“คิงเพาเวอร์” เพิ่งจัดงานเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 29 ปี พร้อมเปิดแคมเปญพิเศษให้ลูกค้านักช้อปตลอดเดือนตุลาคม แต่ทุกอย่างเหมือนดับวูบทันทีหลังเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของอาณาจักรธุรกิจแสนล้านตกหน้าสนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ของคืนวันเสาร์ที่ 27 ต.ค.61 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจบเกมที่เลสเตอร์ ซิตี้ เสมอ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 1-1
แน่นอนว่า การสานต่อภารกิจของ “พ่อ” คือสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการเดินหน้าประมูลสัญญาสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบินสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2563 ท่ามกลาง “จุดเปลี่ยน” ของสัญญาที่มีการเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ให้ยกเลิกการทำสัญญาใหญ่รายเดียว (Mater Concession)
แม้กลุ่มคิงเพาเวอร์พยายามปรับตัวรองรับการเปิดเสรีดิวตี้ฟรีมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งรุกขยายธุรกิจค้าปลีกย่านใจกลางเมือง หรือ “ดาวน์ทาวน์คอมเพล็กซ์” เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง ขยายฐานลูกค้ากลุ่มนักช้อปทั่วไป รุกธุรกิจดิวตี้ฟรีในต่างประเทศ และลุยแผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 เตรียมเม็ดเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท เร่งขยายสาขาร้านปลอดอากรในเมืองขนาดใหญ่ จากปัจจุบันมี 4 สาขาที่ซอยรางน้ำ, พัทยา, ศรีวารี และภูเก็ต ไม่รวมร้านดิวตี้ฟรีใน 6 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และอู่ตะเภา เพื่อผลักดันรายได้สู่เป้าหมาย 130,000-140,000 ล้านบาท
ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มคิงเพาเวอร์ยังทุ่มเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อโครงการมหานคร และเปลี่ยนชื่อเป็น คิงเพาเวอร์ มหานคร ในส่วนโรงแรมจุดชมวิว Observation Deck และอาคารรีเทลมหานครคิวป์ จาก บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พร้อมปักหมุดประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และศูนย์รวมไลฟ์สไตล์แห่งภูมิภาค
แต่หากนับสัดส่วนรายได้ของอาณาจักรคิงเพาเวอร์กว่า 90% ยังมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งกำลังพลิกเปลี่ยนจากยุคผูกขาดส่วนแบ่งมากกว่า 90% สู่การเปิดเสรี
ข้อมูลจาก ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมากในการสร้างรายได้จากธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าสินค้าปลอดภาษีที่ชัดเจน โดยแบ่งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินอินชอน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ ราว 60 ล้านคนต่อปี เป็น 12 สัมปทาน โดยอาคาร 1 แบ่งสัญญาสัมปทานตามพื้นที่ (area concession) 6 สัญญา และ อาคาร 2 แบ่งตามกลุ่มสินค้า (category concession) เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น หนังสือ อีก 6 สัญญา
นอกจากนี้ ส่งเสริมการแข่งขันจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในตัวเมือง โดยให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในกรุงโซลกว่า 10 แห่ง มีทั้งร้านขนาดใหญ่ เช่น Lotte Shilla Shinsegae Galleria Duty Free Doot Duty Free และขนาดย่อม เช่น Entras SM Duty Free หรือ Ulsan กระจายอยู่ทุกย่านของตัวเมือง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่
ขณะที่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทยไม่ว่าจะในสนามบินหรือในเมืองเป็นของผู้ประกอบการรายเดียว ทำให้ตลาดสินค้าปลอดภาษีเป็นตลาดผูกขาดสมบูรณ์ ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีไม่สูงมาก
เปรียบเทียบตัวเลขการใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าปลอดภาษีของไทยเฉลี่ยเพียงหัวละ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,550 บาทเท่านั้น เทียบกับเกาหลีใต้สูงถึงหัวละ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,580 บาท มากกว่าไทยถึงกว่า 5 เท่า ทำให้เกาหลีใต้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาท
ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ศึกษาวิจัยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในประเทศไทย โดยรวบรวมแบบอย่างการพัฒนาธุรกิจดิวตี้ฟรีและกระบวนการจัดระเบียบการให้สัมปทานที่เป็นมาตรฐานสากลจากหลายประเทศ เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก มีผู้มาเยือนแบบค้างแรม มากกว่า 32 ล้านคน และ 40% เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการใช้จ่ายสูง ซึ่งธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทยยังมีช่องว่างในการพัฒนาศักยภาพได้อีกมาก
สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ขณะที่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้มีมากกว่า 10 ราย โดยผู้ประกอบการ 3 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10-40% แม้กระทั่งประเทศขนาดเล็ก เช่น กัมพูชา มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรมากกว่า 3 ราย
