“สยามพิวรรธน์ทำศูนย์การค้า 40 กว่าปี พัฒนาและลงทุนอภิมหาโปรเจกต์ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก สร้างเดสทิเนชั่นของเมืองหรือของประเทศประสบความสำเร็จ มีความเชื่อมั่นและแข็งแรง หลายคนถามตลอดว่าเมื่อไหร่จะออกต่างจังหวัด วันนี้เรากำลังจะก้าวออกนอกกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เป็นก้าวย่างสำคัญและไม่ใช่การทำศูนย์การค้าแบบเดิมอีกแล้ว”
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวถึงทิศทางการลงทุนครั้งใหม่และแผนการร่วมทุนกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ซึ่งใช้เวลาเจรจาแนวคิดและประสบการณ์ต่างๆ กว่าจะตกผลึกยาวนานร่วม 1 ปี เพื่อสร้าง “เมือง” หรือโอเอซิสแห่งใหม่ของประเทศไทยที่ตั้งเป้าดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้ทุกวัน โดยมี “ลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต” เป็นแม็กเน็ตชิ้นสำคัญ
แน่นอนว่า ธุรกิจเอาท์เล็ตไม่ใช่โมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ในตลาดไทย แต่มีมานานมากกว่า 20 ปี โดยบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด ของปรีชา ส่งวัฒนา ที่ต้องการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ “Flynow” ในช่วงธุรกิจในเมืองไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในราคาที่ไม่บวกค่าขนส่งและค่าการตลาด ภายใต้แนวคิด “คุณภาพส่งออก ราคาผู้ผลิต”
เวลานั้น เอาท์เล็ทฟลายนาวสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน เนื่องจากสินค้าของเอฟเอ็นเป็นแบรนด์เสื้อผ้าระดับพรีเมียมและมีสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือนและการเดินทาง รวมถึงดึงสินค้าแบรนด์อื่นๆ เข้ามาจำหน่ายในเอาท์เล็ตในราคาลดมากกว่า 50%
จากสาขาแรกเมื่อปี 2543 ล่าสุด เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ขยายสาขารวม 10 แห่ง ปักหมุดตามเส้นทางเดินทางหลักไปจังหวัดต่างๆ เช่น สาขาเพชรบุรี สาขากาญจนบุรี สาขาพัทยา สาขาปากช่อง สาขาหัวหิน สาขาศรีราชา
นอกจากนี้ ยังมีพรีเมียมเอาท์เล็ตของกลุ่มบริษัทพีน่าเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีทั้ง Outlet Mall, Premium Outlet และ Outlet Village ครอบคลุมทุกภาครวม 9 สาขา สินค้าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ในเครือฯ เช่น พีน่าเฮ้าส์ เอทูแซด เทนแอนด์โค และอินเตอร์แบรนด์เล็กๆ รวมถึงกลุ่มเอาท์เล็ตกีฬาตามแหล่งชุมชนและศูนย์การค้าที่เป็นนิชมาร์เก็ตอย่างเมืองทองธานี สเตเดี้ยม วัน เช่น เอาท์เล็ตของซูเปอร์สปอร์ต อาดิดาส ไนกี้ มิซูโน่ อาริ เอฟบีที
ชฏาทิพกล่าวว่า พรีเมียมเอาท์เล็ตถือเป็นค้าปลีกเซกเมนต์ที่เติบโตอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะช่วง 7 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ซึ่งสยามพิวรรธน์เริ่มศึกษาและบรรจุไว้เป็น 1 ในโปรเจกต์ที่ต้องลงทุนตามยุทธศาสตร์ 5 ปี และวันนี้เชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวอีกกว่า 35 ล้านคน มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะมีลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต
แต่โจทย์ข้อสำคัญ คือ ต้องเป็นลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ตอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อระบายสต็อกแบบเดิมและต้องเป็นสินค้าลักชัวรีที่ราคาทำให้ลูกค้าเกิดอาการ “อยากซื้อ” ให้ได้
“สยามพิวรรธน์มีคอนเนกชันกับแบรนด์ลักชัวรีมากมายและทำศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ แต่ไม่เคยทำธุรกิจเอาท์เล็ต นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัทตัดสินใจเจรจากับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการทำพรีเมียมเอาต์เล็ตมากว่า 40 ปี เป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจพรีเมียมลักชัวรีเอาท์เล็ตระดับโลก นักชอปและนักท่องเที่ยวทั่วโลกหลายคนยอมเหมาลำเพื่อไปชอปปิ้งในเอาท์เล็ตของไซม่อนกรุ๊ป”
หากดูข้อมูลเบื้องต้นของไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป เป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเฮอร์เบิร์ต ไซม่อน ปัจจุบัน เขาอายุ 83 ปี เป็นมหาเศรษฐีโลกอันดับ 791 ของนิตยสารฟอร์บส์ และมหาเศรษฐีอันดับ 272 ของสหรัฐฯ ความมั่งคั่งสุทธิ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เฮอร์เบิร์ตสมรสกับ “ปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก อดีตนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของไทย เมื่อปี 2545 มีบุตรธิดา 2 คน และธิดาบุญธรรม 1 คน ทั้งคู่มีคฤหาสน์หรูอยู่ที่ลอสแองเจลิส
