วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > บีทีเอส-ซีพี สู้ศึกชิงสัมปทาน ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

บีทีเอส-ซีพี สู้ศึกชิงสัมปทาน ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ระหว่างดอนเมือง สุวรรณภูมิ กับอู่ตะเภา เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”

ส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญที่รัฐบาลวาดหวัง ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย เท่ากับว่าโครงการดังกล่าวคืออีกหนึ่งปฐมบทของการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกก็ว่าได้

โครงการไฮสปีดเทรนถูกจับตามองทั้งจากนักลงทุนภายในและภายนอกประเทศ นับตั้งแต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยรายละเอียดโครงการ กระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันแรกที่ รฟท. เปิดขายเอกสารประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ในเวลานั้นมีเอกชน 7 ราย ที่เข้าซื้อซองประมูล เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ), บริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ จำกัด, บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทซิโนไฮโดต คอร์ปอเรชั่น จำกัด

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวการตกลงเจรจาและจับกลุ่มกันระหว่างนักลงทุนที่เข้าซื้อซองประมูล ท้ายที่สุดเมื่อ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังฝุ่นตลบ มีเพียงแค่สองกลุ่มที่เสนอตัวเข้าชิงดำยื่นซองประมูลในครั้งนี้

ที่น่าจับตามองคือ ทั้งสองกลุ่มนับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อชั้นอยู่ในแวดวงธุรกิจไทย ทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่าง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์

และอีกกลุ่มคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร ประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์, บมจ.ช.การช่าง (ประเทศไทย) ถือหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์, China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม CITIC Group Corporation และ China Resources (Holdings) Company จากประเทศจีน ที่สนใจร่วมลงทุน ขณะที่ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC และ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development แสดงความประสงค์จะให้เงินกู้ในการลงทุนครั้งนี้

แน่นอนว่านอกเหนือไปจากรายชื่อนักลงทุนที่เข้าร่วมกลุ่มยื่นซองประมูลแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ โครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544.36 ล้านบาท มีเงื่อนไขอะไรที่สร้างความน่าสนใจแก่นักลงทุนมากขนาดนี้

ข้อมูลจาก วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “โครงการนี้มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี รวมการก่อสร้าง 5 ปี ระยะทางทั้งสิ้น 220 กิโลเมตร ประกอบด้วย ค่าลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 168,718 ล้านบาท ค่าลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ ในส่วนค่าระบบอาณัติสัญญาณและล้อเลื่อน 10,671.09 ล้านบาท โดยรัฐจะรับภาระโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 22,558.06 ล้านบาทเอง”

นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้นักลงทุนดาหน้าเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ นั่นคือ สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการไฮสปีดเทรน ทั้งบริเวณสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่

ดังนั้นเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในเงื่อนไขที่ภาครัฐเสนอให้สำหรับผู้ชนะสัมปทานครั้งนี้ ทั้งระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี การได้สิทธิ์ในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดิน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ศึกชิงดำในครั้งนี้จะกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ และถูกจับตามอง

สำหรับการให้สิทธิ์ในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์แก่เอกชนที่ชนะประมูล น่าจะเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาการขาดทุนของภาครัฐ ที่ในแต่ละปี “แอร์พอร์ตลิงก์” ขาดทุนปีละ 300 ล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้สินอยู่ประมาณ 33,000 ล้านบาท โดยรัฐมีความเชื่อว่าหากเอกชนเข้ามาดำเนินกิจการต่อจะไม่มีปัญหาการขาดทุน

ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข่าวสารของโครงการนี้อย่างใกล้ชิด จะมีคำถามผุดขึ้นในใจเหมือนกันว่า “คุ้มทุน คุ้มค่าหรือไม่”
คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขผลกำไรหรือข้อสรุปหลังสัมปทานสิ้นสุดลง หากแต่เมื่อดูจากความพยายามของแต่ละกลุ่มกิจการร่วมค้าก่อนยื่นซองประมูล อาจจะสามารถตอบคำถามนั้นได้อย่างดี

เริ่มจากกลุ่มซีพี ซึ่งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ลงทุนเชิญผู้บริหารสื่อไทยไปดูงานรถไฟฟ้าที่ประเทศจีน พร้อมกันนี้ยังแสดงวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

นอกจากนี้ ธนินท์ยังกล่าวว่า การที่ซีพีเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้เป็นการช่วยรัฐบาลในการเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนจากต่างประเทศกับภาคเอกชนของไทย

ขณะที่ศุภชัย เจียรวนนท์ ที่เป็นผู้นำทีมพันธมิตรเดินทางไปยื่นซองประมูลโครงการไฮสปีดในครั้งนี้ กล่าวว่า “กลุ่มซีพีเป็นบริษัทคนไทย การยื่นข้อเสนอครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป็นนโยบายที่เชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และยังเป็นการช่วยดึงพันธมิตรต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย”

ทั้งนี้ ศุภชัยยังมองว่าแม้ผลตอบแทนของโครงสร้างพื้นฐานไม่สูง แต่ระยะยาวจะเกิดความต่อเนื่อง โครงการลงทุน PPP ที่ร่วมกัน โดยที่ภาครัฐสนับสนุนนโยบายภาพรวม มีสนามบินอู่ตะเภาที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางไปยังภาคอื่นๆ จะช่วยให้โครงการนี้เกิดความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ชนะประมูลเป็นกลุ่มซีพี โครงการไฮสปีดเทรนน่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโปรเจกต์การสร้างเมืองใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีเนื้อที่กว่า 10,000 ไร่ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BRS ที่มีโต้โผคนสำคัญอย่าง คีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี ซึ่งนับว่าชั่วโมงบินสูง ที่ก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่า กลุ่มซีพีเจรจายื่นข้อเสนอในการจับมือเป็นพันธมิตรสำหรับโครงการนี้ แต่การเสนอให้บีทีเอสถือหุ้นในสัดส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นการยากที่จะยอมรับข้อเสนอนี้

อีกทั้งประสบการณ์ที่บีทีเอสมีนั้นน่าจะเหมาะกับการเป็นผู้นำกลุ่มที่จะขอเข้าร่วมชิงดำสัมปทานนี้มากกว่าจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับใคร

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะชนะประมูลโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน คือผู้ที่เสนอราคาให้รัฐบาลลงทุนด้วยภายใต้วงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท

ด้าน คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวน่าจะก่อให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 700,000 ล้านบาท โดยช่วง 50 ปีแรก 400,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์เป็นสนามบินสำรองยุทธศาสตร์ทางการบิน และยังมีผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอสังหาฯ ตลอด 2 เส้นทาง รวมทั้งรายได้จากการจัดเก็บภาษี ขณะที่มูลค่าภายหลังสัญญาสัมปทานร่วมทุน 50 ปี โครงการจะตกเป็นของภาครัฐ มูลค่าอีกไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท”

นับจากนี้ไปอีกสองเดือนเศษๆ หรือประมาณเดือนมกราคม ปี 2562 คนไทยน่าจะได้รับคำตอบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใครจะเป็นผู้ชนะสัมปทาน ส่วนเรื่องการคุ้มทุน คุ้มค่า ดูจะเป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วว่า “ถ้าไม่คุ้มคงไม่ทำ” เมื่อผลประโยชน์จะตกแก่คนไทยก็เป็นเรื่องน่ายินดี

ใส่ความเห็น