วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > บทบาทของผู้หญิงในแวดวงการเมือง

บทบาทของผู้หญิงในแวดวงการเมือง

Column: Women in Wonderland

ในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา มีการจัดการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศเกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในมาเลเซีย นิวซีแลนด์ และภูฏาน เป็นต้น และในช่วงสิ้นปีนี้จนถึงต้นปีหน้าก็ยังจะมีอีกหลายประเทศที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งกลางเทอมไป และในปีหน้าก็จะมีการจัดการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น ประเทศไทยเองก็อาจจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าในช่วงของการเลือกตั้งเราจะได้เห็นสีสันต่างๆ ของการหาเสียง การบอกเล่านโยบายของพรรค และการโต้วาทีที่แต่ละหัวข้อประชาชนให้ความสนใจโดยหัวหน้าพรรค และปัจจุบันแต่ละพรรคการเมืองไม่ได้มีเพียงแค่ผู้สมัครที่เป็นผู้ชาย แต่ผู้สมัครที่เป็นหญิงก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และได้รับความไว้วางใจให้ทำงานมากขึ้นเช่นกัน

ในหลายประเทศมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ชนะการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และก็ได้ทำงานการเมืองแบบจริงจัง บางครั้งผู้หญิงได้รับความไว้วางใจจากพรรคจนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค และยังนำพาพรรคให้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ อย่างเช่น Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมนี ที่นำพาพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union-CDU) ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนี และยังนำพาพรรค CDU ชนะการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 สมัยด้วยกัน

ปัจจุบันผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การเลือกตั้งกลางเทอมนี้จะถูกจัดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งมาได้ 2 ปี จาก 4 ปี โดยจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ในรอบนี้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 35 ที่นั่ง การเลือกตั้งกลางเทอมจะเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นบันทึกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ผู้หญิงได้รับชัยชนะและได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานในสภาคองเกรสมากที่สุด มีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาถึง 12 คนด้วยกัน โดยมี 2 คนเป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยได้รับเลือกมาก่อน ส่วนสภาผู้แทนราษฎร มีผู้หญิงได้รับเลือกถึง 98 คน โดยที่ 33 คนเป็นคนหน้าใหม่ นี่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้หญิงในฐานะนักการเมืองได้เลย เพราะไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหนที่ผู้หญิงจะชนะและได้รับเลือกเข้าไปในสภาคองเกรสมากขนาดนี้

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายแล้ว ยังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองของสหรัฐฯ อีกด้วย ผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครตที่ได้รับเลือกเข้าไปทำงานในสภาคองเกรสกลายเป็นบุคคลแรกของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ถึง 5 ด้าน ด้วยกันคือ

1) ผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือก คือ Alexandria Ocasio-Cortez วัย 29 ปี จากรัฐนิวยอร์ก

2) ผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือก คือ Ayanna Pressley จากรัฐแมสซาซูเซตส์

3) ผู้หญิงมุสลิม 2 คนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าไปในสภาคองเกรส คือ Rashida Tlaib จากรัฐมิชิแกน และ Ilhan Omar จากรัฐมินนิโซตา นอกจาก Ilhan Omar จะเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกแล้ว เธอยังเป็นคนโซมาเลีย-อเมริกัน คนแรกที่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศโซมาเลียและย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

4) ผู้หญิงชนพื้นเมืองอเมริกัน 2 คนแรกที่ได้รับเลือก คือ Sharice Davids จากรัฐแคนซัส และ Deb Haaland จากรัฐนิวเม็กซิโก นอกจากนี้ Sharice Davids ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน ตั้งแต่ตอนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และถือว่าเป็นเลสเบี้ยนคนแรกที่ได้เข้าไปทำงานในสภาคองเกรส

5) ผู้ว่าการรัฐคนแรกที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์คือ Jared Polis ผู้ว่าการรัฐโคโรลาโด ที่ยอมรับและเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ตั้งแต่ตอนลงสมัครรับเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครที่เปิดเผยตัวเองเป็น LGBT อยู่ถึง 225 คน และในจำนวนนี้มี LGBT ถึง 153 คน ที่ชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้

