Column: Well – Being
คุณเคยรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่คุณรับประทานสามารถส่งผลต่ออารมณ์และโรควิตกกังวลของคุณได้เช่นกัน ดังที่นิตยสาร Prevention :Relieve Anxiety Naturally แจกแจงดังนี้
พาสต้า
คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดขาว เช่น พาสต้าสีขาว ขนมปังขาว โดนัท ลูกกวาด และเครื่องดื่มใส่น้ำตาล สามารถทำลายอารมณ์ของคุณด้วยการทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพบว่า ยิ่งผู้หญิงที่บริโภคน้ำตาลและธัญพืชขัดขาวแล้วมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันยังพบด้วยว่า หนูที่เลี้ยงด้วยอาหารรสหวานจะมีอาการตื่นตระหนกและวิตกกังวลเมื่อดึงน้ำตาลออกจากอาหาร ซึ่งคล้ายกับประสบการณ์ของคนเมื่อถูกให้ถอนตัวจากยาเสพติด
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียยังพบด้วยว่า อาหารที่มีธัญพืชเต็มเมล็ดสูง (เช่น ข้าวกล้อง และควินัว) รวมทั้งมีผักและผลไม้หลากหลายชนิด ยังช่วยลดความเสี่ยงของผู้หญิงจากโรคซึมเศร้าได้
กาแฟ
เราไม่ได้บอกให้คุณหยุดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีนอื่นๆ แต่ถ้าคุณรู้สึกวิตกกังวลอาจโทษว่าเป็นเพราะการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้หลายๆ แก้วติดต่อกันก็ได้ อาลี มิลเลอร์ นักกำหนดอาหาร อธิบายว่า กาเฟอีนมีผลกระตุ้นระบบประสาท ทั้งยังเป็นสาเหตุให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด คือ คอร์ติซอล ที่ทำให้โรควิตกกังวลแย่ลง และทำให้มีปัญหาการนอน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคตื่นตระหนกและโรคกลัวการเข้าสังคม
แม้จะมีข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่กล่าวว่า กาเฟอีนช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนินที่ทำให้คุณรู้สึกดี แต่การหลั่งเซโรโทนินตลอดเวลาอันเป็นผลจากการบริโภคกาแฟมากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วสามารถทำให้คุณเกิดอาการสารสื่อประสาทด้อยประสิทธิภาพได้ จึงควรลดอิทธิพลของกาเฟอีนด้วยการดื่มกาแฟถ้วยขนาด 8 ออนซ์ เพียงวันละหนึ่งหรือสองถ้วยก็พอ
ไดเอตโซดา
ไดเอตโซดาและเครื่องดื่มชูกำลังอาจทำให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้นถึง 2 เท่า เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่เพียงมีกาเฟอีน แต่ยังมีส่วนประกอบของสารให้ความหวานสังเคราะห์ เช่น แอสปาร์แตม ซึ่งอาจลดระดับของเซโรโทนินในสมอง ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า กลุ่มนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น โอไฮโอ เฝ้าติดตามผลกระทบของแอสปาร์แตมที่มีต่อผู้มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และพบว่า แอสปาร์แตมทำให้อาการย่ำแย่ลง รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลด้วย ถ้าคุณใช้สารให้ความหวานสังเคราะห์ในชาหรือกาแฟ ให้หันมาใช้หญ้าหวานแทน ส่วนเครื่องดื่มรสซ่าที่ช่วยดับกระหายให้คุณ ก็ให้เปลี่ยนมาดื่มน้ำแร่ธรรมชาติแทน
บีฟเจอร์กี้ (เนื้อแดดเดียว)
เจอร์กี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอาหารว่างเพื่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ที่ไม่ได้เต็มไปด้วยสารเติมแต่งไร้ประโยชน์ แต่ปัญหาของเจอร์กี้ตามร้านขายของชำส่วนใหญ่คือ เต็มไปด้วยผงชูรส ซึ่งสามารถทำให้สมองของคุณมีระดับของกลูตาเมตสูงขึ้น กลูตาเมตเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้น ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้มีอาการวิตกกังวลและความเครียดเพิ่มขึ้น
แต่เจอร์กี้ไม่ใช่แหล่งผงชูรสเพียงชนิดเดียว ยังมีอาหารบรรจุภัณฑ์และอาหารจานด่วนอีกนับไม่ถ้วนที่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้ เช่น มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ โคลด์คัท (เนื้อตัดเย็น) น้ำสลัด อาหารแช่เยือกแข็ง จึงแนะนำให้เลือกอาหารประเภทธัญพืชเต็มเมล็ดในทุกครั้งที่เป็นไปได้
ครีมเทียม
มีครีมเทียมทั่วไปจำนวนมากที่แอบเป็นแหล่งของไขมันทรานส์ ซึ่งยังมีอยู่ในอาหารแปรรูปอีกมากมาย เช่น เฟรนช์ฟรายด์ คุกกี้ โดนัท และมอซซาเรลล่าชนิดแท่ง อาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นปัญหา เพราะเชื่อมโยงกับอาการไหลเวียนเลือดบกพร่อง ที่รวมถึงการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมการศึกษามากมายจึงเชื่อมโยงอาหารเหล่านี้กับโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่นๆ
เครื่องปรุงอาหาร
เครื่องปรุงอาหารอย่างน้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ และซอสบรรจุขวดชนิดอื่นๆ อาจเป็นแหล่งของน้ำเชื่อมฟรุกโตสสูง ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของโรควิตกกังวลที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด และที่น่าแปลกใจคือ น้ำเชื่อมฟรุกโตสสูงนี้มีความหวานกว่าน้ำตาลทั่วไปมาก ซึ่งสามารถนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น และเกิดความอยากเกือบตลอดเวลา รวมทั้งนำมาซึ่งภาวะน้ำหนักตัวเกินที่ไม่พึงประสงค์ด้วย
ทุกครั้งที่เป็นไปได้ ให้เลือกเครื่องปรุงอาหารน้ำตาลต่ำที่ไม่มีน้ำเชื่อมฟรุกโตสสูงเป็นส่วนประกอบ