ปตท. กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
ด้านหนึ่งเร่งคัดเลือกประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เข้ามารับตำแหน่งแทนซีอีโอคนเก่า เทวินทร์ วงศ์วานิช ซึ่งจะเกษียณอายุวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เพื่อเดินหน้าองค์กรธุรกิจที่สร้างกำไรมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท อีกด้านเร่งโอนทรัพย์สินให้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เพื่อรุกบิ๊กโปรเจกต์นอนออยล์ และเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจากปั๊ม PTT ซึ่งใช้มานานกว่า 40 ปี เป็น “PTTOR” พร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปี (2561-2565) ปตท. แบ่งงบลงทุน 2 ส่วน ส่วนแรกเน้นการลงทุนที่มีความชัดเจน รวม 340,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ลงทุนโครงการที่มีความเป็นไปได้อีก 245,000 ล้านบาท โดยงบลงทุนที่มีความชัดเจนได้รวมการลงทุนในบริษัทใหม่ที่เตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ บริษัท PTTOR ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทุน ซึ่ง ปตท. เตรียมเพิ่มทุนให้ PTTOR เพื่อนำเงินมาซื้อทรัพย์สินต่อจาก ปตท. และแยกกิจการให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันวางกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง “3 D” ได้แก่ “Do now” ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตสูงสุด , “Decide Now to Growth” เน้นความชำนาญในธุรกิจปัจจุบัน และ “Design Now to New S-Curve” ซึ่งถือเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อการเติบโตในระยะยาว เช่น การลงทุนสอดรับเทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 การใช้พลังงานสะอาด เช่น การลงทุนในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System), สมาร์ท กริด เมืองอัจฉริยะการลงทุนในโครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ, อุตสาหกรรมพื้นฐานชีวภาพหุ่นยนต์เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์
ว่ากันเฉพาะปี 2561 ปตท. ตั้งงบประมาณสูงกว่า 2 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนจัดการทรัพย์สินของ PTT ให้ PTTOR ถึง 1.2 แสนล้านบาท เพื่อรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดธุรกิจนอนออยล์และวางทิศทางการขยายธุรกิจพร้อมๆ กับสถานีบริการน้ำมันรูปโฉมใหม่ ที่เรียกว่า “ลิฟวิ่ง คอมมูนิตี้ มอลล์” ตามถนนเส้นรอง เช่น จ.สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เน้นจุดขายความเป็นสถานีบริการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มเอสเอ็มอีนำผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าชุมชนต่างๆ เข้ามาจำหน่ายในปั๊ม ซึ่งตามแผนจะเปิดทั้งหมด 7-8 สาขา ครบ 4 ภาค
ขณะที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศจะเน้นความเป็นมินิคอมมูนิตี้มอลล์มากขึ้น โดยเร่งขยายบริการใหม่ๆ และพันธมิตรร้านค้า เช่น บัดเจ็ตโฮเทล บริการฟิตเนส สนามฟุตซอล บริการร้านเสริมสวย ร้านตกแต่งรถยนต์ เชนร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เอสแอนด์พี แบล็กแคนยอน แมคโดนัลด์ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ชานมไข่มุก โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2561 จะมีร้านอาหารทั้งหมด 90 แบรนด์ จากปัจจุบัน 80 แบรนด์ กระจายตามปั๊มสาขาต่างๆ ตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สำหรับแผนการขยายสาขาปั๊มตามแผน 5 ปี จะขยายสถานีครอบคลุมทั่วประเทศ 1,900 แห่ง จากปัจจุบันมีมากกว่า 1,670 แห่ง เฉพาะปีนี้จะเปิดเพิ่ม 300 แห่ง ในตลาดต่างประเทศจะเปิดครบ 500 แห่ง จากปัจจุบัน 240 แห่ง ในลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
ส่วนธุรกิจนอนออยล์ ทั้งที่ ปตท. เป็นเจ้าของและซื้อสิทธิ์ไลเซนส์ ได้แก่ ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ที ร้านโดนัทแด๊ดดี้โด ร้านไก่ทอด เท็กซัสชิคเก้น ร้านติ่มซำ ฮั่วเซ่งฮง จะมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะคาเฟ่อเมซอน ซึ่งถือเป็นธุรกิจนอนออยล์หลักแรกเริ่มของ ปตท. จะเปิดสาขารวมกว่า 300 สาขา ใช้เงินลงทุน 750 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นสาขาแฟรนไชส์ 80% และบริษัทลงทุนเองอีก 20%
รูปแบบร้านมีหลากหลาย ทั้งร้านในปั๊มปกติ ร้านกระจกโปร่งใส ร้านคีออสในห้างหรือศูนย์การค้า และสาขาไดรฟ์ทรูในสถานีบริการน้ำมัน
