โมเดิร์นเทรดเริ่มมีสีสันแปลกตามากขึ้น เมื่อทุนเกาหลีเริ่มเข้ามาบุกตลาดค้าปลีกเมืองไทย ต่อยอดจากธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ เครื่องสำอาง และธุรกิจศัลยกรรมความงาม ที่ได้รับความนิยมตามกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง มีกลุ่มแฟนคลับเกาะติดเทรนด์อย่างเหนียวแน่น
แม้ขณะนี้ยังไม่มีนักลงทุนเกาหลีเข้ามาบุกเบิกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชิมลางขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทล็อตเต้ (Lotte) ผู้ประกอบกิจการธุรกิจขนาดใหญ่และร้านค้าสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) รายใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยเช่าพื้นที่ขนาด 10,000 ตร.ม. เปิดร้านค้าระดับเวิลด์คลาส เพื่อทดลองใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน และทำตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากขยายสาขาดิวตี้ฟรีชอปในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เนื่องจากกลุ่มล็อตเต้มีธุรกิจในเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งธุรกิจอาหาร ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สวนสนุก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจการเงิน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอที รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัย กลุ่มเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
ล่าสุด กลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ของเกาหลีเริ่มบุกรีเทลตามมาอีกระลอก อย่าง อาร์โควา (Arcova Korean Lifestyle Stores) ร้านจำหน่ายสินค้าราคาเดียว เริ่มต้นที่ 50 บาท ซึ่งเน้นสินค้าเจาะกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน คนรุ่นใหม่ มีสินค้ามากกว่า 10,000 เอสเคยู ทั้งกลุ่มเครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าแฟชั่น ตุ๊กตา สินค้าจิปาถะ โดยเปิดตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนล่าสุดเปิดแล้ว 5 สาขา ได้แก่ สาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์พอยท์ โชว์ดีซี จีทาวเวอร์ และซีคอนสแควร์
ส่วนร้านมิดิโอะ (Midio Korean Selections) ร้านนี้เพิ่งเปิดตัวสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ล่าสุดขยายเพิ่มอีก 2 สาขาที่ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์และยูเนี่ยนมอลล์ รวมถึงมีแผนเดินสายจัดอีเวนต์สร้างการรับรู้แบรนด์ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
สุรชัย ปิยวัชรวิจิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.เอ.พี. มิวสิค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายซีดี ดีวีดี วีซีดี คาราโอเกะ เพลงและภาพยนตร์ต่างประเทศ ภายใต้ชื่อร้าน “CAP” เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า บริษัทตัดสินใจขยายไลน์ธุรกิจใหม่ หลังจากธุรกิจจำหน่ายซีดี ดีวีดี เริ่มชะลอตัวตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก โดยลงทุนซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ร้าน “Midio” จากบริษัทร่วมทุนเกาหลี-จีนในประเทศจีน โดยถือเป็นแบรนด์ร้านค้าปลีกที่มีความแข็งแกร่งมากในตลาดเซาท์อีสต์เอเชีย มีเครือข่ายสาขาจำนวนมากในประเทศจีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ จนล่าสุดเข้ามาเปิดสาขาในไทย
ทั้งนี้ ชื่อ “Midio” เป็นชื่อที่แปลงมาจาก “ Myeong-dong” หรือที่นักชอปแฟนคลับเกาหลีเรียกว่า “เมียงดง” ซึ่งถือเป็นย่านชอปปิ้งสุดฮิตและคึกคักมากที่สุดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณ “สยามสแควร์” เมืองไทย เป็นทั้งศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารนับไม่ถ้วน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเคยได้รับการจัดอันดับเป็นชอปปิ้งสตรีทที่มีมูลค่าแพงที่สุดด้วย
