วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยในอนาคต ความหวังที่รัฐบาลใหม่ต้องแบกรับ

เศรษฐกิจไทยในอนาคต ความหวังที่รัฐบาลใหม่ต้องแบกรับ

สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จากมุมมองของหลายฝ่ายดูจะสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสภาพัฒน์แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่ามีการชะลอตัวลงจาก 4.6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่ผู้นำรัฐบาลมักมีวาทกรรมว่า “เศรษฐกิจดีขึ้นทุกด้าน” หากจะว่าไปคงไม่ผิดนักหากนายกฯ จะมีถ้อยแถลงต่อเรื่องเศรษฐกิจเช่นนั้นเสมอ เมื่อผู้คนที่แวดล้อมอยู่รอบตัวประสานเสียงและให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน

สวนทางกับเสียงโอดครวญของประชาชนที่ทำมาค้าขาย หาเช้ากินค่ำ กลับบ่นกันระงม ถึงความยากลำบากในสภาวการณ์เช่นนี้ และที่น่าฉงนใจอย่างยิ่งคือ เสียงบ่นจากประชาชนกลับดูบางเบา รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่อาจส่งไม่ถึงฝ่ายบริหารประเทศได้เลย

ถึงเวลานี้หลายคนคงได้แค่ตั้งความหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในศักราชหน้า ว่านอกจากจะนำพาเอาความสงบสุขมาสู่ประเทศแล้ว ยังต้องพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ใช่เพียงแต่เศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น ยังต้องทำให้ทุกฟันเฟืองขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจุลภาคด้วย และนั่นต้องไม่ใช่เพียงการสร้างภาพลวงตาหลอกสังคมโลกและตัวเอง

เพราะเมื่อฟันเฟืองทุกตัวขับเคลื่อนได้จริง ไม่ใช่แค่เพียงภาพมโนที่ปั้นแต่งขึ้นเพื่อสร้างกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หวังผลเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเท่านั้น นั่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นมือวางอันดับหนึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำลงได้

แม้ประชาชนบางส่วนจะยังมีข้อสงสัยว่า การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายกำลังโหมโรงอยู่ขณะนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ เปิดเผยถึงการปรับประมาณการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าใหม่อีกครั้งช่วงเดือนมกราคม หลังจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในตลาดโลกมีความชัดเจนมากขึ้น กรณีนี้หมายถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ซึ่งหอการค้าไทยมองว่า ปี 2562 มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4-4.5 เปอร์เซ็นต์ และหากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นภายในเดือนมีนาคม ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้น มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 4.3-4.5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีปัจจัยที่ยังไม่คลี่คลายโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 4-4.2 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ช่วงเวลาที่เหลือ หอการค้ามองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ จะขยายตัวในอัตรา 4.1-4.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 มีโอกาสที่จะขยายตัว 3.5-4 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ การปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะเป็นผลพวงมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นอกเหนือไปจากการคาดการณ์จากหอการค้าต่อเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยังแสดงความเห็นต่อเศรษฐกิจในปีหน้าว่า “ในปี 2562 เราคาดหวังว่าจะมีกำไรเพิ่มจากสิ้นปี 2561 ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตได้จากหลายปัจจัยทางการเมือง และภาคเศรษฐกิจที่ได้วางรากฐานไว้แล้ว ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคดีขึ้นไปด้วย”

ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2561 ที่ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่ 1.71 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งนี้ สินเชื่อบ้านคิดเป็นสัดส่วน 38 เปอร์เซ็นต์ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2

นอกจากนี้ เคทีซี ยังเปิดเผยกลยุทธ์ตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2562 ว่า “กลยุทธ์หลักด้านการตลาดของเคทีซี จะคงรักษาจุดแข็งของความร่วมมือด้านการตลาดกับพันธมิตรร้านค้าที่หลากหลาย สร้างโปรโมชั่นที่น่าสนใจและแตกต่างเพื่อกระตุ้นความสนใจของสมาชิกทั้งหน้าร้านและออนไลน์ พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าในปี 2562 เคทีซีจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์” พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริการ-ธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี อธิบาย

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายต้องกังวลว่า เศรษฐกิจจะแกว่งไกวไปเพราะปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้า และปัจจัยภายในจากการเลือกตั้ง สิ่งที่อาจจะสร้างแรงสะเทือนให้แก่เศรษฐกิจการเงินอีกประการหนึ่งคือ เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่แบงก์ชาติเพิ่งประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

เพราะนั่นเป็นผลจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายทำให้ผลที่ตามมาคือ สินเชื่อเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยลอยตัวอยู่แล้ว เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล จะถูกปรับขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งยังมีผลต่อกลุ่มธุรกิจที่ขอสินเชื่อกับธนาคาร ที่อาจจะต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นตามไปด้วย

แม้หลายคนยังข้องใจเหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ของแบงก์ชาติ ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. อธิบายว่า มีการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นมีส่วนสำคัญในการหนุนนำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับและทิศทางที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบของเป้าหมายเงินเฟ้อ

ถึงขณะนี้ หลายฝ่ายยังมองภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงสุดท้ายปลายปีมีกระแสที่ดีขึ้น แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการซบเซาของเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง การท่องเที่ยวจะไม่คึกคักเช่นเดิม รายได้ภาคเกษตรจะลดลง และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงที่ต้องเฝ้าระวัง ก็ตาม

หรือการมองว่าเศรษฐกิจไทยดูจะมีแรงกระตุ้นที่ดี อาจจะเป็นเพราะมีความเป็นไปได้ว่า ภาคเอกชนจากต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย หรืออาจจะหมายความรวมไปถึงโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน

แน่นอนว่า ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครจะให้คำตอบได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว หลังการเลือกตั้งจบลงและรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาจะยังคงเป็นคณะทำงานชุดก่อนหน้าหรือคนหน้าเก่าที่ขันอาสาเข้ามาใหม่ ก็ล้วนแต่ต้องแบกความหวังด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สัจธรรมที่ประชาชนต้องพึงระลึกเสมอ ว่าเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นใครและมีนโยบายต่อเศรษฐกิจอย่างไร ประชาชนก็ยังต้องทำมาหากินและพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะการฝากความหวังไว้กับอนาคตดูจะเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

ใส่ความเห็น