หากเอ่ยถึงประเทศอียิปต์ ในห้วงคำนึงของใครหลายคนอาจจะมีภาพจำที่แตกต่างกันออกไป ทั้งทะเลทรายไกลสุดลูหูลูกตา หรือภาพสิ่งก่อสร้างที่เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อย่างพีระมิด ในเมืองกีซา
ทว่า เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงไคโร อย่างอเล็กซานเดรีย (Alexandria) กลับอุดมไปด้วยมนต์เสน่ห์ลึกลับที่น่าค้นหาและทำความรู้จักไม่น้อย
ราว 334 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดรียเคยถูกสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของอียิปต์ ภายหลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้ามายึดครองและมีคำสั่งให้ปรับปรุงขยายเมือง อีกทั้งยังตั้งชื่อเมืองให้คล้องจองกับพระนามของพระองค์ และเป็นเมืองหลวงของอียิปต์นานเกือบหนึ่งพันปี
ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองอเล็กซานเดรียที่อยู่เหนือสุดของอียิปต์ ติดริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้ปากแม่น้ำไนล์ ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ อีกทั้งยังได้สมญานามว่าเป็น “เมืองไข่มุกแห่งเมดิเตอร์เรเนียน”
นั่นทำให้นอกจากอเล็กซานเดรียจะเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของอียิปต์แล้ว เมืองแห่งนี้ยังเป็นเสมือนหน้าต่างของประเทศที่มุ่งสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกด้วย
น่าแปลกที่การเดินทางเข้ามาในย่านชุมชนของอเล็กซานเดรีย ทั้งที่ต้องพบเจอกับความวุ่นวายของการคมนาคมในชุมชนเมือง เนื่องจากเส้นทางจราจรที่มีถนนเพียงสองเลน กับอาคารบ้านเรือนสูงตระหง่าน ให้ความรู้สึกถูกบีบคั้นจากภายใน เมื่อยืนอยู่ท่ามกลางตึกสูงกลับมีพลังบางอย่างที่ดึงดูดให้เราเดินทางเข้าไปสัมผัสใกล้ๆ
บ้านเรือนของคนอียิปต์เมื่อดูจากภายนอก คล้ายกับว่าบ้านแต่ละหลังยังไม่มีหลังไหนสร้างเสร็จสมบูรณ์ เพราะสิ่งที่โผล่พ้นตัวอาคารออกมา ทั้งเหล็กที่ยื่นออกมานอกตัวบ้าน หรือผนังที่เผยให้เห็นอิฐที่เรียงซ้อนกัน โดยไม่มีการฉาบปูนเพื่อเก็บงานแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะรัฐบาลอียิปต์มีมาตรการเรียกเก็บภาษีจากอาคารที่พักอาศัยที่สร้างแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนชาวอียิปต์ต้องหาวิธีการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลอียิปต์อีกรูปแบบหนึ่ง
วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และธรรมเนียมของคนท้องถิ่นที่แสดงออกอย่างเปิดเผยทำให้ละสายตาได้ยาก ยิ่งเมื่อใกล้เวลาละหมาดจะเห็นผู้คนในพื้นที่ปูเสื่อไว้บริเวณหน้าบ้าน หน้าร้าน เพื่อรอเวลา
นอกจากนี้ ทุกถนนหนทางในเมืองอเล็กซานเดรียมีร้านน้ำชาเปิดเรียงราย และแน่นอนว่าจำนวนร้านน้ำชาของที่นี่อาจจะมากกว่าจำนวนร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยด้วยซ้ำ จึงไม่ยากที่จะได้เห็นชาวเมืองอเล็กซานเดรียโดยเฉพาะผู้ชาย มักจะใช้เวลานั่งอยู่ในร้านน้ำชา พร้อมกับสูบยาจากอุปกรณ์สูบยาที่เรียกว่า Shisha (ชิชา) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ บารากู่ (Baraku)
เมืองอเล็กซานเดรียมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่าเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญมากของประเทศอียิปต์ ทั้งสุสานโรมันใต้ดินคาตาคอมป์ (Catacombs) ซึ่งเป็นหลุมฝังศพใต้ดินแห่งอเล็กซานเดรีย 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคกลาง เป็นสุสานของชาวโรมันในอดีต ซึ่งใช้เก็บศพมากกว่า 50,000 ศพ เป็นอุโมงค์ที่สร้างด้วยหินก้อนใหญ่และขุดลึกลงไปเป็นชั้นๆ
ป้อมปราการไควท์เบย์ (Quitbay Citadel) ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ระบุว่า ป้อมแห่งนี้เป็นป้อมปราการโบราณที่สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนที่เป็นฐานและได้รับการทำนุบำรุงต่อเติมโดยสุลต่านไควท์เบย์ ปัจจุบันป้อมปราการไควท์เบย์กลายเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ทางทะเลที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมจำนวนมาก
