วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > บทเรียนจากฝุ่นพิษ ถึงเวลาพลังงานสะอาด?

บทเรียนจากฝุ่นพิษ ถึงเวลาพลังงานสะอาด?

คนไทยเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยความอึมครึมอยู่ไม่น้อย ทั้งสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่กระจ่างชัด สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดูดีเพียงตัวเลขในรายงานสรุปผลประจำปี และการคาดการณ์ในแนวบวกไว้ล่วงหน้า

แต่ที่สร้างความหวั่นวิตกให้ประชาชนคนไทยในห้วงยามนี้ เห็นจะเป็นปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางสังคมให้หลายฝ่ายได้ถกเถียงกันว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนแล้วนั้น เข้าขั้น “วิกฤต” หรือยัง

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ปรากฏเป็นภาพชัดตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น มีข้อเท็จจริงบางประการที่อาจถูกลืมเลือนหรือเพิกเฉย นั่นคือปัญหาฝุ่นพิษนั้นเคยเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของไทยมาก่อนหน้า โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

ทว่า ปี พ.ศ.2562 ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 กลับฉายภาพชัดเจนมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากภาครัฐได้ทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 โดยในปีนี้มีการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 30 จุด ขณะที่ปีที่ผ่านมามีการติดตั้งไปเพียง 4 จุดเท่านั้น

และตัวเลขจากเครื่องวัดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 เป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ อันนำมาซึ่งความตื่นตระหนก ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้น น่าจะมาจากการละเลยที่จะใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศของทุกฝ่าย

ฝุ่น PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาวัชพืชทางการเกษตรในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า ปฏิกิริยาทางเคมีในอากาศ

แม้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐในเบื้องต้นจะอยู่ที่ปลายเหตุเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการฉีดน้ำเพื่อหวังลดค่าฝุ่น PM2.5 การทำฝนหลวง หรือการเสนอแนวความคิดที่จะให้รถยนต์วิ่งวันคู่วันคี่ ทั้งหมดทั้งมวลดูจะห่างไกลจากคำว่า “การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” มากนัก

แน่นอนว่า การหวังพึ่งพาแนวทางการแก้ปัญหาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก เมื่อประชาชนทุกคนล้วนแต่มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นล้วนแต่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น

กระนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอาจต้องใช้เวลา ทั้งการสนับสนุนให้ใช้น้ำมัน B20 ซึ่งสถานีน้ำมันบางแห่งเริ่มดีเดย์ขายตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ หรือการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่มีการเผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันมาตรฐานยูโร 3 ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมีค่ากำมะถันสูงและปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

หลายประเทศที่เคยประสบปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้นั้น ถึงขั้นออกกฎหมาย Clean Air Act หรือกฎหมายอากาศสะอาด

ซึ่ง Clean Air Act อาจทำให้ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสะดุดลงได้ เพราะกฎหมาย Clean Air Act เป็นกฎหมายที่จะบังคับใช้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะ Conflict กับเป้าประสงค์ของภาครัฐของไทย ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมไทย

การแสดงท่าทีเพิกเฉยของภาครัฐ อาจมีความหมายอีกแง่ที่ว่า สวัสดิภาพของคนไทยโดยเฉพาะประเด็นต่อสุขภาพ มีความสำคัญน้อยกว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเม็ดเงินที่จะมาพร้อมนักลงทุน

ทั้งการสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้น้ำมัน B20 การให้โรงกลั่นหันมาพัฒนาน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือไปจนถึงการออกกฎหมาย Clean Air Act ล้วนแล้วแต่ยังผลอันยั่งยืนในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ทั้งสิ้น

กระนั้นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การใช้ช่วงเวลาวิกฤตนี้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ที่ครั้งหนึ่ง ภาครัฐให้คำนิยามว่า “นโยบายพลังงานทดแทน เพื่อความมั่นคงของชาติ”

ทั้งการสนับสนุนค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาด การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ แทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวหลายประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และเคยประสบปัญหาเฉกเช่นที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าพลังงานจากถ่านหิน นั่นเพราะประเทศเหล่านี้เล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนของเขาเป็นหลัก

ทว่า มีความจริงอีกประการที่น่าเจ็บปวด ต่อเรื่องนโยบายพลังงานสะอาดของไทย คือ หลังรัฐบาลประกาศใช้นโยบายพลังงานสะอาด นักลงทุนที่มีความชำนาญต่างเร่งเครื่องเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน กลับต้องสะดุดลง ทั้งที่บางบริษัททุ่มงบประมาณลงทุนไปแล้ว เมื่อวันเลวคืนร้าย กระทรวงพลังงานออกประกาศว่าจะชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2561-2565 จากสาเหตุกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ และต้องการยืดเวลาในการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ให้ครบถ้วน

ครั้งหนึ่งกระทรวงพลังงานเคยประกาศแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (AEDP2015) ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ และเพื่อวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล

กระนั้น มีความย้อนแย้งปรากฏเมื่อมีความพยายามที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในบางพื้นที่ของไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งานในช่วง High Season ในพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว

ถึงแม้ว่าเวลานี้สถานการณ์มลพิษ ฝุ่น PM2.5 จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นจนหลายฝ่ายเริ่มพอใจ แต่หมอกควันก็ยังคงเป็นหมอกควัน มองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่ หรือหมดไปแล้ว

และแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะถูกนำมาปฏิบัติจริงเมื่อไรนั้นก็ไม่อาจคาดเดา เมื่อนโยบายของภาครัฐที่ดูเหมือนแน่นอนกลับหาใช่ความแน่นอนไม่ สวัสดิภาพของประชาชนคนไทยจะต้องฝากเอาไว้ในมือใคร

หรือคนไทยต้องยอมรับว่า ยังไม่ถึงเวลาของพลังงานสะอาดจริงๆ เสียที

ใส่ความเห็น