วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > VGI พลิก “ออฟไลน์-ออนไลน์” บิ๊กมีเดีย 5 หมื่นล้านสยายปีก

VGI พลิก “ออฟไลน์-ออนไลน์” บิ๊กมีเดีย 5 หมื่นล้านสยายปีก

นับจากวันแรกเมื่อ 20 ปีก่อน คีรี กาญจนพาสน์ ควักเงิน 5 ล้านบาท เปิดบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จนถึงวันนี้หลังผ่านวิกฤตหลายครั้ง มูลค่าของวีจีไอจาก 5 ล้านบาท พุ่งพรวดเป็น 5 หมื่นล้าน ซึ่งกวิน กาญจนพาสน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ย้ำกับสื่อว่า “เติบโตหมื่นเท่า”

ทั้งหมดมาจากวิสัยทัศน์การ Synergy ระหว่างธุรกิจมีเดียกับธุรกิจระบบรางของบีทีเอสกรุ๊ป

ล่าสุด ปี 2561 วีจีไอแปลงโมเดลธุรกิจอีกครั้งจากธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านเข้าสู่โลกธุรกิจใหม่ เชื่อมออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน จะไม่ใช่แค่ผู้นำสื่อนอกบ้านในกรุงเทพฯ ที่มีมูลค่าสื่ออยู่ในมือ 6,800 ล้านบาท แต่จะเป็นบิ๊กมีเดียเจ้าแรกที่รวบรวมตลาดมีเดียทั้งหมด ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Pioneering Solutions for Tomorrow” กับโมเดลธุรกิจใหม่ Offline-to-Online: O2O Solutions รายแรกและหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภคครบทุกขั้นตอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลสำคัญของการพลิกเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์มาจากเทรนด์ของโลก แม้กระทั่งบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ในประเทศเยอรมนี “Stroer” ต้องตัดสินใจปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อก้าวให้ทันกับกระแสยุคธุรกิจออนไลน์ ทั้งลูกค้าผู้ซื้อสื่อ สื่อ และที่สำคัญ คือพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค

ผลปรากฏว่า ภายหลังการยกเครื่องวิสัยทัศน์และเป้าหมายทางธุรกิจ Stroer สามารถสร้างผลกำไรเติบโตอย่างชัดเจน

ทั้งคีรีและกวินเห็นการเปลี่ยนแปลงและรีบปรับตัวโดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วีจีไอขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อหุ้นเพิ่มและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อโฆษณานอกบ้าน ตั้งแต่การซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการป้ายบิลบอร์ด การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในแอโรมีเดีย กรุ๊ป ผู้ให้บริการสาธิตผลิตภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย การลงทุนในเดโม พาวเวอร์ ผู้ให้บริการสื่อภายในสนามบิน

ต้นปี 2560 วีจีไอลุยซื้อกิจการ “แรบบิท กรุ๊ป” ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัตรแรบบิทการ์ด เพื่อนำฐานข้อมูลและเทคโนโลยีการให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มจากแรบบิท กรุ๊ปมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จนกระทั่งปี 2561 บริษัทตัดสินใจเข้าลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ ผ่านการซื้อหุ้น 23% ของบริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มของธุรกิจโลจิสติกส์ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจทั้งหมดของวีจีไอและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ O2O Solution สร้างรูปแบบการโฆษณาหลากหลายรูปแบบที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและทำให้ผู้ซื้อสื่อสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ชนิดที่ “โดน” มากที่สุด

กวินกล่าวว่า วิสัยทัศน์ของวีจีไอในขณะนี้ คือการสร้างโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ เพราะไม่สามารถโฟกัสรายได้เฉพาะงบโฆษณาอีกต่อไป แต่ต้องขยายแพลตฟอร์มมากกว่าธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา โดยอาศัยทั้ง 3 แพลตฟอร์มหลัก คือธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านที่มีทั้งหมดกว่า 10,000 จอ ประกอบด้วย สื่อเคลื่อนที่ ป้ายโฆษณา สื่อในอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย และสื่อในสนามบิน ธุรกิจให้บริการชำระเงินของแรบบิท กรุ๊ป และธุรกิจโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของเคอรี่เอ็กซ์เพรส และเดโม เพาเวอร์ โดยมีฐานข้อมูลกระจายอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม

หากแยกศักยภาพของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม สื่อนอกบ้านของวีจีไอสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ราว 40 ล้านคนทั่วประเทศ บริการชำระเงินของแรบบิทกรุ๊ปมีผู้ใช้งานกว่า 16 ล้านราย และธุรกิจโลจิสติกส์ของเคอรี่เอ็กซ์เพรส ที่มีการส่งสินค้าเฉลี่ยวันละ 750,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งวีจีไอสามารถเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดและนำเสนอรูปแบบสื่อที่หลากหลายมากกว่าคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจมีเดียด้วยกัน

