Column: Women in wonderland
Brexit มาจากคำว่า Britain คือประเทศสหราชอาณาจักร รวมกับคำว่า exit ซึ่งหมายถึง ออกหรือจากไป ดังนั้น คำว่า Brexit หมายถึง ประเทศสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU)
โดยเมื่อ 23 มิถุนายน 2016 คนอังกฤษลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรจะเป็นสมาชิกของ EU ต่อหรือควรออกจากการเป็นสมาชิก EU ผลปรากฏว่า คนอังกฤษตัดสินใจให้รัฐบาลนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU ด้วยผลโหวต 51.9% หรือประมาณ 17.4 ล้านคน ในขณะที่ผลโหวตให้สหราชอาณาจักรอยู่เป็นสมาชิก EU ต่อไป 48.1% หรือประมาณ 16.1 ล้านคน
การที่คนอังกฤษตัดสินใจที่จะออกจาก EU หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เนื่องจากคนอังกฤษถกเถียงเรื่องนี้มานาน เพราะคนอังกฤษมีความเป็นชาตินิยมสูง มองประเทศตัวเองว่าเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ และเป็นประเทศมหาอำนาจเหมือนกับเยอรมนีและฝรั่งเศส แต่การที่สหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกของ EU ทำให้บทบาทของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปลดน้อยลงเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับ EU ปีละ 8,800 ล้านปอนด์ แต่สหราชอาณาจักรก็ยังคงถูกลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมักจะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยและแพ้โหวต เพราะฝรั่งเศสและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอดมักจะจับมือร่วมกันในการออกเสียงแก้ปัญหาภายในของสหภาพยุโรปทุกครั้ง ทำให้ 2 ประเทศนี้มักชนะโหวต
แน่นอนว่าเมื่อสหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกของ EU แล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากผลโหวตออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความผันผวนของตลาดเงินทุนและตลาดค้าทองคำ เพราะนักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตกับสหราชอาณาจักร รวมไปถึงค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
แผนการของสหราชอาณาจักรในการออกจากการเป็นสมาชิกของ EU นั้นมีกำหนดที่จะถอนตัวออกในวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลอังกฤษก็ยังไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิก EU ในรูปแบบใด เพราะกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับ EU ไม่ได้เป็นไปด้วยความราบรื่นนัก ขณะเดียวกันรัฐบาลอังกฤษเองก็ยังคงมีข้อขัดแย้งและหาข้อตกลงที่แน่ชัดไม่ได้
เพื่อให้กระบวนการ Brexit เสร็จสิ้นและบรรลุข้อตกลงทั้งหมดก่อนวันที่ 29 มีนาคม 2019 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Theresa May จำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนว่า สหราชอาณาจักรจะขอถอนตัวในรูปแบบไหน ซึ่ง Theresa May ได้กำหนดวันลงมติไว้เป็นวันที่ 15 มกราคม 2019 และผลปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติคัดค้านข้อตกลง Brexit ที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอด้วยคะแนนเสียง 434 คะแนน ต่อ 202 คะแนน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Brexit ยังไม่สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ คือ (1) ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาของสหราชอาณาจักรยังไม่มีความแน่ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะดำเนินไปในทิศทางใดหลัง Brexit ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ทางเลือกคือ
• Hard Brexit ตัดสัมพันธ์กับ EU อย่างชัดเจน หรือออกมาโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น
• Soft Brexit ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ EU และยังคงใช้กฎเกณฑ์หลายๆ อย่างของสหภาพยุโรปอยู่
• No Brexit at all มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนเรียกร้องให้ประชาชนมีการลงประชามติครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันว่าต้องการออกจาก EU จริงๆ
(2) ปัญหาจำนวนคนเข้าเมือง สาเหตุหนึ่งที่สหราชอาณาจักรต้องการออกจาก EU ก็เพื่อลดจำนวนพลเมืองของ EU ที่เข้ามาอาศัยและหางานทำในสหราชอาณาจักร ซึ่งแน่นอนว่าหลังจาก Brexit แล้วพลเมืองของสหราชอาณาจักรก็จะถูกลดจำนวนและถูกตรวจตราอย่างเข้มงวดเมื่อเดินทางเข้า EU เช่นกัน
และ (3) ปัญหาเรื่องพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ แน่นอนว่าในตอนนี้ทั้งสองประเทศไม่มีด่านตรวจพรมแดนเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป แต่ถ้าสหราชอาณาจักรออกจาก EU แน่นอนว่าจะต้องมีการตั้งด่านตรวจตราสินค้าที่ผ่านพรมแดนของทั้งสองประเทศ และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Brexit ยังตกลงกันไม่ได้ในขณะนี้ เนื่องจากข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรี Theresa May นำเสนอคือ หลังจาก Brexit แล้ว สหราชอาณาจักรจะยังคงยึดกฎ EU โดยเฉพาะกฎของสหภาพศุลกากร โดยไม่มีสิทธิ์ในการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น
จากปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้ข้อสรุป ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้มากว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2019 ใกล้มาถึง สหราชอาณาจักรน่าจะมีโอกาสสูงที่จะได้ออกจากการเป็นสมาชิกของ EU แบบ Hard Brexit หรือ No-deal Brexit ซึ่งถ้าหากทางเลือกนี้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่จะได้รับผลกระทบ แต่ผู้หญิงอังกฤษเองก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
