“ผมไม่รู้ว่ามีบริษัทต่างประเทศมาแข่งหรือไม่อย่างไร อย่างน้อยที่สุดงานนี้เราทำได้สบายๆ แต่ถ้าต่างประเทศมาลงทุนด้วย ถือว่าดี ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติดูดี ต่างประเทศสนใจจะเอาก้อนเงินมหาศาลมาลงทุนที่เมืองไทยบ้านเรา เพราะอินฟราสตรักเจอร์พวกนี้ 50 ปี 100 ปีเอาไปไหนไม่ได้ อยู่ที่บ้านเรา เรามั่นใจบริษัทในไทยว่าเราทำได้ ไม่จำเป็นต้องรอต่างชาติเข้ามาลงเงิน 2 แสนกว่าล้านนี้ ไม่มั่นใจว่าต่างชาติจะรักบ้านเราเหมือนคนไทยรักกันเองหรือเปล่า”
คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยืนยันกับสื่อทันทีถึงความพร้อมในการชิงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวมมากกว่า 220,000 ล้านบาท ซึ่งบิ๊กโปรเจ็กต์ตัวนี้มีคู่แข่งระดับยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กลุ่ม ปตท. กลุ่ม ช.การช่าง และกลุ่มทุนต่างชาติที่จ้องเข้ามาฮุบโครงการอีกหลายราย
ล่าสุด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเชิญชวนบริษัทเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินอย่างเป็นทางการตามนโยบายเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม-17 มิถุนายน โดยจะเปิดขายเอกสารประกวดราคา วันที่ 18 มิถุนายน-9 กรกฎาคม จากนั้นจะประชุมชี้แจงครั้งที่ 1 ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม และประชุมชี้แจงครั้งที่ 2 วันที่ 24 กันยายน
ส่วนวันกำหนดยื่นซองประกวดราคา คือ 12 พฤศจิกายน ทั้งหมด 4 ซอง คือ ซองคุณสมบัติทั่วไป ซองเทคนิค ซองเสนอราคา และซองข้อเสนอพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ซึ่งคาดว่าการคัดเลือกใช้ระยะเวลา 1 เดือน โดยจะประกาศรายชื่อผู้เสนอผลตอบแทนที่ดีที่สุด หรือมีข้อเสนอให้รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งรัฐบาลประเมินแล้วจะเห็นโฉมหน้าตาผู้คว้าบิ๊กโปรเจ็กต์ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และลงนามสัญญากับเอกชนราวต้นปี 2562
ด้านระยะเวลาก่อสร้างโครงการจะใช้เวลา 4-5 ปี กำหนดอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท และให้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการให้ผู้โดยสารสถานีมักกะสัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ พร้อมการพัฒนาพื้นที่สถานีศรีราชาอีก 100 ไร่ แบ่งเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ 75 ไร่ เพื่อเป็นสถานีสนับสนุนบริการรถไฟ ที่จอดและโรงซ่อมหัวรถจักรของ รฟท. ส่วนที่เหลือ 25 ไร่ ให้เอกชนพัฒนาแลกค่าเช่าให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามราคาตลาด
แน่นอนว่า หากเปรียบเทียบศักยภาพทุกกลุ่ม บีทีเอสกรุ๊ปถือเป็นบริษัทเอกชนไทยที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากสุดในฐานะผู้บริหารธุรกิจระบบรางยาวนานถึงเกือบ 20 ปี
ยิ่งกลุ่มต่างชาติที่มีกระแสข่าวจะเข้ามาร่วมชิงโครงการ คีรีบอกสั้นๆ ว่า “ยังเป็นวุ้นอยู่เลย” ขณะที่บีทีเอส ธุรกิจหลัก คือระบบขนส่งมวลชน มีความรู้ทุกอย่าง รู้ทุกปัญหาการต่อรอง มีความแข็งแกร่ง ทั้งฐานะการเงินและเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งเริ่มต้นจับมือกันเมื่อปี 2560 เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ผู้นำยักษ์ใหญ่
คือ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้นำด้านการให้บริการระบบขนส่งมวลชน บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชาญวีรกูล ผู้นำด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจผลิตพลังงานครบวงจร
ทั้ง 3 บริษัทประเดิมชัยชนะคว้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยวางแผนใช้เงินลงทุนทั้งสองสายรวม 1 แสนล้านบาท และตกลงชัดเจนว่า กลุ่มบีเอสอาร์จะไปด้วยกันทุกโครงการ โดยเฉพาะ 3 โครงการเป้าหมาย คือ ไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง รวมถึงทุกโครงการระบบขนส่งมวลชนของรัฐ
“ผมวางแผนจัดธุรกิจบีทีเอสกรุ๊ป ธุรกิจหลักยังเป็นระบบขนส่งมวลชนและมีวีจีไอเป็นตัวเสริม ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แยกออกไปเพื่อความชัดเจน คือ บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบีทีเอสจะโอนสินทรัพย์เข้าไปที่ยูซิตี้ทั้งหมด และยังจับมือกับกลุ่มแสนสิริวางแผนทำโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า จำนวน 25 โครงการ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนนี้ให้แสนสิริเป็นแกนหลักในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการแนวนี้ ผมเห็นศักยภาพมานาน ธุรกิจต้องเติบโตแน่แต่เงินน้อยจึงทำเองไม่ได้ทั้งหมด” คีรีกล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่พิสูจน์คำพูดอันสวยหรูของคีรีได้ดีที่สุดน่าจะดูได้จากผลการดำเนินงานงวดปี 60/61 (1 เม.ย.60-31 มี.ค.61) ที่ประกาศล่าสุด โดยบีทีเอสกรุ๊ปสามารถทำกำไรสุทธิ 4,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากปีก่อน จากการขยายตัวดีขึ้นในธุรกิจระบบขนส่งมวลชนและธุรกิจสื่อโฆษณา รวมถึงมีการรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,880 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานของกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีรายได้ 14,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,496 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน
หากแยกเป็นกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนมีรายได้รวม 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% หรือเพิ่มขึ้น 4,875 ล้านบาทเทียบปีก่อน มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า การรับเหมาติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้
รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาอยู่ที่ 3,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท หรือ 30% จากปีก่อน และแม้ไม่รวมกำไรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานปกติที่เพิ่มขึ้นถึง 78% เป็น 2,515 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในรอบบัญชี 2562 จะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000-25,000 ล้านบาท จากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี- แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะโตก้าวกระโดดถึง 200%
สำหรับคีรีกับอาณาจักรธุรกิจบีทีเอสกรุ๊ป ซึ่งใช้เวลาปลุกปั้นในยุคที่รถไฟฟ้ายังเป็นโครงการใหม่มาก ไม่มีใครกล้าลงทุน ธุรกิจโฆษณาบนรถไฟฟ้ายังอยู่ห่างไกลจากพฤติกรรมของผู้คน ไม่มีใครคิดว่าสมรภูมิคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าจะกอบโกยรายได้จำนวนมหาศาล แต่คีรีเห็นทั้งหมด
ส่วนเป้าหมายต่อไป การประกาศกร้าวจะยึดบิ๊กโปรเจ็กต์ระบบขนส่งมวลชน เพื่อเป็นผู้นำระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ศึกชิง “ไฮสปีดเทรน 2 แสนล้าน” น่าจะเป็นตัวพิสูจน์ฝีมือและความสำเร็จของบิ๊กเนมคนนี้ได้ดีที่สุด