“หลังจากนี้ สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไปจากเดิม งบสื่อโฆษณามีสัดส่วนสูง 80-90% แต่หลังจากนี้จะค่อยๆ ขยับลดลงมาเป็น 50:50 เนื่องจากจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเรายังมองการลงทุนเพิ่มเติมในสื่อ 3 ประเภท ในลักษณะการร่วมทุน คือ สื่อออนไลน์ วิทยุ และทีวี เพื่อขยายแพลตฟอร์มธุรกิจต่อเนื่องและภายใน 3 ปี เชื่อมั่นว่าจะทำรายได้ถึง 10,000 ล้านบาท” กวินกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังพบว่า วีจีไอมีรายได้ในปี 2560 รวม 3,358 ล้านบาท แต่หลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและขยายแพลตฟอร์มใหม่ บริษัทสามารถสร้างรายได้เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2561 สูงถึง 4,079 ล้านบาท

ที่สำคัญการได้พันธมิตรอย่างเคอรี่เอ็กซ์เพรส ถือเป็นข้อได้เปรียบที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเคอรี่ฯ มีศักยภาพทางธุรกิจสูง อาศัยเวลาเพียง 3 ปี เข้ามารุกตลาดไทย พลิกจากบริษัทขนส่งเล็กๆ ที่มีการส่งสินค้าและพัสดุ วันละ 15,000 ชิ้น เป็นวันละ 750,000 ชิ้น มีสาขาครอบคลุมทุกภาคของประเทศกว่า 2,500 แห่ง ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเคอรี่ฯ ตั้งเป้าจะเพิ่มยอดการส่งพัสดุเป็น 1 ล้านชิ้นภายในสิ้นปี 2561

ถ้านับเฉพาะธุรกิจขนส่งพัสดุของบริษัทเอกชน ซึ่งมีรายหลักๆ เช่น Alpha, นิ่มซี่เส็ง , DHL และ SCG Express ไม่นับบริษัทไปรษณีย์ไทยซึ่งผูกขาดตลาดมานาน

เคอรี่ฯ ถือเป็นที่ 1 ในตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาด 80% ของการขนส่งในกลุ่มบริษัทเอกชนที่มียอดเฉลี่ย 900,000 ชิ้นต่อวัน โดยสัดส่วนการจัดส่งพัสดุของเคอรี่ฯ 45% มาจากธุรกิจแบบ C2C เช่น โซเชียลคอมเมิร์ซ อีก 45% มาจาก B2C อีคอมเมิร์ซ และโฮมชอปปิ้ง เช่น ลาซาด้า ชอปปี้ง อีก 10% มาจากธุรกิจ B2B

ผลจากการร่วมมือกับวีจีไอด้านหนึ่ง เคอรี่ฯ กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพียงหนึ่งเดียวในด้านบริการจัดส่งพัสดุด่วนของบริษัท และระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถไฟฟ้า BTS ตลอดจนได้รับสิทธิในการใช้รถไฟฟ้า BTS เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน ได้รับสิทธิ์ในการตั้งร้านค้าคีออสหรือเคาน์เตอร์ หรือจุดให้บริการในลักษณะต่างๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS สำหรับการให้บริการรับ-ส่งสินค้า และพัสดุก่อนบุคคลอื่น

อีกด้านหนึ่ง วีจีไอจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการสื่อโฆษณาในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น ยานพาหนะขนส่ง ร้านค้า และจุดให้บริการของเคอรี่ฯ รวมถึงการนำเสนอสินค้าตัวอย่างร่วมกับบริการจัดส่งพัสดุด่วนของเคอรี่ฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าผู้ซื้อสื่อ และขยายฐานลูกค้าระหว่างกัน

อเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหารบริษัท เคอรี่เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทตั้งงบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายรถขนส่ง ลงทุนระบบไอที เพิ่มพนักงาน เพิ่มจุดรับพัสดุ และเพิ่มฮับรับและกระจายสินค้า จากปัจจุบันมีรถยนต์ในระบบ 11,000 คัน มีจุดรับสินค้า 1,800 จุด ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบหลัก คือ จุดรับสินค้าที่บริษัทลงทุนเอง จุดรับของผ่านร้าน SMEs และพันธมิตรรายใหญ่ เช่น แฟมิลี่มาร์ท ออฟฟิศเมท โดยตั้งเป้าเพิ่มจุดรับสินค้าเป็น 2,500 จุด และมีฮับกระจายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ บางนา ปทุมธานี และสมุทรสาคร ซึ่งฮับบางนามีพื้นที่ใหญ่สุด 36,000 ตร.ม. และเตรียมสร้างเฟส 2 ขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฮับของทุกๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง โดยถือเป็นต้นแบบในการนำข้อมูลเพื่อไปใช้พัฒนาบริการในประเทศอื่น ๆ

แน่นอนว่าเคอรี่ฯ ไม่ใช่พันธมิตรเดียวที่วีจีไอต้องการ แต่กวิน กาญจนพาสน์ยังวางแผนร่วมทุนกับพันธมิตรอีกหลายกลุ่ม ทั้งสื่อออนไลน์ วิทยุ และทีวี เพื่อเป้าหมายใหญ่ คือ ฮุบตลาดมีเดียอย่างครบวงจร

ใส่ความเห็น