และเสาปอม์เปย์ (Pompeii’s Pillar) ตั้งอยู่กลางชุมชนเมืองอเล็กซานเดรีย เสาปอม์เปย์ เป็นเสาที่แสดงถึงการฉลองชัยชนะของชาวโรมัน เป็นอนุสาวรีย์โบราณในสมัยโรมันเข้ามาปกครองอียิปต์ เป็นเสาแกรนิตสูง 27 เมตร นับว่าเป็นเสาหินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างขึ้นมา
จากประวัติเชื่อว่าเสาแห่งนี้ได้ชื่อมาจาก ปอม์เปย์ (Pompey) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งโรมัน แต่ภายหลังทั้งสองกลายเป็นศัตรูกัน และปอม์เปย์ได้หลบหนีมายังเมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ ก่อนถูกชาวอียิปต์ฆ่าตาย โดยเล่าขานกันว่า จูเลียส ซีซาร์ ได้ทำพิธีเผาศีรษะของปอม์เปย์ที่เสาแห่งนี้ ปัจจุบันเหลือเพียงเสาแบบกรีกตั้งอยู่อย่างโดดเด่นและสฟิงซ์อีกสองตัวที่ยังคงทำหน้าที่เฝ้าสถานที่แห่งนี้
อาจเป็นเพราะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอเล็กซานเดรียตั้งอยู่กลางชุมชน จึงทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น พ่อค้าชาวอียิปต์ที่เดินเร่ขายของ นำเสนอสินค้าที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งผ้าพื้นเมือง หินแกะสลักรูปบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของอียิปต์ เช่น ฟาโรห์ตุตันตาเมน เนเฟอร์ติติ
ทว่า ในบรรดาพ่อค้าชาวอียิปต์ที่พยายามเร่ขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว กลับมีพ่อค้าตัวน้อยกลุ่มหนึ่งที่หอบสินค้ามาเสนอขาย สร้างความแปลกใจและตกใจให้แก่นักท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในเวลาเดียวกัน เพราะสินค้าในกล่องใบน้อยนั้นส่งเสียงร้องอย่างต่อเนื่อง เมื่อสินค้านั้นคือ ลูกเจี๊ยบ จำนวนหนึ่งที่เบียดเสียดกันอยู่ในกล่องใบเล็กๆ ที่มือน้อยๆ จะโอบอุ้มได้ไหว
แม้ว่าเรื่องราวในลักษณะนี้จะเคยปรากฏในหนังสือ The Dalai Lama’s Cat ที่เขียนโดย เดวิด มิชี่ ที่มีเด็กๆ ชาวอินเดียพยายามขายลูกแมวให้แก่เหล่านักบวช แต่บรรดานักท่องเที่ยวในอียิปต์คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะประสบกับเรื่องราวเช่นนี้กับตัว
แม้อียิปต์จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความหลงใหล และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเปิดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง กระนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับไม่ใช่ฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
หากแต่เป็นรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจากเรือที่เดินเรือผ่านคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งคลองนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1859 และเปิดใช้ในปี ค.ศ.1869 ซึ่งคลองแห่งนี้ถูกขุดขึ้นเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง ผ่านช่องแคบสุเอซในอียิปต์ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 101 ไมล์ เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย
ปัจจุบันคลองแห่งนี้ยังคงถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขนส่งสินค้าจาก Middle East ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ส่วนที่มาของรายได้อันดับ 2 ของอียิปต์คือ อุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ผลิตสินค้าส่งออกสำคัญๆ ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค และ Cotton ที่คนอียิปต์บอกว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์สำคัญๆ เช่น BMW ฮุนได โตโยต้า
ต้องยอมรับว่าอียิปต์ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของใครอีกหลายคนที่อยากจะเปิดประสบการณ์ และเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ชนชาตินี้สามารถผสมผสานวัฒนธรรมทั้งจากกรีก โรมัน และอียิปต์ เอาไว้ได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว
และปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองของอียิปต์ที่ดูมีเสถียรภาพมากขึ้น บ้านเมืองมีความปลอดภัย คงจะไม่แปลกใจหากในอนาคตอียิปต์จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว