วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พร้อมฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง

สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พร้อมฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง

ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 2561 ที่เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ดูจะทำให้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พอใจและยินดีในผลงานไม่น้อย

เพราะมันคือภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจในทุกๆ ด้านกำลังดำเนินไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งที่ดี ทั้งการลงทุนของภาคเอกชน ภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และรวมไปถึงการลงทุนจากภาครัฐ

และผลของภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นย่อมส่งผลให้ความมั่นใจจากนักลงทุนต่างชาติที่กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนดีหรือไม่ ให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทุกอย่างดูจะเหมาะเจาะลงตัวไปเสียทุกด้าน

หลายคนอาจจะมองภาพไม่ออกนักว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจไทยจะเกี่ยวเนื่องหรือผสานกันได้อย่างไร

การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่ว่าด้านใดก็ตาม รวมไปถึงตัวเลข GDP ที่ขยายตัวขึ้น นั่นหมายถึงความเสื่อมถอยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสิ่งแวดล้อม ภาพที่เห็นได้ชัดคือภาคอุตสาหกรรม หากมีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แน่นอนว่าทั้งภาครัฐและเอกชนคงจะไม่นิ่งนอนใจ และมัวแต่เพิ่มอัตรากำลังเร่งเพื่อผลผลิตที่สร้างแต่กำไรเพียงอย่างเดียว

“ไทยแลนด์ 4.0” คือการที่สังคมไทยจะต้องเดินหน้าก้าวสู่การนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามา และทำให้ประเทศพัฒนามากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลข 4.0 จะต้องขนาบข้างไปกับทุกหน่วยงาน ทุกกรมกอง

ข้อดีของการปรับเปลี่ยนให้ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศ 4.0 เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมว่า ทุกภาคส่วนต้องหยิบจับเอาเทคโนโลยี และรวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้งานให้มากกว่าที่ผ่านมา

และดูจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ว่า บรรดาภาคอุตสาหกรรมจะไม่เพียงสักแต่ว่าเพิ่มอัตราความเร็วในการสร้างผลผลิต หากแต่จะหยิบเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ที่ภาครัฐมองจะเห็นเพียงความก้าวหน้าที่ชวนให้ปลื้มปริ่มกับผลที่ออกมาหลังจากลงทุนลงแรงไป กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของคนไทย อาจจะนำมาซึ่งความสั่นคลอนที่ส่งผลต่อฟันเฟืองทางเศรษฐกิจตัวสำคัญได้ในอนาคต

แพขยะในอ่าวไทยที่มีความยาว 10 กิโลเมตร ถูกเผยแพร่ลงในโลกออนไลน์เมื่อต้นปี 2560 โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และการสังเวยชีวิตของวาฬนำร่องคลีบสั้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สองเหตุการณ์นี้เองที่อาจจะเป็นชนวนต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย

เป็นที่ทราบกันดีกว่า เศรษฐกิจไทยมีฟันเฟืองหลักเพียงไม่กี่ตัวที่คอยขับเคลื่อน คือการท่องเที่ยวและการส่งออก ทั้งนี้เมื่อปริมาณขยะที่ลอยอยู่ในทะเลอย่างขาดการจัดการที่ดี ย่อมส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่สามารถใช้เป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และรายได้จากการท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังตั้งเป้ารายได้การท่องเที่ยวในปี 2561 ว่า ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือรายได้รวมที่ 3.1 ล้านล้านบาท

ซึ่งหากดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว วิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในไทย อาจจะส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวในครึ่งปีที่เหลือ แม้ว่าภาคเอกชนการท่องเที่ยวจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศได้มากก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนของการท่องเที่ยวไทยคือแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม

นอกการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบแล้ว การส่งออกดูจะน่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะตัวเลขการส่งออกอาหารไทยในแต่ละปีมีสถิติเป็นที่น่าพอใจ โดยการส่งออกตลอดทั้งปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560) มีมูลค่า 236,694 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 6 ปี

และการส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 มีมูลค่า 247,000 ล้านบาท และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับ 4 ที่ 28,168 ล้านบาท ซึ่งลดลง 4.88 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ปริมาณขยะทะเลของไทยเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการส่งออกโดยเฉพาะ เพราะเมื่อขยะพลาสติกจำนวนมากที่อยู่ในทะเลโดนแสงอัลตราไวโอเลตพลาสติกจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กมาก แพลงก์ตอนอาจจะกินไมโครพลาสติกพวกนี้เข้าไปพร้อมกับอาหาร และสัตว์ทะเลชนิดอื่นกินแพลงก์ตอน ทำให้สัตว์ทะเลมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกาย และสุดท้ายอาจจะสะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค

สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารทะเลไม่ต่างจากเหตุการณ์ใบเหลืองการทำประมงของไทย ที่ภาครัฐต้องพยายามอย่างเต็มกำลังในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประมงไทยหลุดจากเทียร์ 3 แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ไทยยังถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในเทียร์ 2 ที่ยังต้องถูกจับตามอง

แม้ว่าวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านใดบ้าง แต่คงจะดีไม่น้อยหากทุกภาคส่วนมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าและหาทางป้องกันอย่างรอบด้าน ดีกว่ารอให้คนอื่นมาตีตราว่าสินค้าไทยไม่ปลอดภัย แล้วค่อยมาตามแก้ภายหลัง

เพราะหากเวลานั้นมาถึงไม่แน่ว่าเศรษฐกิจที่หลายคนมองว่าดีขึ้น อาจจะถอยหลังเข้าคลอง กลับไปจุดเริ่มต้นก็เป็นได้

ใส่ความเห็น