วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ สมรภูมิใหม่กลุ่มทุนใหญ่ไทย

ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ สมรภูมิใหม่กลุ่มทุนใหญ่ไทย

แม้ว่าบรรยากาศของเศรษฐกิจไทยโดยรอบจะไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกในหมู่ประชาชนทั่วไปว่ากำลังฟื้นตัวหรือกลับมาคึกคักในแบบที่กลไกรัฐพยายามสร้างเสริมให้ได้สัมผัส หากแต่ในความเป็นไปสำหรับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทย โอกาสและจังหวะก้าวในการขยายธุรกิจดูเหมือนกำลังดำเนินไปอย่างไม่มีสะดุด และดูจะรุดหน้าไปด้วยอัตราเร่งด้วยซ้ำ

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระบุว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลกใน 4 ด้าน ทั้งในมิติของการเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) กำลังส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการสุขภาพของไทย กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับการหมายตาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการขยายอาณาจักรธุรกิจที่น่าติดตามไม่น้อย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของธุรกิจโรงพยาบาลและบริการสุขภาพในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการตลาดสูงถึงเกือบ 7 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องจากผลของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการหันมาสนใจใส่ใจในการดูแลและรักษาสุขภาพของผู้คนทั่วไป ยิ่งส่งเสริมให้ธุรกิจนี้มีโอกาสที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก

ขณะที่นโยบายของรัฐยังเป็นประหนึ่งแรงหนุนเสริมเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ใช้บริการที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณภาครัฐ ทั้งในส่วนของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิข้าราชการและครอบครัว รวมถึงประกันสังคม ซึ่งในแต่ละปีมีการเบิกจ่ายงบการรักษามากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มูลค่าของธุรกิจนี้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจมูลค่าล้านล้านบาทได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนจะประกอบส่วนด้วยผู้รับบริการชาวไทยเป็นด้านหลักถึงร้อยละ 70 ของรายได้ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด หากแต่ภายใต้แผนการตลาดว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ทำให้ฐานลูกค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลได้มากถึงปีละไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ท่ามกลางปัจจัยบวกที่พร้อมสนับสนุนการเติบโตในอนาคต ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลกลายเป็นสมรภูมิธุรกิจแห่งใหม่ที่ผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ต่างพยายามขยายแนวและปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยก่อนหน้านี้ “เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ” (BDMS) ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งนับเป็นผู้นำในตลาดแห่งนี้ ได้ขยับตัวรองรับนโยบายการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ด้วยการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนถนนวิทยุ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร “BDMS Wellness Clinic” แห่งแรกในเอเชีย

ขณะที่นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีแผนที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณรังสิต เพื่อจัดตั้ง เมดิคัล ซิตี้ ภายใต้แนวคิดที่จะสร้างเมืองที่มีบริการทางการแพทย์ครบวงจรและธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ หรือแม้กระทั่งความเคลื่อนไหวของอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตผู้บริหารและเจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ที่พยายามหวนกลับมาสู่ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพอีกครั้ง ด้วยการนำเสนอแผนการก่อตั้งโรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล (RSU International Hospital: RIH) ขนาด 304 เตียงบนพื้นที่ 11 ไร่ ในย่านธุรกิจบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2020

ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นอยู่ที่การขยายธุรกิจเข้ามาในอุตสาหกรรมการแพทย์และโรงพยาบาลของผู้ประกอบการนอกวงการ ทั้งในกรณีของกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ของทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ซึ่งเดิมเกมรุกทางธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มเติมรายได้ประจำ และลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจที่อยู่อาศัย

หรือกรณีของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) มหาอาณาจักรธุรกิจมูลค่านับล้านล้านบาทและครอบคลุมธุรกิจหลากหลายของธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีแผนขยายแนวรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพด้วยการจัดตั้ง บริษัท ซีพี เมดิคัล เซ็นเตอร์ ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่กำลังจะขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการสุขภาพด้วยเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ ในด้านหนึ่งอาจประเมินได้ว่าเป็นผลมาจากความพยายามปรับสัดส่วนรายได้ด้วยการสร้างพอร์ตรายได้ประจำ (Recurring Income) และเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างความมั่นคงด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันยังเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำที่มีผลการดำเนินงานขยายตัวต่อเนื่องทุกปีอีกด้วย