ทั้งนี้ ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ถือเป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำของโลกที่สร้างโครงการที่เป็นเดสทิเนชั่นของผู้คนทั่วโลก ทั้งชอปปิ้ง กินดื่ม บันเทิง และมิกซ์ยูส เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 1960 เปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และปี 1981 ขยายธุรกิจพรีเมียมเอาท์เล็ต
ล่าสุด มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดรวม 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์รวมกว่า 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเจ้าของโครงการมากกว่า 230 โครงการ ใน 12 ประเทศทั่วโลก พื้นที่ให้เช่ามากกว่า 17 ล้านตารางเมตร มีแบรนด์เข้ามาจำหน่ายในโครงการต่างๆ มากกว่า 3,000 แบรนด์ มีรายได้มากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ยอดผู้คนเข้าใช้บริการรวม 2,000 ล้านคนต่อปี เป็นเจ้าของพรีเมียมเอาท์เล็ต 96 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้ 15 แห่งอยู่ในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น 9 แห่ง เกาหลี 4 แห่ง และมาเลเซีย 2 แห่ง โดยประเทศไทยจะเป็นพรีเมียมเอาท์เล็ตแห่งที่ 16 ในเอเชีย
สำหรับการร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์ในไทย ทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดตั้งบริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 โดยวางแผนพัฒนาโครงการรูปแบบ “ลักชัวรี พรีเมียมเอาท์เล็ต ซิตี้” เบื้องต้นตั้งเป้าหมาย 3 แห่ง ภายใน 3 ปี งบลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยลักชัวรีพรีเมียมเอาต์เล็ต ซิตี้ แห่งแรกจะตั้งอยู่บนที่ดิน 150 ไร่ บริเวณกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ มีพื้นที่เช่าราว 5 หมื่นตารางเมตร ภายในมีร้านค้าแบรนด์กว่า 200 ร้าน รวมถึงร้านอาหาร ศูนย์การเรียนรู้ และลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต เป็นแม็กเนตหลัก
บริษัทคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการในเดือนสิงหาคมนี้ และพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในเดือนตุลาคม 2562 ก่อนขยายสาขา 2 และ 3 ในภาคเหนือและภาคใต้ต่อไป
สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ การผุดบิ๊กโปรเจกต์ของสยามพิวรรธน์กำลังเปิดสมรภูมิใหม่ของยักษ์ค้าปลีก เพราะก่อนหน้านั้นเพียง 1 เดือน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เพิ่งประกาศจะใช้งบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ลุยโครงการใหม่ “เซ็นทรัล วิลเลจ” เพื่อเป็นลักชัวรีเอาท์เล็ตแห่งแรกในเมืองไทยที่รวบรวมแบรนด์ชั้นนำทั้งแบรนด์ไทยและเทศระดับโลกกว่า 235 แบรนด์ พร้อมเสริมแม็กเน็ตเซอร์วิสต่างๆ ทั้งร้านอาหารชื่อดัง โรงแรม จุดบริการนักท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น และซูเปอร์มาร์เก็ต บนที่ดิน 100 ไร่ ย่านถนนบางนา-ตราด ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยตั้งเป้าเป็น “A Must Visit Shopping Destination to complete your trip” และจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2562
วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ถือเป็นหนึ่งใน Key Strategic Move ที่จะเป็นแบรนด์ใหม่ใน Portfolio ของซีพีเอ็น เพื่อตอกย้ำการเป็นหนึ่งใน Global Player ในเอเชีย โดยจุดเด่นที่ซีพีเอ็นนำมาเป็นจุดขายเรียกลูกค้า คือ การชูความเป็นลักชัวรีเอาท์เล็ตมาเติมเต็มการชอปปิ้งในเมืองไทยให้ครบทุกมิติ ทั้งรูปแบบศูนย์การค้าครบวงจรและลักชัวรีเอาท์เล็ต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวและชอปปิ้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวัดกันช็อตต่อช็อต ไม่ว่าจะเป็นการประเดิมโครงการแรกย่านพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งคนในวงการต่างฟันธงหนีไม่พ้นย่านบางนา-ตราดเหมือนกัน คอนเซ็ปต์การเป็นลักชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ตที่ไม่ได้มีเพียงการมอบส่วนลดมากกว่า 35-70% การเผยโฉมคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าแนวใหม่และกำหนดเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2562 ใกล้เคียงกัน
แนวรบใหม่ระหว่างยักษ์ค้าปลีก “เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์” เริ่มร้อนแรงขึ้นอีกแล้ว