วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ทุนไทยหนุน สปป.ลาว สู่เป้าหมาย เขื่อน-โรงไฟฟ้าคือคำตอบ?

ทุนไทยหนุน สปป.ลาว สู่เป้าหมาย เขื่อน-โรงไฟฟ้าคือคำตอบ?

หลายครั้งที่ตลาดอเมริกา ตลาดยุโรป เป็นตลาดสำคัญที่บ่งบอกทิศทางความเป็นไปทางเศรษฐกิจระดับมหภาค และนักลงทุนจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับตลาดเหล่านี้

ขณะที่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างตลาดอาเซียนกลับได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งจากเหตุผลที่ว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เมื่อปลายปี 2015 และการเพิ่งเปิดประเทศของกลุ่มนี้

นี่เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจในกลุ่ม CLMV เติบโตด้วยอัตราเร่งที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับจีนและอินเดีย ที่ตลาดนี้มีอัตราการเติบโตดีกว่า ทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์

ความหอมหวนของตลาดนี้ส่งกลิ่นเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ และแน่นอนว่ารวมนักลงทุนไทยด้วย ที่เบนเข็มพุ่งเป้า และกำหนดหมุดหมายใหม่ รวมไปถึงการแสวงหาประโยชน์ในตลาด CLMV

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่นับวันยิ่งน่าจับตามอง เมื่อรัฐบาล สปป.ลาว ประกาศใช้แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อนำพาประเทศให้พ้นจากการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ที่มีนโยบายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ สปป.ลาว จำต้องพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว คำตอบที่เสมือนตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ คือ การเพิ่มศักยภาพของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อันจะนำมาซึ่งรายได้เข้าสู่ประเทศ

ภูมิประเทศที่รายล้อมไปด้วยภูเขา ต้นไม้ และแม่น้ำสำคัญหลายสาย “พลังงานไฟฟ้า” จึงเป็นสินค้าส่งออกหลักของ สปป.ลาว พลังงานไฟฟ้าจึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ปี 2020 ด้วยการเป็น “Battery of Asia” นั่นทำให้ เขื่อน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน คือคำตอบที่จะผลักดันให้ลาวเป็นและได้ในสิ่งที่ต้องการ

เหตุผลข้างต้น ทำให้นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้พิจารณา สปป.ลาว ในบริบทใหม่แตกต่างไปจากเดิม

การประกาศเป้าประสงค์ของ สปป.ลาว ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติจำนวนไม่น้อยแสดงเจตจำนงที่จะนำเอาวิทยาการที่เหมาะสมมาเสนอต่อภาครัฐ

และเมื่อเป็นข้อเสนอที่นำพาให้ สปป.ลาว สามารถก้าวเข้าสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น ข้อแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นในรูปแบบการให้สัมปทานที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ในระยะเวลาไม่กี่สิบปี เราได้รับรู้ข่าวสารจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน

ทั้งนี้บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนจากไทย ที่ดูจะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อปี 2016 มีการลงทุนจากไทยใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลงทุนในโรงงานการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้ชำนาญการจากไทย เมื่อดูจากชื่อชั้นแล้ว ต้องยอมรับว่าบริษัทเหล่านี้น่าจะทำให้ลาวก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ยาก และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “พลังงานไฟฟ้า” กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของ สปป.ลาว

เพราะนอกจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่เพิ่งเกิดเหตุเขื่อนขนาดเล็กแตกไปเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีบริษัททั้งจากไทยและต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อย

ทั้งบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดเล็กผลิตกระแสไฟฟ้าที่ลำน้ำสาขา เพราะเหตุผลจากธรรมาภิบาลของบริษัทที่ไม่ต้องการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เมื่อต้องตัดต้นไม้หรือทำลายต้นน้ำทางธรรมชาติมากเกินไป

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ที่เริ่มเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ไปเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ บริษัท ช.การช่าง เจ้าของโครงการเขื่อนน้ำงึม 2

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ในฐานะเจ้าของโครงการหรือผู้ได้รับสัมปทาน และผู้ร่วมทุน เช่น บริษัทลูกของ กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าจากฝรั่งเศส บ.บางกอก เอ็กซ์เพรสเวย์ บ.ผลิตไฟฟ้าไทย EGCO บ.อิตาเลียน-ไทย

และห้วงยามนี้ที่ สปป.ลาวยังเดินทางไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งธงไว้ นั่นทำให้ยังมีนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งที่ส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะเข้ามาศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว เช่น บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ที่มีประสบการณ์จากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในไทยไปก่อนหน้า และครั้งนี้ดูเหมือนต้องการจะขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมุ่งเน้นไปในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจากไทยเลือกที่จะไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าใน สปป.ลาว น่าจะเป็นเพราะภาครัฐของไทยยังไม่มีนโยบายเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ และแผน Power Development Plan หรือ PDP ของไทย ซึ่งแผนเดิมมีการกำหนดกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2569 และยังเพิ่มขึ้นเป็น 15-20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2579 ซึ่งเป็นไปตามแผนการสำรองไฟฟ้าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะเกื้อหนุนการลงทุนของไทยที่เข้าไปวางรากฐานทางธุรกิจใน สปป.ลาว คือ กฎหมายสนับสนุนการลงทุนฉบับใหม่ของ สปป.ลาว ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2017 ซึ่งสร้างสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังกำหนดอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนไว้ชัดเจน

ทั้งนี้นักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลา 4-10 ปี นอกจากนี้ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ ตามเงื่อนไขการลงทุน ทั้งหมดทั้งมวลดูจะเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนจากไทยไม่น้อย

นอกเหนือไปจากการบรรลุเป้าหมายการเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียแล้ว มีหลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ สปป.ลาว น่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย ประมาณการว่าเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในช่วงปี 2558-2562 จะมีการขยายตัวราว 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เพราะหากพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 จะเป็นเหตุผลที่เกื้อหนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีกด้วย

ห้วงยามนี้ สปป.ลาว พยายามอย่างเต็มกำลังที่จะยืนหยัดขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของภูมิภาคอาเซียน ทั้งความต้องการที่จะให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนให้ได้ในปี 2020

กระนั้นหากย้อนกลับไปดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2557 มูลค่า GDP 411,370 ล้านบาท ปี 2558 มูลค่า GDP 446,090 ล้านบาท และปี 2559 มูลค่า GDP 492,900 ล้านบาท

นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว เมื่อปี 2560 มีการขยายตัวสูงถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไทย ที่ขยายตัวเพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว ยังตั้งเป้าตัวเลข GDP ว่าในปี 2561 เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินไปตามแผนอย่างไม่มีอุปสรรค GDP ต่อประชากรของ สปป.ลาวจะเพิ่มเป็น 2,567 ดอลลาร์สหรัฐ

การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของ สปป.ลาว น่าสนใจไม่น้อย ไม่ช้าไม่นานจากนี้คู่แข่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อาจต้องเพิ่มชื่อ สปป.ลาว เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้แข่งขันที่มีศักยภาพ

และหากเวลานั้นมาถึง ประเทศไทยที่มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน คงต้องย้อนกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง

ใส่ความเห็น