หากแต่ในอีกมิติหนึ่งจะพบว่ากลุ่มทุนใหญ่รายใหม่ๆ ที่กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มีพอร์ตการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ ซึ่งทำให้การขยายแนวรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการสุขภาพนี้ เป็นประหนึ่งการต่อยอดธุรกิจที่พร้อมจะเอื้ออำนวยโอกาสให้กับธุรกิจของพวกเขาให้ครบวงจรยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ในปัจจุบันจะมีโรงพยาบาลเอกชนมากถึงกว่า 340 แห่งอยู่แล้วทั่วประเทศและมีจำนวนเตียงทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 35,000 เตียง หากแต่ปริมาณดังกล่าว ส่วนหนึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และด้วยแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มสูง ควบคู่กับโอกาสทางธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหลายค่ายยังเดินหน้าขยายการลงทุน และคาดว่าภายในปี 2563 จะมี รพ.เอกชนเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ-ชานเมืองอีก 5-6 โรงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 เตียง

ตัวเลขที่น่าสนใจจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่าช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนได้ทยอยยื่นขออนุญาตเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งสำหรับโครงการใหม่และส่วนต่อขยาย ซึ่งสำหรับในเขตกรุงเทพฯ ได้พิจารณาอนุมัติไปแล้ว 7-8 โครงการ

ทั้งโรงพยาบาลขนาด 152 เตียง ของบริษัท เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มตระกูลณรงค์เดช และศรีไกรวิน โรงพยาบาลวิมุตติ ขนาด 254 เตียงของกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง โรงพยาบาลธัญญเวช ลำลูกกา โรงพยาบาลสินแพทย์ บางนา และโรงพยาบาลอินทรารัตน์

แต่กรณีที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดดูเหมือนจะเป็นกรณีของโรงพยาบาลขนาด 550 เตียงของกลุ่มโรงพยาบาลมหาชัย ที่ดำเนินผ่านบริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่เคยมีการลงทุนในไทย เว้นแต่ในกรณีของโรงพยาบาลรัฐ

หรือแม้แต่ในกรณีของโรงพยาบาลภายใต้ร่มธงของ บมจ.ดุสิตเวชการ (BDMS) ที่ประกอบส่วนเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในไทยประกอบทั้งโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล หากแยกเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวๆ แต่ละแห่ง ก็ยังมีจำนวนเตียงไม่ถึง 550 เตียง

การสร้างโรงพยาบาลขนาด 550 เตียง โดยเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย หากแต่นับเป็นความท้าทายอย่างหนักหน่วงทั้งในมิติของความมั่งคั่งด้านเงินทุน หรือแม้แต่ประเด็นว่าด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูจะเป็นทรัพยากรที่พร้อมจะถูกช่วงชิงในอนาคต ซึ่งนอกจากจะมีการดึงตัวระหว่างโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันแล้ว โรงพยาบาลเปิดใหม่ยังพร้อมที่จะดึงหมอจากโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะบุคลากร ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อนำมาเป็นจุดเด่นและจุดขายด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจของการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนใหม่ในธุรกิจโรงพยาบาล แม้ว่าจะเป็นการเปิดให้เกิดการแข่งขันทั้งในด้านบริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และกระตุ้นการพัฒนาให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยให้สามารถต่อยอดไปสู่การเป็น medical hub หากแต่ในอีกมิติหนึ่งกลับให้ภาพที่น่ากังวลเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับประชาชนอย่างไม่อาจเลี่ยง

ความเป็นไปของธุรกิจโรงพยาบาลนับจากนี้จึงนับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจติดตามเพราะในขณะที่โรงพยาบาลดูจะเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยามที่เจ็บป่วย ไม่ต่างกับการที่ต้องบริโภคอาหารเพื่อระงับความหิว หากแต่โรงพยาบาลยังเกี่ยวเนื่องด้วยความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการสั่งสมชื่อเสียง

ประเด็นที่ท้าทายสำหรับกลุ่มทุนใหม่ที่กำลังเดินหน้ารุกเข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาล จึงมิได้อยู่ที่ฐานกำลังแห่งทุนแต่เพียงลำพัง หากแต่ยังผูกพันกับการสร้างทีมงานและประกอบส่วนด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นประหนึ่งด่านหน้าในการปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการด้วย

จังหวะก้าวของกลุ่มทุนใหญ่ที่รุกเข้ามาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ย่อมมิได้เป็นเพียงการขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง หากแต่กำลังเป็นประหนึ่งสนามประลองกลาง ที่จะวัดศักยภาพการบริหารและวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ที่อาจชี้วัดฝีมือของผู้คนในองค์กรให้สาธารณชนได้ประจักษ์ด้วย

ใส่ความเห็น