เมื่อพิจารณาประมาณการยอดขายสินค้าปลอดภาษีอากรของประเทศ แม้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ค้างแรมสูงถึง 32.6 ล้านคน แต่สร้างรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีและการท่องเที่ยวได้แค่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้มีผู้มาเยือนเพียง 16.9 ล้านคน แต่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสูงกว่าประเทศไทยถึง 5.7 เท่า เป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
รายงานวิจัยระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิมีผลการประเมินต่ำมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ร้านค้าปลอดภาษีอากรมีกลุ่มสินค้าและจำนวนร้านค้าน้อย แบรนด์หรูไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีอากร จำนวน 10, 10, 7 และ 5 รายตามลำดับ โดยสนามบินแต่ละแห่งใช้ระบบสัมปทานตามกลุ่มสินค้า ตรงกันข้ามกับระบบสัมปทานรายใหญ่รายเดียวที่ประเทศไทยใช้อยู่
ทั้งนี้ การดำเนินกิจการร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินทั่วโลก มีรูปแบบการให้สัมปทาน 4 รูปแบบ คือ สัมปทานรายใหญ่รายเดียว (master concession) สัมปทานตามที่ตั้ง (multiple concessions by location) มอบให้ผู้ให้บริการหลายราย ขึ้นอยู่กับที่ตั้งในอาคารผู้โดยสาร และสัมปทานตามกลุ่มสินค้า (multiple concessions by category) เป็นสัมปทานที่มอบให้ผู้ดำเนินกิจการหลายรายตามประเภทผลิตภัณฑ์หลัก คือ เครื่องสำอาง สุราไวน์-ยาสูบ แฟชั่นบูติค และสินค้าทั่วไป
หากเปรียบเทียบกัน สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินชั้นนำอื่นในภูมิภาค ได้แก่ สนามบินนานาชาติอินชอน ชางงี และฮ่องกง แม้มีปริมาณผู้ใช้สนามบินใกล้เคียงกัน แต่ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรของสนามบินทั้ง 3 แห่งมียอดขายสูงกว่าอย่างชัดเจน
ข้อแตกต่างสำคัญ คือโครงสร้างการให้สัมปทานธุรกิจปลอดภาษีของทั้ง 3 แห่งใช้สัมปทานแบบหลายรายแยกตามประเภทกลุ่มสินค้าและบริการ
ส่วนรูปแบบสัมปทานรายใหญ่รายเดียวเหมาะกับสนามบินขนาดเล็กที่มีปริมาณผู้ใช้บริการไม่หนาแน่นมาก ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในอดีต แต่ปัจจุบันสนามบินขนาดใหญ่ไม่ใช้วิธีนี้แล้ว นอกเหนือจากความง่ายในการบริหารจัดการ รูปแบบสัมปทานรายใหญ่รายเดียวมักส่งผลให้สินค้าไม่หลากหลายและไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา
อีกปัจจัยหนึ่ง เรื่องอายุสัมปทาน ซึ่งกรณีประเทศไทยมีอายุสัมปทานนานถึง 10 ปี และยังมีการขยายระยะเวลาสัญญานานขึ้นถึง 14 ปี จากการขยายสัญญา 2 ครั้ง ด้วยเหตุผลชดเชยการปิดสนามบิน 7 วันจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ขณะที่ค่าธรรมเนียมสัมปทานกลับอยู่ในระดับต่ำเพียง 15% และ 19% สำหรับสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง / สนามบินนานาชาติภูเก็ต เทียบกับสนามบินอินชอนและชางงีมีค่าธรรมเนียมสัมปทานสูงถึง 40% และ 46% ตามลำดับ
ความแตกต่างของอัตราค่าธรรมเนียมสัมปทานของร้านค้าปลอดภาษีอากรในสนามบินจะสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการทางการเงินของผู้ดำเนินกิจการ โดยคิงเพาเวอร์แม้มีอัตรากำไรขั้นต้น 33% ต่ำกว่าผู้ดำเนินกิจการรายอื่นในต่างประเทศ เช่น ดูฟรี (Dufry) มีอัตรากำไรขั้นต้น 58.6% แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคิงเพาเวอร์ คิดเป็น 26% ขณะที่ดูฟรี สูงถึง 55.1%
ดังนั้น กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีของคิงเพาเวอร์จะสูงกว่า อยู่ที่ 6% เทียบกับดูฟรี (Dufry) และลาการ์เดียร์ (Lagardere) อยู่ที่ 3.5% และ 1% เท่านั้น เนื่องจากอัตราค่าสัมปทานต่ำกว่า ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของคิงเพาเวอร์จึงสูงกว่า
ผลสรุปจากการวิจัย สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เสนอแนะให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสัมปทานของไทยจากสัมปทานรายใหญ่รายเดียวเป็นสัมปทานตามกลุ่มสินค้า ลดระยะสัญญาเหลือ 5-7 ปี และปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยสากล อีกทั้งเกณฑ์การพิจารณามอบสิทธิ์สัมปทาน ควรใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานสากล คือ ให้น้ำหนักข้อเสนอการประเมินผลทางธุรกิจ (ด้านเทคนิค) และข้อเสนอด้านราคา (การรับประกันรายปีขั้นต่ำ ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้า) เป็น 60% และ 40%
หากประเทศไทยปรับปรุงตามข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี จากแนวโน้มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อประเทศมี Shopping Tourism โดดเด่น และคนไทยจะกลับมาชอปปิ้งในประเทศมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาตอกย้ำประเด็นการเปิดเสรีให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองและเพิ่มผลตอบแทนรัฐในสัญญาสัมปทานเป็น 30-40% เช่นเดียวกับจีนหรือสิงคโปร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-19% ต่ำสุดของโลก รวมถึงแนวคิด Duty Free City ในเมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะมีเหล่ายักษ์ค้าปลีก ทั้งในไทยและต่างชาติกระโดดเข้าสู่ศึกชิงสัมปทานอีกหลายราย
การพลิกโฉมธุรกิจดิวตี้ฟรีที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นภารกิจสุดหินของทายาท “คิงเพาเวอร์” โดยเฉพาะอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
จะก้าวผ่านและเอาชนะได้หรือไม่!!