“ทีซีซี กรุ๊ป ตั้งเป้าผลักดันเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เป็นเวิลด์เดสทิเนชั่น อย่างน้อยภายในปี 2020 ต้องเห็นภาพชัดเจนในระดับเอเชียและในระดับโลกต้องไม่เกินปี 2025 เพราะเป็นโมเดลใหญ่ ต้องทำให้เพอร์เฟกต์มากที่สุด”
เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ ผู้จัดการทั่วไป โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ กลุ่มบริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (ทีซีซี กรุ๊ป) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงเป้าหมายสำคัญหลังโยกย้ายจากเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ให้เข้ามาบริหารโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ท่ามกลางสงครามค้าปลีกริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาที่กำลังคึกคักและร้อนแรงสุดขีด
แน่นอนว่า ระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือนในตำแหน่งหน้าที่ใหม่ เปรมินทร์เห็นทันทีถึงโจทย์การตลาดของเอเชียทีคที่ต่างจากเซ็นเตอร์พอยท์ฯ อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าและแนวรบธุรกิจค้าปลีกริมน้ำ แต่เป้าหมายเหมือนกัน คือ ทำอย่างไรที่จะขยายตลาดและตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของผู้บริหารสาวไม่ได้เติบโตจากสายมาร์เก็ตติ้งหรือธุรกิจค้าปลีก เพราะงานแรกในชีวิตเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ นานเกือบ 4 ปี หลังจากนั้นไปทำงานบริหารบริการ “ลีมูซีน” บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 5 ปี และย้ายไปเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาวุโสอีก 1 ปี แต่รักการช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจจนจับพลัดจับผลูมาทำงานธุรกิจรีเทลที่ทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งที่สุดพบว่า งานนี้เป็นงานที่ “ใช่” และ “ชอบ”
เปรมินทร์เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงของชีวิตเป็นจังหวะประจวบเหมาะ ได้เข้ามาลุยงานแรกเมื่อทีซีซี กรุ๊ป กำลังต้องการพลิกโฉมศูนย์การค้าดิจิตอลเกตเวย์ให้เป็นศูนย์การค้าสไตล์วัยรุ่น “เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์” ซึ่งโจทย์การตลาดในเวลานั้น ดิจิตอลเกตเวย์เหมือนคุณลุงเนิร์ด ใส่แว่น กางเกงเอวสูง ต้องเข้าไปเปลี่ยนให้เป็นสไตล์ BNK ใส่แบ๊ว เพิ่มความฟรุ้งฟริ้ง ปรับงานกิจกรรม และทำได้บรรลุเป้าหมาย
จากห้างไอที “ดิจิตอลเกตเวย์” พลิกกลายเป็นห้างบิวตี้และไลฟ์สไตล์ “เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์” ปลุกกระแสตลาดนัดอีเวนต์ขายของเจ้าแรกในสยามสแควร์และร้านค้าเทรนด์เครื่องสำอางเกาหลี เจาะกลุ่มนักศึกษา วัยรุ่น และกลุ่มวัยทำงาน
เปรมินทร์สวมบทเป็นวัยรุ่นที่เซ็นเตอร์พอยท์ฯ 5 ปี หลังจากนั้นไปช่วยบริหารโปรเจกต์ เกตเวย์ แอท บางซื่อ นานเกือบปี ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา เดินคลุกฝุ่นตั้งแต่วันแรก เดินไซต์เอง ฝุ่นปูนคันไปหมด ช่วยจัดสรรพื้นที่ร้านค้า หาแบรนด์สินค้า ถือเป็นความภาคภูมิใจ เพราะห้างเกตเวย์ แอท บางซื่อ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเกินความคาดหมาย
