การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงินไทย กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะก้าวไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด การทำธุรกรรมดิจิทัลผ่านอุปกรณ์สื่อสารมือถือ การปรับลดจำนวนสาขา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเร่งลดทอนค่าใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานและระบบการบริหารการบริการที่ดำเนินมาในช่วงก่อนหน้านี้
ตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่าผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ธนาคารพาณิชย์ มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมลดลงเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ โดยปรับตัวลดลงร้อยละ11. 2 จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงกิ้ง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีกำไรสุทธิ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวขึ้นในอัตราร้อยละ 15.9 จากรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงเป็นหลัก
การแข่งขันกันของธนาคารพาณิชย์ด้วยการเปิดศึกยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมดิจิทัลบนมือถือ ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 มีผู้ใช้บริการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งสูงถึง 224 ล้านรายการ หรือคิดเป็น 90% ของยอดการโอนเงินของลูกค้า ขณะที่อัตราการโอนเงินผ่านสาขามีเพียง 170,000 รายการ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากนำมาเปรียบเทียบกัน
การมาถึงของเทคโนโลยี ในด้านหนึ่งได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์ และกำลังจะเป็นแรงผลักสำคัญต่อการพิจารณาปรับลดต้นทุนและการบริหารจัดการในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแย่งชิงและยึดกุมฐานลูกค้าในยุคสังคมไร้เงินสดให้มาทำธุรกรรมดิจิทัลผ่านมือถือที่กำลังทวีความเข้มข้น และกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีความดุเดือดยิ่งขึ้น เพราะธุรกรรมดิจิทัลเหล่านี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถติดตามพฤติกรรมต่อยอดบริการ และสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ได้เต็มที่
ขณะเดียวกันพนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ ที่ดูเหมือนจะมีบทบาทลดลงหลังจากที่ธุรกรรมจำนวนมากถูกปรับย้ายไปสู่แพลตฟอร์มมือถือ กลายเป็นกลุ่มคนที่กำลังได้รับผลกระทบจาก disruptive technology ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างไม่อาจเลี่ยง ทั้งจากการถูกปรับออกจากงาน การย้ายไปอยู่ส่วนงานอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นแรงกดดันให้พนักงานบางส่วนลาออกไปเอง
ท่วงทำนองของธนาคารพาณิชย์ในการปรับลด-ปิดสาขา เพื่อลดต้นทุนการจัดการสอดรับกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ธนาคารมี “แบงกิ้งเอเย่นต์” หรือตัวแทนธนาคารในการรับทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน-รับชำระเงิน ซึ่งจะกลายเป็นอีกช่องทางรองรับการให้บริการของธนาคาร พร้อมกับการปรับบทบาทหน้าที่ของสาขาที่เปลี่ยนไป
ความเป็นไปในมิติของแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อในนาม 7-11 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศตัวอย่างโดดเด่นว่าพร้อมจะเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ อย่างน้อย 2 ราย ได้รับการประเมินว่าจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมการเงินพื้นฐานที่เดิมต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร ได้รับความสะดวกและมีทางเลือกในการทำธุรกรรมมากขึ้น
หากแต่ในมิติที่ว่านี้ ผู้ประกอบการทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ 7-11 ดูจะได้รับอานิสงส์ในทางบวก จากท่วงทำนองที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่น้อยเลย เพราะบริการที่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ดำเนินการผ่านทั้งจากช่องทางของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีอยู่ครอบคลุมในลักษณะที่เกือบจะเรียกได้ว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย และบริการของเคาน์เตอร์เซอร์วิส นอกจากจะสร้างรายได้จากการเก็บค่าบริการของการทำธุรกรรม (transaction fee) แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังหมายถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่สะพัดผ่านและอยู่ในมือในแต่ละช่วงเวลาด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) พยายามขยายอาณาจักรทางธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินมาเป็นระยะไม่ว่าจะโดยการเข้าถือหุ้นเป็นพันธมิตรกับธนาคารจากจีนหรือการรุกเข้าสู่ธุรกิจประกันในนาม Allianz CP จนล่าสุดการรุกคืบด้วยการประสานความร่วมมือกับ AliPay ในการรุกเข้าสู่บริบทธุรกิจ Cashless Society ที่เป็นการจุดพลุให้ภูมิทัศน์ทางธุรกิจการเงินไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย
หากคำกล่าวของ Bertolt Brecht นักการละครคนสำคัญของเยอรมนี ที่ว่า “What is the robbing of a bank compared to the founding of a bank? It is easier to rob by setting up a bank than by holding up a bank clerk.” จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง บางทีท่วงทำนองและจังหวะก้าวของ CP ในการขยายโครงข่ายธุรกิจให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการเงิน ก็ดูจะเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปดังกล่าวที่เด่นชัดและสื่อความหมายยิ่ง
จังหวะก้าวของเครือ CP ที่ชวนให้ตื่นตาในการรุกเข้าสู่บริการทางการเงินในรูปแบบ digital ผ่านกลไกของ True Money ที่กำลังต่อยอดไปสู่ความร่วมมือกับ AliPay ในการทำธุรกรรมแบบ Digital Money ที่ทำให้กลไกรอบด้านของ CP พร้อมจะเป็นมากกว่าแบงกิ้งเอเยนต์ หรือแม้กระทั่งประเด็นว่าด้วยการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบธนาคารพาณิชย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องรีบร้อนมากนัก
ขุมพลังของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อกำลังทำให้ CP สามารถผนึกกำลังและประสานประโยชน์กับบรรดาเหล่าสถาบันการเงิน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธนาคารพาณิชย์ ในการเป็นช่องทางทำธุรกรรมทางการเงินหลากหลายเท่านั้น หากยังหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสาขาของร้านสะดวกซื้อ และประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในสังกัด ซึ่งล้วนให้ภาพที่สวนทางกับกรณีการทยอยปิดสาขาและการปรับโครงสร้างพนักงานของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาอย่างยิ่ง
กระนั้นก็ดี การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ ด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมและการกระตุ้นให้ลูกค้าของธนาคารมาทำธุรกรรมทั้งโดยอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและบนโมบายแบงกิ้ง รวมถึงการชำระเงินผ่าน QR Payment ก็ดูจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้สถานะของการเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ที่คาดหมายว่าจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้จากค่าบริการสั่นคลอนลงไม่น้อยเช่นกัน
เพราะหากประเมินจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งสูงถึงร้อยละ 90 ของยอดการโอนเงินของลูกค้าธนาคารทั้งระบบ ในด้านหนึ่งก็อาจหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินที่มากขึ้นของประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคารด้วย
บางที disruptive technology ของโมบายแบงกิ้งอาจทำให้สถานะการเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ที่หลายฝ่ายคาดหวังอาจเป็นได้เพียงไข่ที่รอการฟัก แต่อาจไม่มีโอกาสที่จะเติบโตมาเป็นแม่ไก่ที่พร้อมจะออกไข่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของเล้าได้มากอย่างที่ปรารถนาก็เป็นได้