฐกิจระดับโลก
ด้านบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล หรือช่อง GMM25 เตรียมเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์เกือบ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% เพื่อผลิตละคร ซีรีส์ และรายการ Entertainment Variety นอกจากนี้ จับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตสร้างความแข็งแกร่งและหลากหลายเป็น HUB OF CREATORS แบ่งการดำเนินงาน 3 เฟส
เฟสแรกเสริมความแข็งแกร่งช่วง Day Time เน้นรายการข่าว และรายการ Entertainment Variety
เฟส 2 Music Content มุ่งเน้นรายการฟอร์แมตใหม่และรายการฟอร์แมตระดับโลก อาทิ Stage Fighter, ไมค์คู่ สู้ ฟัด, Lip Sync Battle Thailand, Hotwave Music Awards 2019 และเฟส 3 Drama and Series ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของทุกวัน
เป้าหมายของจีเอ็มเอ็มแชนแนล คือ โกยเรตติ้งเพิ่มขึ้น 100% และก้าวขึ้นมาเป็นช่อง TOP 10 ได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 35% จากปี 2561 โดยรายได้หลักจะมาจากค่าโฆษณาและค่าเช่าเวลาประมาณ 70% และค่าขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในช่องทางออนไลน์และต่างประเทศอีก 30%”
ส่วนช่อง PPTV ของกลุ่ม “ปราสาททองโอสถ” ซึ่งตั้งเป้าหมายเป็นช่องวาไรตี้ผสมผสานความเป็นช่อง 3 ช่อง 7 ทั้งรายการเดอะว้อยซ์ เดอะเฟซเมน วาไรตี้ กิ๊กดู๋ และเตรียมส่งละครชิงเรตติ้ง เพื่อเสริมคอนเทนต์กีฬาที่ถือเป็นจุดแข็งของพีพีทีวีอยู่แล้ว
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันธุรกิจดิจิตอลทีวีในปีนี้ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งช่อง 8 ของอาร์เอสยังตอกย้ำสโลแกน “ใครๆ ก็ดูช่อง 8” เพิ่มความเข้มข้นของ Content & Event & Advertising เป็นหัวหอกหลักขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น และเสริมความแข็งแกร่งคอนเทนต์ข่าว แบบเจาะลึกมากยิ่งขึ้น โดยรายงานทุกช่วงเวลาในรายการคุยข่าวเช้าและรายการข่าวอื่นๆ ผลิตรายการวาไรตี้ใหม่ๆ เจาะกลุ่มครอบครัวมากขึ้น และส่งรายการใหม่ “ทีเด็ดแม่บ้าน” รวมถึงรายการ “มวยไทย Super Champ” ซึ่งครองใจคอมวยยาวนาน 4 ปี
ที่สำคัญ ฐานผู้ชมช่อง 8 เฉลี่ย 13 ล้านคน/วัน หรือเฉลี่ย 3.1-3.4 แสนคน/นาที ซึ่งมีกว่า 1.1 แสนคน ที่เปลี่ยนจากกลุ่มคนดูเป็นกลุ่มลูกค้าซื้อสินค้าในเครือถึง 70% ยอดจับจ่ายต่อครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ใหม่ก้อนใหญ่ของอาร์เอส
ล่าสุด ช่อง 8 เพิ่มช่วง “คุยข่าวการเมือง” เวลา 08.00-08.30 น. ของรายการคุยข่าวเช้า และช่วงเวลา 15.15-15.30 น. ในช่วงรายการคุยข่าวเย็น ของทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ในจังหวะเวลาก่อนการเลือกตั้ง โดยได้ผู้ประกาศข่าว นายธีระ ธัญญอนันต์ผล เข้ามาร่วมงานเป็นครั้งแรกกับช่อง 8 เพื่อเสริมทีมผู้ประกาศ ตั้งเป้าหมายดึงเรตติ้งเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 15 ล้านคนในสิ้นปีนี้
ต้องยอมรับว่า เส้นทางทีวีดิจิทัลเจอวิบากกรรมหลายรอบยาวนานเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2543 โดยมีคณะทำงานซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งโทรทัศน์เช่น อสมท, กรมประชาสัมพันธ์, ITV และ UBC ติดตั้งเครื่องส่งที่อาคารใบหยก 2 ทำการทดลองออกอากาศที่ช่อง 47 ความถี่ 678–686 MHz โดยใช้เครื่องส่งที่มีกำลังส่ง 250 Watt
เพราะนับจากนั้นมาไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมเพื่อออกอากาศทีวิดิจิทัลในวงกว้าง เนื่องจากติดประเด็นข้อกฎหมาย โดยก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 การขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ทำได้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานการศึกษาเท่านั้น จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้ตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติหรือ กสช.” แต่ด้วยเป็นเรื่องใหม่และภาวะทางการเมือง การกลัวการเสียผลประโยชน์เชิงธุรกิจทำให้เกิดการร้องคัดค้านกระบวนการสรรหามากมาย
จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช. ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในปี 2553
ปี 2555 จึงมีการแต่งตั้งอนุกรรมการการเปลี่ยนไปสู่ระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และวางแนวทางการวางโครงข่ายการส่งสัญญาณ เพื่อให้ผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจิทัลไม่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอง เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุน ซึ่งหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงจัดทำแผนแม่บท ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เริ่มต้นกระบวนการทีวีดิจิทัลในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
การทดลองออกอากาศจึงเริ่มอีกครั้งช่วงต้นปี 2556 ซึ่งระหว่างนั้นเข้าสู่กระบวนการร่างข้อกำหนดต่างๆ และจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ จนได้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเชิงธุรกิจถึงปัจจุบัน จำนวน 22 ช่อง
ระยะเวลากว่า 6 ปี กิจการทีวีดิจิทัลล้มลุกคลุกคลานจากเงื่อนไขต่างๆ ต้นทุนการดำเนินงาน และเป้าหมายรายได้ที่ไม่เป็นไปตามคาด จนมีการขอคืนใบอนุญาต มีการฟ้องร้อง และประสบภาวะขาดทุน
ดังนั้น ปี 2562 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อภาครัฐตัดสินใจออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ฝั่งภาคธุรกิจจะงัดกลยุทธ์จัดเต็ม เพื่อผลักดันทีวีดิจิทัลไปต่อได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ฝีมืออย่างแท้จริง