การตัดสินใจจับมือกันระหว่าง “บุญรอดบริวเวอรี่” กับ “ลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป” บริษัท Logistics ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เปิดตัวบริษัทร่วมทุน “บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์” ภายใต้ชื่อ BevChain Logistics ถือเป็นแผนปฏิวัติแนวคิดเรื่องระบบการจัดจำหน่ายครั้งใหญ่ของค่าย “สิงห์” ซึ่งปิติ ภิรมย์ภักดี ประกาศว่า นี่คือ Challenge ครั้งสำคัญ
โดยเฉพาะการล้างแนวคิดเดิมๆ ผลิตเอง ทำเอง และส่งเอง สู่ยุทธศาสตร์การสร้างธุรกิจซัปพลายเชนที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ด้านหนึ่งเป็นการยกเครื่องระบบขนส่งทั้งหมดของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ แผนต่อยอดรุกขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
อีกด้านหนึ่งเป็นแผนแตกอาณาจักรใหม่ บุกตลาดซัปพลายเชนที่มีเม็ดเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท การขยายเครือข่ายคู่ค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ชนิดที่เรียกว่า “WIN-WIN” ทุกฝ่าย
อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางธุรกิจของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่สั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนานและเรียนรู้การพลิกสถานการณ์ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เมื่อพระยาภิรมย์ภักดีตั้งบริษัท บางหลวง จำกัด ริเริ่มทำธุรกิจเดินเรือ “เรือเมล์ขาว” ข้ามไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นผู้คนสัญจรไปมายากลำบาก กระทั่งปี 2471 เมื่อทางราชการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าโรงยางเก่าไปฝั่งธนบุรีและตัดถนนใหม่เชื่อมตลาดพลู ประตูน้ำภาษีเจริญ ตามแนวเส้นทางเรือยนต์ พระยาภิรมย์ภักดีตัดสินใจเบนเข็มหาธุรกิจอื่นทันที
เวลานั้นพระยาภิรมย์ภักดีได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และมีโอกาสลิ้มรสเบียร์เยอรมัน คิดขึ้นว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ จึงยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2473
ปี 2476 รัฐบาลอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ ใช้เวลาก่อสร้างโรงเบียร์แล้วเสร็จในปี 2477 เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์และสิงห์ ขายราคาขวดละ 32 สตางค์ เกิดบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ยึดครองตลาดเบียร์และขยายธุรกิจจากเจเนอเรชั่นที่ 1 สู่เจเนอเรชั่นที่ 4 สร้างรายได้มากกว่าแสนล้าน
ท่ามกลางสงครามการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่นในปี 2544 และปรับฐานะ “บุญรอดบริวเวอรี่” เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เร่งขยายอาณาจักรธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์รับกระแสรักสุขภาพ บุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุด คือการรุกธุรกิจ Logistics และซัปพลายเชน เพื่อยกเครื่องระบบขนส่งและจัดจำหน่ายสินค้าทุกตัวในเครือ เพราะเชื่อแน่ว่า ระบบซัปพลายเชนจะเป็นจุดแข็งที่สามารถเอาชนะคู่แข่งและสร้างกำไรเติบโตได้อย่างยั่งยืนที่สุด
ปิติ ภิรมย์ภักดี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด กล่าวว่า การร่วมทุนกับ บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย) ในเครือลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เกิดจากทัศนคติและความต้องการสร้างเครือข่ายทางการขนส่งและคลังสินค้าหรือระบบซัปพลายเชนที่ทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาค ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผสานกับความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัท
ทั้งนี้ บุญรอดฯ จะใช้จุดแข็งและศักยภาพที่มีตลอด 85 ปีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายการค้า ตัวแทนจำหน่าย การส่งสินค้าและบริการเจาะถึงร้านค้าปลีกที่อยู่ตามตรอก ซอกซอยในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ด้านลินฟ้อกซ์มีจุดแข็งในแง่ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินค้าและการขนส่ง ถือเป็นบริษัทให้บริการด้าน Logistics เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีธุรกิจครอบคลุมตลาดใน 12 ประเทศ มีคลังสินค้ากว่า 200 แห่ง พนักงาน 24,000 คน และมีการให้บริการส่งสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายเซกเตอร์ ทั้ง สินค้าอุปโภค-บริโภค ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ในประเทศไทยนั้น ลินฟ้อกซ์เข้ามาให้บริการด้านขนส่งสินค้านานถึง 25 ปี มีลูกค้ายักษ์ใหญ่มากถึง 14 บริษัท เช่น กลุ่มไมเนอร์ ยูนิลีเวอร์ เทสโก้โลตัส เคเอฟซี มีมูลค่ารายได้เกือบ 10,000 ล้านบาท และนับวันระบบซัปพลายเชนจะเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ปิติกล่าวว่า หากมองวิวัฒนาการของระบบขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคของประเทศไทย ช่วงระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับช่องทางร้านค้าโชวห่วย ร้านม้าหินตามต่างจังหวัด ตรงนั้นเป็นจุดขายที่ปัจจุบันยังมีมากกว่า 2 แสนสาขา ซึ่งกลุ่มบุญรอดฯ นำส่งสินค้าจากคลังสินค้าผ่านร้านโชวห่วยมากถึง 80% ส่วนโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วน 20% เราจึงรู้จักดีกับร้านค้ากลุ่มซาปั๊ว ยี่ปั๊ว และโชวห่วย
ขณะที่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดร้านสะดวกซื้อและเคยมีการคาดการณ์กันว่า ร้านสะดวกซื้อที่รุกเข้ามากว่า 4,000-5,000 สาขา จะทำให้โชวห่วยหายไป แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โชวห่วยยังอยู่และกลุ่มบุญรอดฯ ยังส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้