สุรชัยกล่าวว่า แบรนด์มิดิโอะมีความเป็นเกาหลีชัดเจนและมีความแข็งแกร่งทั้งรูปลักษณ์และตัวสินค้า ขณะที่แบรนด์คู่แข่งส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น บางแบรนด์เป็นสินค้าจากจีนหรือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่คนไทยทำเอง แต่มิดิโอะเน้นสินค้านำเข้าและรูปแบบสไตล์เกาหลี มีความฟรุ้งฟริ้งมากและลวดลายความน่ารักต่างจากสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น มั่นใจว่าจะเป็นจุดแตกต่างที่โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งวัยรุ่น คนรุ่นใหม่และแฟนคลับเกาหลีในไทยที่มีฐานจำนวนมาก
สินค้ามีทั้งสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ของขวัญ สินค้าที่ระลึก ราคาขายในไทยเริ่มต้นที่ 69 บาท โดยกลุ่มสินค้ายอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ตุ๊กตา น้ำหอม หมอนรองคอ น้ำหอมปรับอากาศ และหน้ากากปิดตา ซึ่งยอดขายหลักในขณะนี้ยังมาจากหน้าร้าน แต่บริษัทจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ ทั้งขายส่งและขายปลีก โดยเฉพาะการขายผ่านออนไลน์มีโอกาสเติบโตสูงมากเนื่องจากช่วงทดลองตลาด 3 เดือนแรก สินค้าได้รับการตอบรับอย่างดี กลุ่มลูกค้ามองความนิยมสินค้าสไตล์เกาหลีตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากกว่าสไตล์ญี่ปุ่น ทั้งในแง่แฟชั่น สีสันความสดใส
นอกจากนี้ ซี.เอ.พี.มิวสิค อยู่ระหว่างการติดต่อกับบริษัทแม่ เพื่อเพิ่มกลุ่มสินค้าไลเซนส์ตัวการ์ตูนและดาราเกาหลีที่คนไทยรู้จักและชื่นชอบ เพื่อเปิดกลยุทธ์รุกตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับแดนกิมจิ
ด้านแผนการขยายสาขาในปี 2561 บริษัทเตรียมเปิดร้านมิดิโอะเพิ่มอีก 2 แห่งในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และเซ็นทรัล พื้นที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 ตารางเมตร งบลงทุนต่อสาขาประมาณ 5 ล้านบาท
สำหรับการขายแฟรนไชส์ยังต้องรอเวลาอีกระยะ เพื่อให้ระบบต่างๆ มั่นคงก่อน หรืออาจไม่ขายแฟรนไชส์ด้วย เนื่องจากบริษัทเน้นหาลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีที่สนใจซื้อสินค้าไปจำหน่าย โดยใช้จุดขายเรื่องสินค้ามีมาตรฐานและคุณภาพมากกว่าสินค้าราคาเดียวตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งผู้สนใจสามารถซื้อสินค้าและไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เหมือนแบรนด์อื่นๆ
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจค้าปลีกระบุว่า ธุรกิจร้านค้าราคาเดียวยังมีแนวโน้มเติบโตสูง เหตุผลสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจที่กดดันให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าในราคาประหยัดและกลุ่มลูกค้าขยายฐานมากขึ้น จากอดีตที่เป็นกลุ่มประชาชนระดับล่างที่เลือกซื้อสินค้าราคาเดียวตามตลาดนัดหรือร้านค้าตามชานเมือง ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่และมีความต้องการสินค้าไลฟ์สไตล์ ผู้ค้าส่วนใหญ่จึงพยายามสร้างแบรนด์ตามความนิยม โดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลี
แต่เนื่องจากภาพลักษณ์แบรนด์ญี่ปุ่นถูกนำมาใช้ช่วงระยะหนึ่งทำให้แบรนด์เกาหลีกลายเป็น “จุดขายใหม่” บวกกับกระแสวัฒนธรรมเกาหลียังมีความแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากศิลปินดารา นักร้อง ซึ่งมีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า ตลาดรวมค้าส่งค้าปลีกของไทยมีมูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท แยกเป็นค้าปลีกค้าส่งแบบออฟไลน์ประมาณ 3 ล้านล้านบาท และอีก 1 แสนล้านบาทเป็นค้าปลีกค้าส่งในรูปแบบออนไลน์ หากเปรียบเทียบธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบพบว่า ซูเปอร์มาร์เกตมีอัตราเติบโตเพียง 7% กลุ่มไฮเปอร์มาร์เกตเติบโต 2% คอนวีเนียนสโตร์เติบโต 3% ห้างสรรพสินค้าเติบโต 3% แต่โมเดลค้าปลีกกำลังมาแรงนับจากนี้ คือร้านค้าเฉพาะทาง หรือสเปเชียลตี้สโตร์ หรือร้านขายสินค้าประเภทราคาเดียว
เหมือนในสหรัฐอเมริกาที่เกิดกระแสสมรภูมิร้านดอลลาร์สโตร์ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่หันมารุกตลาดเซกเมนต์นี้ หวังชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินจับจ่ายของเหล่ามิลเลนเนียลที่มีมูลค่าสูงถึง 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
การรุกธุรกิจรีเทลของกลุ่มทุนเกาหลีจึงไม่ใช่แค่รายสองรายเท่านั้นแน่