จาก 5 ด้านในข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะและบันทึกหน้าใหม่ของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ประชาชนมีความคิดที่เป็นเสรีมากขึ้น ไม่มีการกีดกันทางเพศ เชื้อชาติ และศาสนา อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก และแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีโอกาสทำงานทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย

แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองในประเทศอื่นๆ ไม่เปิดโอกาสและให้การยอมรับผู้สมัครเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงเหมือนกับสหรัฐฯ และอีกหลายๆ ประเทศ ที่ยอมรับบทบาทของผู้หญิงในทางการเมือง

ประเทศสหราชอาณาจักรเป็นอีกหนึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อาจจะเรียกได้ว่าสหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย ในการจัดตั้งระบบรัฐสภา หลายๆ ประเทศมีการนำระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักรไปเป็นต้นแบบ รวมถึงประเทศไทยด้วย

การที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองจะราบรื่นและได้รับการยอมรับให้เท่าเทียมกับผู้ชาย

ปีนี้ถือเป็นการครบรอบปีที่ 100 พอดีที่ผู้หญิงคนแรกชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร โครงการ Fawcett Society ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในสหราชอาณาจักร จึงได้จัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิงในทางการเมืองขึ้นมา เพราะในช่วง 100 ปีที่ผ่านมารัฐสภาของสหราชอาณาจักรมีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ 32% เท่านั้น Fawcett Society จึงอยากรู้สาเหตุว่าอะไรที่เป็นปัจจัยทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงบางคนชนะการเลือกตั้ง และในขั้นตอนต่างๆ มีอุปสรรคอย่างไร

การจะเป็นนักการเมืองหญิงไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเธอจะต้องถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง ถูกเลือกโดยประชาชน และสุดท้ายถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะถูกเลือกให้เข้าไปทำงานในรัฐสภาและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล Fawcett Society จึงได้จัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้น โดยสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ในทางการเมืองของผู้หญิงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 47 คน ทั้งจากคนที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก 26 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานในรัฐสภา

ผลจากการวิจัยพบว่า อุปสรรคสำคัญสำหรับนักการเมืองหญิงคือ การที่ประชาชนและนักการเมืองส่วนใหญ่ยังคงมองว่า พื้นที่ทางการเมือง บทบาท และตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง ทำให้ในที่สุดนักการเมืองชายก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากกว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า ระบบการเมืองเหมือนถูกสร้างขึ้นมาจากผู้ชายเพื่อให้ผู้ชายเข้าไปทำงาน จึงไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผู้สมัครในอุดมคติของประชาชนคือ ผู้สมัครที่เป็นคนขาว และเป็นผู้ชายฐานะปานกลาง

อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้สมัครหญิงทุกคนเจอเหมือนกัน ไม่ว่าจะสังกัดอยู่พรรคใดก็ตามคือ พวกเธอจะต้องโดนถามว่า พวกเธอแต่งงานหรือยัง และมีลูกแล้วหรือยัง และเมื่อบางคนตอบว่าพวกเธอแต่งงานและมีลูกแล้ว จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้ง

ถึงแม้ว่าทุกพรรคการเมืองในตอนนี้จะเพิ่มจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนพรรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงในรัฐสภา และเป็นการแสดงให้เห็นว่าในทางการเมืองผู้หญิงที่แต่งงานและมีลูกแล้วก็สามารถเป็นนักการเมืองและดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้ แต่ก็มีเพียงแค่บางพรรคการเมืองเท่านั้นที่มีจำนวนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้น อย่างเช่นพรรคแรงงาน (Labour) มีผู้หญิงถึง 45% ที่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานในรัฐสภา เป็นต้น

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า การจะเป็นนักการเมืองหญิงนั้นไม่ง่ายเลย และทุกประเทศต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนความคิดประชาชนให้ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ ก่อนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงในสหรัฐฯ จะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในครั้งนี้ พวกเธอก็ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคคล้ายกับนักการเมืองหญิงในสหราชอาณาจักรเช่นกัน เพราะการเมืองยังคงถูกมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย แต่การเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ก็อาจจะช่วยให้หลายๆ ประเทศ เริ่มยอมรับบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองมากขึ้นเช่นกัน เพราะนี่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนอเมริกันไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชายอีกต่อไป

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/ballot-1440045

ใส่ความเห็น