แต่โจทย์ข้อสำคัญในเวลานี้ คือการบริหารจัดการที่ดีขึ้นและค้นพบว่า ทั้งร้านค้าโชวห่วย โมเดิร์นเทรด หรือร้านสะดวกซื้อ ต้องอาศัยระบบซัปพลายเชนเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อควบคุมต้นทุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“สินค้าเดิมขาย 10 บาท จะลงเหลือ 6 บาท ยากแน่ แต่การทำกำไรต้องมาจากการบริหารจัดการสินค้าในสต๊อก ในคลังสินค้า ลดต้นทุนการขนส่ง บริหารสินค้าหลังบ้านให้น้อยที่สุด แต่ห้ามขาด เพื่อขายให้ลูกค้าได้ตลอดเวลา ตรงนี้แหละที่เบฟเชนจะทำหน้าที่เชื่อมโยงสินค้า วัตถุดิบ จากโรงงาน จากคลังสินค้า ไปถึงผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม แม้ปิติเห็นเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของระบบซัปพลายเชน สนใจและศึกษาอย่างจริงจังเมื่อเกือบสิบปีก่อน ผลักดันบริษัท ลีโอลิงค์ ในฐานะบริษัทบริหารจัดระบบ Logistics ในกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ พยายามทำโปรเจกต์ลดต้นทุน ขยายคลังสินค้า นำบริษัทเอาต์ซอร์สเข้าทำระบบ Logistics แต่ยังเหมือนไม่บรรลุเป้าหมายและคิดว่าต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญแท้จริง
“ผมคุยมาหลายบริษัท ไม่น้อยกว่า 6 บริษัท ทั้งเอเชีย ยุโรป และเปลี่ยนเป้าหมายกว้างมากขึ้น เพราะถ้ามองประเทศไทยในลักษณะภูมิศาสตร์ วิเคราะห์จากประสบการณ์การขายสินค้าในท้องตลาด 15-18 ปี ภูมิศาสตร์ประเทศไทยค่อนข้างด้อย มีท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง แต่ไม่ได้ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับฝั่งพม่า เวียดนาม มีระบบขนส่งไม่ต้องวิ่งอ้อมอ่าวไทย แต่ไทยต้องอ้อมอ่าวไทยทำให้การส่งสินค้าไปประเทศจีนหรือเวียดนามมีต้นทุนสูง”
“ที่สำคัญ ทุกบริษัทต่างทำระบบ Logistics ถ้ามีคนทำได้ดีกว่า การมีพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน บริหารจัดการดีขึ้น เครือข่ายแข็งแรง ทั้งหมดจะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รถคันหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีสินค้าบุญรอดฯ เจ้าเดียว แต่มีคู่ค้าเข้ามาแชร์ค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาการขนส่งสั้นขึ้น เพื่อความสดใหม่ ทำไมไม่ทำ เพราะยุคนี้ไม่มีข้อมูลความลับทางการค้า ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถมีผลประโยชน์ร่วมกัน ตรงนี้เป็น Challenge ของผมที่ต้องสร้างความมั่นใจกับคู่ค้าให้ได้” ปิติกล่าว
เบื้องต้น ตามแผนระยะแรก BevChain Logistics จะให้บริการสินค้าในกลุ่มบุญรอดฯ ทั้งหมดและขยายไปยังคู่ค้า รวมทั้งวางเป้าหมายภายใน 3 ปีจะเจาะตลาดอาเซียน รองรับการเติบโตของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นตลาดสำคัญของสินค้าและบริการจากประเทศไทย
เมื่อแบรนด์ต่างๆ เข้าไปขยายตลาด ทำให้ต้องการบริการด้าน Logistics ตามไปด้วย โดยเจาะกลุ่มลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาด ทั้งบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนระยะยาวจะขยายต่อไปยังตลาดเอเชียและยุโรป
สำหรับโมเดลธุรกิจของ BevChain Logistics ในประเทศไทย จะเน้นให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกับในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ การให้บริการด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า การให้บริการด้านจัดส่งสินค้า แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปสำหรับ BevChain Logistics ในประเทศไทย คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ขนาดปานกลางถึงขนาดย่อม และลูกค้ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มต่างๆ ที่ต้องการป้อนสินค้าและบริการถึงลูกค้าเป้าหมายปลายทางหรือ Last Mile
ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจ Logistics ในประเทศไทย ปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 215,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกมีมูลค่าประมาณ 145,100–147,300 ล้านบาท และธุรกิจคลังสินค้า 75,500–76,700 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางการตลาดของบริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ และบริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย) จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท ดีเอชแอล เท่านั้น
ที่ผ่านมา กลุ่มดีเอชแอลเร่งขยายเครือข่ายคู่ค้าในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การรับบริหารจัดการคลังสินค้าให้บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป ในศูนย์กระจายสินค้าที่จัดเก็บสินค้ามากกว่า 500,000 ชิ้น 42 แบรนด์ การจับมือบริษัทเกษมชัยฟู๊ด ผู้ผลิตไข่ในประเทศไทย บริการจัดส่งไข่สดจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งดีเอชแอลถือเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรม Logistics ทั้งการขนส่งภายในและระหว่างประเทศ การขนส่งทางบก ทางเรือ และการขนส่งด่วนทางอากาศ การบริหารจัดการซัปพลายเชนภาคอุตสาหกรรมผ่านกลุ่มธุรกิจต่างๆ ใน 220 ประเทศ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
แน่นอนว่า เป้าหมายการเจาะตลาดช่วงชิงเม็ดเงินสู้ยักษ์ DHL ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าสำเร็จต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง พิสูจน์ฝีมือเจเนอเรชั่นที่ 4 ที่ชื่อ ปิติ ภิรมย์ภักดี ได้อย่างแท้จริง