ด้านแผนธุรกิจในต่างประเทศของร้านคาเฟ่อเมซอน ปีนี้จะเปิดสาขาในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศโอมาน หลังจากเปิดบริการแล้วในเมียนมา ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ปตท. เตรียมลงทุนพัฒนาพื้นที่ศูนย์บริการทางหลวงและจุดพักรถในโครงการพัฒนาศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) และจุดพักริมทาง (Rest Area) ของมอเตอร์เวย์สายต่างๆ ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) จะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหารและร้านค้า เช่น โครงการศูนย์บริการและที่พักริมทาง ช่วงชลบุรี-พัทยา โครงการจุดพักริมทางของมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี
แต่ที่น่าสนใจและถือเป็นธุรกิจนอนออยล์ระดับบิ๊กโปรเจกต์ ซึ่ง ปตท. เคลื่อนไหวชัดเจนและสะท้อนเกมรุกใหม่ล้ำหน้าคู่แข่งอย่างร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดหรือ “บัดเจ็ตโฮเทล” ในสถานีบริการน้ำมัน แม้หยุดชะงักไปเมื่อปลายปี 2559 แต่มีการประกาศเปิดกระบวนคัดเลือกพันธมิตรร่วมลงทุนรอบใหม่เมื่อกลางปี 2560 และล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนฯ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการจัดการ ปตท. พิจารณาและบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมบอร์ด ปตท. ในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อสรุปผลคัดเลือกพันธมิตรร่วมลงทุน 1 ราย จากผู้เสนอโมเดลธุรกิจประมาณ 5 ราย
จิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท. จะพยายามก่อสร้างโรงแรมราคาประหยัดนำร่องก่อน 5 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดย 5 แห่งแรกมีขนาดไม่เกิน 80 ห้อง ใช้พื้นที่ 2-3 ไร่ และจะอยู่ในสถานีบริการน้ำมันที่ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการเองก่อนขยายให้ตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ดำเนินการ ซึ่งคล้ายกับธุรกิจปั๊มน้ำมัน เพื่อประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางธุรกิจก่อนจัดทำแผนขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งวางเป้าหมายเปิดธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน 50 แห่ง ภายใน 5 ปี หรือราวสิ้นปี 2565
มีรายงานว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ปตท. ได้คัดเลือกผู้ประกอบการโรงแรม 3 ราย คือ 1. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์บัดเจ็ตโฮเทล Hop Inn และมีโรงแรมในเครือแบรนด์ไฮแอท แมริออท แอคคอร์ ไอเฮทจีและสตาร์วูด 2. บริษัทโกลเบิ้ล พร๊อพเพอร์ตี้ คอนเซ้าติ้ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ เจ้าของแบรนด์ บีทู 3. Wyndham Group ( Kosmopolitan Hospitality) เจ้าของแบรนด์ ซูเปอร์ เอด (Super 8) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมระดับโกลบอล มีโรงแรมภายใต้การบริหาร 8,400 แห่ง ใน 34 แบรนด์ ใน 80 ประเทศทั่วโลก เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ราย
ผู้ร่วมเสนอโมเดลธุรกิจทั้ง 5 รายนั้น อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซี.พี. แลนด์ และเซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์
นอกจากโครงการบัดเจ็ตโฮเทลแล้ว ปตท. ยังสร้างความตื่นเต้นด้วยการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมยา โดยจับมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ศึกษาความเป็นไปได้โครงการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง จากสถิติที่พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย และทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ที่สำคัญ ประเทศไทยต้องนำเข้ายากลุ่มนี้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะตัวยาที่ใช้รักษามะเร็ง 3 กลุ่มจำเป็น คือ กลุ่มเคมีหลัก กลุ่มไบโอซิมิลา (สร้างเซลล์มีชีวิตเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง) และกลุ่มทาร์เก็ตเซลล์ (ใช้ยาเข้าทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง) ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะสนองตอบตลาดในประเทศและส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน โดยอยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ลงทุน 2 แห่ง คือ เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศวีโคซี่ของกลุ่ม ปตท. ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง พื้นที่รวม 1,500 ไร่ กับพื้นที่ใน อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่รวม 1,000 ไร่ และคาดว่าจะใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อผลิตยาเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568
แน่นอนว่า การเร่งเครื่องรุกธุรกิจนอนออยล์อย่างหนักหน่วงและร้อนแรงกำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของ ปตท. ชัดเจนมากขึ้น และภายใต้แบรนด์ใหม่ PTTOR จะกลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาลก้อนใหม่ทันทีที่เข้าตลาดหุ้นด้วย