วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ไทยแลนด์แดนขยะ 4.0 การจัดการที่พร่องสำนึก?!

ไทยแลนด์แดนขยะ 4.0 การจัดการที่พร่องสำนึก?!

เหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนรักสัตว์ รักทะเล ไม่น้อย เมื่อวาฬนำร่องคลีบสั้นที่เกยตื้นบริเวณคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสลดก่อนวันทะเลโลก (8 มิ.ย.) เพียงไม่กี่วัน

การชันสูตรจากสัตวแพทย์ทำให้สังคมทั้งในไทยและต่างชาติประจักษ์ชัดถึงหลักฐานสำคัญที่ฉายภาพพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” ได้ละเลย เพิกเฉย และขาดการตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำอันปราศจากจิตสำนึกที่ดี ที่ควรต้องมีต่อสังคมส่วนรวมมากแค่ไหน

ถุงพลาสติกที่อยู่ในกระเพาะของวาฬตัวดังกล่าวที่มีมากถึง 80 ใบ และมีน้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม คือคำตอบต่อเรื่องการจัดการปัญหาขยะของสังคมไทย ที่นับวันจะทวีความรุนแรงของปัญหานี้มากขึ้น แม้ว่าสาเหตุหนึ่งจะมาจากการที่ขยะพลาสติกไม่ได้ถูกกำจัดและได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และเหนืออื่นใดคือ “ความมักง่าย” ของผู้คนในสังคม ผู้ล่าที่อยู่ในอันดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร

แน่นอนว่าวาฬนำร่องตัวนี้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตในทะเลตัวแรกที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เคยเปิดเผยรายงานว่า มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นระหว่างปี พ.ศ. 2558-2560 คือ 1. กลุ่มเต่าทะเล 669 ตัว แบ่งเป็น เกยตื้น (มีชีวิต) 334 ตัว ซากเกยตื้น 335 ตัว 2. กลุ่มโลมา วาฬ 547 ตัว แบ่งเป็น เกยตื้น (มีชีวิต) 51 ตัว ซากเกยตื้น 496 ตัว และ 3. พะยูน 41 ตัว แบ่งเป็น เกยตื้น (มีชีวิต) 6 ตัว ซากเกยตื้น 35 ตัว

ซึ่งสาเหตุการเกยตื้นของสัตว์ทะเลส่วนหนึ่งมาจากการติดเครื่องมือการทำประมง เช่น อวน ตาข่าย และอีกสาเหตุหนึ่งที่ดูจะเป็นความอัปยศคือ การกินขยะทะเล ทั้งถุงพลาสติก โฟม หลอด คลิปต่างๆ ที่ถูกเปิดเผยและแชร์ต่อๆ กันบนโลกออนไลน์นั้นไม่เกินจริงแม้แต่กระผีก

ปัญหาขยะล้นเมืองดูเหมือนจะอยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด แม้จะมีการรณรงค์ทั้งในด้านการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง หรือการเชิญชวนให้ลดปริมาณขยะ และดูเหมือนว่ายิ่งรณรงค์มากเท่าไหร่ ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้นเหมือนเงาตามตัว ทั้งที่ความจริงแล้วหากมีการรณรงค์มากขึ้นปริมาณขยะน่าจะลดลง

ปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีมากขึ้น 10,551.01 ตันต่อวัน ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเปิดเผย ปริมาณขยะที่พบในทะเลไทยในปี 2561 ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน มีขยะประเภทขวดพลาสติก 6,517 กิโลกรัม ถุงพลาสติก 5,276 กิโลกรัม ขวดแก้ว 4,721 กิโลกรัม หลอด 1,895 กิโลกรัม ภาชนะบรรจุอาหาร 1,853 กิโลกรัม

ตัวเลขดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนภาพการขาดวินัยและความบกพร่องในเรื่องการจัดการปัญหาขยะเท่านั้น หากแต่ตัวเลขดังกล่าวทำให้ไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยมี 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล และมีปริมาณขยะประมาณ 11.47 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกประมาณ 340,000 ตัน และประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ที่จะลงสู่ทะเล นั่นหมายความว่าขยะทะเลที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมทางบก 80 เปอร์เซ็นต์ และเกิดจากกิจกรรมในทะเล 20 เปอร์เซ็นต์

ผลกระทบจากปัญหาขยะเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่งดงาม บดบังความสวยงามทางธรรมชาติ และหากขยะเหล่านี้ไปอยู่ในแหล่งปะการังจะทำให้ปะการังเหล่านั้นได้รับความเสียหาย ติดเชื้อ และตายในที่สุด ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวโดยตรง เมื่อการท่องเที่ยวคือฟันเฟืองหลักสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยยังคงขับเคลื่อนไปได้ในขณะนี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าปัญหาขยะทะเลจะส่งผลถึงสัตว์ทะเลเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ทะเลจะได้รับสารพิษจากขยะทะเล โดยเฉพาะพลาสติก ที่เมื่อพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด พลาสติกจะแตกตัวออกมาเป็นไมโครพลาสติก และปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล วัฏจักรที่เกิดขึ้นคือ แพลงก์ตอนอาจจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป จากนั้นสัตว์น้ำอื่นๆ กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และนักล่าอันดับสูงสุดอย่างมนุษย์กินสัตว์ทะเลอีกต่อหนึ่ง

อาหารทะเลเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย หากมีการปนเปื้อนเกิดขึ้นอาจเสี่ยงที่จะถูกกลุ่มประเทศในยุโรปกดดันเฉกเช่นที่ไทยเคยโดนใบเหลืองกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความกังวลในกรณีดังกล่าว และเชิญชวนให้คนไทยร่วมกันลดใช้ถุงพลาสติกและลดปริมาณขยะในครัวเรือน

แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการกดดันจากนานาชาติต่อเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในอาหารทะเล แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น ไม่ควรจะต้องรอให้เกิดขึ้นก่อนจึงค่อยหาทางแก้ไข เพราะหากเวลานั้นมาถึงประเทศไทยจะเสียความเชื่อมั่นจากชาติคู่ค้า และส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น้อย

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ดูจะยังไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจากภาครัฐและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กระทั่งการสังเวยชีวิตของวาฬนำร่องคลีบสั้น ที่เป็นยากระตุ้นชั้นดี ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือจัดการปัญหาขยะ รวมไปถึงการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน

ภายใต้ “โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2570 นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ผ่านการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานธุรกิจรีไซเคิล รวมไปถึงการส่งเสริมผู้ประอบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน

ไม่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังจะมีการให้ความรู้แก่ประชาชน ผู้บริโภค เรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งมีพื้นที่นำร่องโครงการอยู่ที่เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และจังหวัดระยอง

หลายฝ่ายดูจะคาดหวังว่าหลังจากโครงการนี้ขับเคลื่อนไปได้แล้ว ปริมาณขยะพลาสติกจะลดลง ในแง่หนึ่งโครงการดังกล่าวมีข้อดีอยู่ที่การได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ขณะที่ต้นเหตุของปัญหาสำคัญกลับอยู่ที่การบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดี ให้ประชาชนทุกคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ได้ตระหนักถึงส่วนรวมให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่มองเพียงว่า “หน้าที่ไม่ใช่” ซึ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

ประเทศญี่ปุ่นคืออีกหนึ่งประเทศที่มีการจัดการปัญหาขยะได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และเอาเยี่ยงอย่างที่ดีมาใช้ โดยเด็กและเยาวชนจะถูกอบรมและเรียนรู้การคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ซึ่งเป็นการสร้างวินัยของความเป็นพลเมืองที่ดี

หรือห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อในหลายประเทศ ไม่มีถุงพลาสติกให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าจำเป็นต้องนำถุงผ้าหรือถุงเก่านำกลับมาใช้ซ้ำ หรือหากจำเป็นต้องการใช้ สามารถซื้อถุงพลาสติกได้ นั่นทำให้หลายประเทศประสบความสำเร็จในการรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติก

หันกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมการแพทย์ประกาศเจตนารมณ์ในการลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการยกเลิกถุงพลาสติกใส่ยาทุกหน่วยงานในสังกัด และขอความร่วมมือจากประชาชนผู้มารับบริการตรวจรักษานำถุงผ้ามาใส่ยา นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีการลดปัญหาภาวะโลกร้อน และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แม้ว่าการรณรงค์ดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่สร้างสรรค์และเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ธีมปีนี้ดูจะเข้ากับสถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญคือ “Beat Plastic Pollution: If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “สู้กับปัญหาขยะพลาสติก: ถ้าเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ จงปฏิเสธมันซะ”

ถึงวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เราทุกคนในฐานะคนไทยล้วนมีส่วนร่วมกับปัญหานั้น และหลายคนอาจจะมองว่าปัญหาขยะที่สะสมจนมาถึงทุกวันนี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไข กระนั้น “มนุษย์” ในฐานะผู้สร้าง และผู้ทำลาย ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีอะไรเกินมือ เกินกำลังของเรา หากตระหนักรู้ พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

ความสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างสัตว์ทะเลที่เกิดขึ้น ทำให้เราตื่นรู้ แต่อย่าให้การรณรงค์ที่เกิดขึ้นในห้วงยามนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแค่ชั่วครู่ชั่วยามแล้วจบไป เพราะวันใดที่เราละเลยเพิกเฉยต่อการจัดการขยะ วันนั้นปัญหาจะหมุนวนกลับมาใหม่ แน่นอนว่ารวมไปถึงความสูญเสียด้วย ฉะนั้น “อย่าให้ใครว่า คนไทยลืมง่าย” อีกเลย

ใส่ความเห็น