“ส่วนตัว เปรมินทร์ถือว่าโชคดีมาก ทุกๆ ประสบการณ์ชีวิต ทุกงานสะสมทำให้วันนี้มาทำรีเทลและรักงานที่ทำมาก ได้ประสบการณ์หลายอย่าง และการได้ไปท่องเที่ยวทั่วโลกทำให้เห็นคนที่หลากหลาย วัฒนธรรมหลากหลาย สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมช้อปเปอร์ได้ชัดเจน คนประเทศนี้มีวัฒนธรรมแบบนี้ คิดแบบนี้ ชอบของแบบไหน หรืออย่างคนไทย คนเดินแถบกลางเมืองชอบอะไร ถ้าเป็นคนบางซื่อชอบแบบไหน เปรมินทร์มาอยู่ในบทบาทของเอเชียทีค อยู่ริมแม่น้ำ มีความท้าทายที่เกิดความสนุก และความสนุกสูงที่สุด คือ เอเชียทีคไม่ได้เป็นแบรนด์ที่ดีที่สุดในกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นแบรนด์ที่สามารถผลักดันให้เป็นเวิลด์เดสทิเนชั่นได้ภายใน 3-5 ปี เป็นหน้าตาของประเทศได้”
“ต้องบอกว่า แต่ละโครงการในเชิงบิสสิเนสไม่ต่างกัน แต่คาแรกเตอร์ต่างกัน เหมือนการใส่เสื้อผ้า อยู่เซ็นเตอร์พอยท์ฯ ต้องอินกับ BNK งานแบ๊วต้องได้ พอมาเอเชียทีคต้องซึมซับความเป็นเอเชียทีค ซึ่งในปี 2562 จะเห็นการทยอยปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง”
เปรมินทร์เปิดเผยว่า ในปี 2562 จะมีไฮไลต์ 3 รายการใหญ่
ไฮไลต์แรก การทุ่มทุนสร้างเรือภายใต้ชื่อ “สิริมหรรณพ” ซึ่งจะเป็นเรือใบสามเสาที่ใหญ่ที่สุด ความยาวประมาณ 52 เมตร เป็นไฮไลต์ที่ทีทีซี กรุ๊ป ต้องการสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ สะท้อนจิตวิญญาณของเอเชียทีค ซึ่งมีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเมืองไทยเริ่มมีการค้าขายกับต่างชาติ ที่ดินตรงนี้มีประวัติศาสตร์ ในฐานะท่าเรือระหว่างประเทศแห่งแรกของสยามประเทศ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศในเอเชียอยู่ภายใต้การคุกคามของการรุกรานจากมหาอำนาจยุโรป
ด้วยการมองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีความคิดริเริ่มที่จะยกระดับสยามให้เป็นประเทศชั้นนำของโลก โดยตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเดนมาร์ก เปิดให้บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก ซึ่งทำธุรกิจส่งออกไม้สัก สร้างท่าเรืออีสต์เอเชียติ๊ก เป็นการเริ่มต้นการทำการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศในยุโรป รวมทั้งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาอธิปไตยและความเป็นอิสระจวบจนทุกวันนี้
“เรือลำนี้จะสร้างตามประวัติศาสตร์ และออกแบบเป็นเรือใบ 3 เสา สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของเอเชียทีค คาดว่าจะเปิดตัวราวไตรมาส 2 ของปี 2562 ซึ่งล่าสุดตัวเรือสร้างเสร็จแล้วและเตรียมตกแต่งภายนอกภายในทั้งหมด”
ไฮไลต์ต่อมา คือ การปรับสัดส่วนร้านค้า มินิช็อป ให้หลากหลายและปรับคาแรกเตอร์สินค้า เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น นำเข้าแบรนด์หลากหลายและแบรนด์แมส จับต้องได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวน 850 ร้าน ทั้งมินิและรูปแบบร้านภัตตาคาร โดยเป็นสัดส่วนร้านขนาดใหญ่ ประมาณ 50 ร้าน และแองเคอร์หลัก ได้แก่ มวยไทยไลฟ์ ปรับเปลี่ยนโชว์ตื่นเต้น โรงละครคาลิปโซ กรุงเทพ หุ่นเชิด “โจหลุยส์” เดอะ สเตจ แอท เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ ฟู้ดเซอร์คัส เอเชียทีค สกาย ชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และลานกิจกรรมเอเชียทีคพาร์ค ทางเดินริมแม่น้ำ