3 ปัญหาใหญ่ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อผู้หญิงโดยตรงเมื่อเกิด Hard Brexit หรือ No-deal Brexit คือ (1) สิทธิของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรจะลดลง ทุกวันนี้ EU มีบทบาทสำคัญในสหราชอาณาจักรในการผลักดันความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยให้ผู้หญิงได้รับการจ่ายเงินเดือนที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ได้รับวันลาคลอดและความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างสมเหตุสมผล ถ้าหากสหราชอาณาจักรออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลงใดๆ ก็หมายความว่าสิทธิต่างๆ เหล่านี้ของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกกฎหมายมาในลักษณะใด โดยที่ไม่มีกฎหมายของ EU คอยปกป้องและกำชับอีกที
ปัจจุบัน EU ยังเดินหน้าผ่านกฎหมายที่จะจ่ายเงินให้กับมารดาให้ลาคลอดได้นานขึ้นและยังคงได้รับเงินเดือนอยู่ และยังคงมีการปรับแก้กฎหมายในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงให้มีโทษที่รุนแรงขึ้น ซึ่งถ้าสหราชอาณาจักรออกจาก EU แล้วก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องปรับแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับ EU อีกต่อไป ซึ่งผู้ที่เสียประโยชน์ในเรื่องนี้ก็คือผู้หญิงอังกฤษ
(2) ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรจะเผชิญกับการตกงานสูงและอาจจะไม่มีเงินมาจุนเจือครอบครัว แน่นอนว่าหลังจากที่ Brexit เกิดขึ้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ การที่เศรษฐกิจจะถดถอย และนี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคนกลุ่มน้อย เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทส่วนใหญ่จะปลดพนักงานออก หรือทุกครอบครัวจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ค่าพี่เลี้ยงเด็ก ดังนั้น ผู้หญิงซึ่งในปัจจุบันได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายถึง 18.1% แล้วก็ยังจะตกงานเพิ่มขึ้นไปอีก Women’s Budget Group ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มแล้วว่า ถึงแม้สหราชอาณาจักรจะเลือก Soft Brexit ในนาทีสุดท้าย ก็ยังคงจะมีผู้หญิงมากกว่า 1 ล้านคนที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะตกงาน
(3) ปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้หญิง เมื่อพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือยังไม่มีข้อตกลงและมีแนวโน้มว่าจะมีการกั้นพรมแดนเกิดขึ้น จะทำให้ผู้หญิงในไอร์แลนด์เหนือข้ามมาอังกฤษเพื่อทำแท้งได้ยากมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่มีการตรวจตราสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศนี้ นั่นหมายความว่าทุกอย่างจะต้องถูกตรวจและใช้เวลาข้ามผ่านแดนมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรคได้
แน่นอนว่าผู้หญิงในไอร์แลนด์เหนือที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงและถูกควบคุมโดยสามีแทบตลอดเวลา จะไม่สามารถเดินทางมาทำแท้งหรือมารักษาที่อังกฤษได้เหมือนเดิม เพราะขั้นตอนการผ่านพรมแดนต่างๆ จะยุ่งยากมากขึ้น
นอกจากนี้ อีกปัญหาที่จะตามมาคือ National Health Service ของสหราชอาณาจักรนั้น คนที่ทำงานที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และผู้ที่ไปใช้บริการเพื่อขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ดังนั้นหลังจาก Brexit ขึ้นมา พนักงานใน National Health Service จะหายไปจำนวนมาก เนื่องจากทุกวันนี้คนที่ทำงานที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจาก EU เพราะคนในสหราชอาณาจักรด้านการแพทย์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และถ้าหากเศรษฐกิจตกต่ำในสหราชอาณาจักรมาก ก็อาจส่งผลให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง มีคนบริจาคเงินน้อยลง และสุดท้ายก็จำเป็นที่จะต้องลดพนักงานที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงกว่าเดิม หรืออาจตัดการให้บริการทางการแพทย์บางอย่างออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนั้น คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้หญิง
อีกหนึ่งปัญหาที่จะตามมาคือ มียาหลายประเภทที่ผลิตในสหภาพยุโรปรวมถึงยาคุมกำเนิดด้วย ถ้าหากสหราชอาณาจักรไม่มีการทำข้อตกลงกับ EU เกี่ยวกับเรื่องตัวยาต่างๆ ก็อาจจะทำให้ยาเหล่านี้ขาดตลาดในสหราชอาณาจักรได้ และแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้หญิง
นับจากวันนี้เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงวันที่ 29 มีนาคม 2019 คงต้องรอดูว่าสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจอย่างไรกับทางเลือกในการออกจากการเป็นสมาชิกของ EU หรือจะขอต่อเวลาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ข้อตกลงที่พอใจ แต่ไม่ว่ารัฐบาลของสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจอย่างไร Brexit ก็จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ต่อผู้หญิงในสหราชอาณาจักรอย่างแน่นอน
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/brexit-1634032