ที่น่าตื่นเต้นคือ การนำเข้าเครื่องเล่นขนาดใหญ่จากต่างประเทศ อย่างน้อย 2 ชิ้น รูปแบบคล้าย Dark Life Mansion เป็นบ้านแมนชั่นขนาดใหญ่ ภายในเต็มไปด้วยความสนุกตื่นเต้น กรี๊ดกร๊าด ซึ่งจะดึงดูดทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มครอบครัวและวัยรุ่น ส่วนเครื่องเล่นอีกชิ้นเป็นม้าหมุน 2 ชั้น สวยงามเหมือนม้าหมุนที่ประเทศอิตาลี คาดว่าจะเปิดตัวเครื่องเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562
สำหรับไฮไลต์สุดท้ายอยู่ในช่วงปลายปี งานเคานต์ดาวน์ 2020 ซึ่งจะยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ ปีและมีการจัดกิจกรรมปูทางอย่างต่อเนื่อง 45-60 วัน เช่น การจัดเทศกาลไฟประดับที่จะสร้างความ ว้าว! โดยทั้งปี 2562 จะใช้งบการตลาดรวมทั้งสิ้น 45 ล้านบาท เพิ่มมากกว่าปี 2561 ถึง 40%
ทั้งนี้ ตามแผนการตลาดจะพุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มแฟมิลี่ที่เป็นคนไทยเป็น 40% จากปัจจุบันเป็นชาวต่างชาติสูงถึง 70% โดยชาวต่างชาติที่เป็นลูกค้า ได้แก่ ชาวจีน ไต้หวัน-เกาหลี อินโด ฮ่องกง มาเลย์ ซึ่งทราฟฟิกปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 45,000 คน
“เราต้องการบาลานซ์กลุ่มเป้าหมายและเจาะช่องว่างหรือส่วนแบ่งการตลาดที่ว่างอยู่ ทำให้เอเชียทีคไม่ได้เป็นแค่สถานที่ที่พาเพื่อนต่างประเทศมาเที่ยว หรือมาเฉพาะเทศกาลพิเศษ อยากให้คนไทยได้เข้ามาเสพความเป็นเอเชียทีคในฐานะสถานที่ริมน้ำที่เข้าถึงได้และไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะนักท่องเที่ยว แต่เราตอบโจทย์คนไทยภาพรวมทั้งหมด ในวันสบายๆ คนไทยสามารถพาครอบครัวมารับประทานอาหาร สังสรรค์ริมน้ำ เปิดตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป สามารถเอ็นจอย 3 เวลา ตั้งแต่เวลาแดดอ่อน ได้เห็นพระอาทิตย์ตกน้ำไปจนถึงยามค่ำคืน ถ้าจะแฮงก์เอาต์เฉพาะกลุ่มผู้ปกครองหรือเพื่อน มาดื่มเหล้าสังสรรค์กัน เราตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบในราคาจับต้องได้”
ขณะเดียวกัน กิจกรรมตลอดปีจะตอบโจทย์เชิงวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น การจัดตุ๊กตุ๊กทัวร์ สร้างไฮไลต์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย โชว์ช้าง แห่เรือสรงน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อผูกเชื่อมกับสังคมและชุมชนโดยรอบ เพราะเอเชียทีคถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ริมแม่น้ำเกิดแรงกระเพื่อม จึงอยากต่อยอดการเป็นทัวริสต์เดสทิเนชั่นที่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยว จับจ่าย ซึมซับบรรยากาศได้หลายๆ ครั้ง
ส่วนโครงการขยายเอเชียทีค ซึ่งยังมีที่ดินเหลืออยู่นั้น อาจมีทั้งพัฒนาในที่ดินผืนปัจจุบันและแผนพัฒนาฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ แต่ยังอยู่ระหว่างการเขียนแผน รวมถึงการขยายแบรนด์เอเชียทีคในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
เธอย้ำว่า อาจต้องรอเวลาที่เหมาะสมแต่มีเซอร์ไพรซ์และรีเทลริมน้ำจะตื่นเต้นขึ้นอีกหลายเท่าแน่นอน