“เทสโก้โลตัส” งัดแผนดึงเครือข่ายผู้ประกอบการไทยเข้าไปเจาะตลาดอังกฤษ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ “วิน-วิน” รอบด้าน เพราะไม่ใช่แค่การเสริมศักยภาพสร้างเครือข่ายคู่ค้า เร่งยอดส่งออกและขยายพอร์ตสินค้า แต่มากไปกว่านั้น บริษัทแม่ในอังกฤษกำลังดิ้นรนเสริมจุดแข็งทุกด้าน เพื่อต่อสู้กับผลพวงจากกรณี “เบร็กซิท” (Brexit) โดยเฉพาะสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกในสหราชอาณาจักรที่พลิกโฉมครั้งใหญ่
จอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส และประธานผู้นำนักธุรกิจฝ่ายสหราชอาณาจักร สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-อังกฤษ เปิดเผยว่า เทสโก้ โลตัส ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกของไทยที่มีสาขากว่า 1,900 แห่งทั่วประเทศ มีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย โดยเป็นช่องทางการขายและสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศผ่านกลุ่มเทสโก้มานานกว่า 10 ปี ทั้งสินค้าประเภทอาหารสด เช่น ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อกุ้ง สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องเขียน ของเล่นเด็ก ไปยังตลาดยุโรปกลางและเอเชียผ่านกลุ่มเครือข่ายธุรกิจเทสโก้ใน 10 ประเทศทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ประเทศไทย มาเลเซีย ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ สโลวะเกีย อินเดีย และจีน
แต่สำหรับปี 2561 เทสโก้โลตัสประกาศจับมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานพัฒนาสินค้าไทยเติบโตไกลสู่ตลาดอังกฤษ โดยเน้นให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาวะการตลาด แนวโน้มผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร พร้อมให้คำปรึกษาด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดโครงการพุ่งเป้าเจาะตลาดอังกฤษ
เหตุผลสำคัญ คือ บริษัทแม่เทสโก้กำลังเร่งปรับตัวรับผลกระทบต่างๆ จากกรณีที่ประเทศอังกฤษประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิท” ซึ่งเริ่มก่อตัวตั้งแต่ปลายปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงปี 2561 โดยหน่วยงานวิเคราะห์ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างคาดการณ์เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะเติบโตเพียง 1.5% ชะลอลงจากปี 2560 แม้เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง และสหราชอาณาจักรจะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคแข็งแกร่งก็ตาม
เพราะผลของเบร็กซิทในระยะแรกหรือช่วงเปลี่ยนผ่านยังฉุดความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เงินรายได้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ทำงานในภาครัฐจะลดลงอีก เกิดความกังวลเรื่องหนี้สินครัวเรือนและความมั่นใจของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับอัตราการเติบโตของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะเป็นปัจจัยสำคัญฉุดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนชะลอลงอีก
ทั้งนี้ ภาพรวมของสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษ มีประชากรรวมประมาณ 65.6 ล้านคน ลักษณะประชากรเป็นสังคมผู้สูงวัย ครอบครัวขนาดเล็กและมีประชากรชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากเทสโก้โลตัสระบุว่า ผู้บริโภคอังกฤษมีการซื้อสินค้าจากร้านค้าหลายแห่ง เฉลี่ย 12.3 แห่งต่อเดือนต่อคน เทียบปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.9 แห่ง โดยสนใจเรื่องความคุ้มค่าและราคาสินค้ามากขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจแย่ลง ไม่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้า (Brand Loyalty) ถึงขั้นเกิดความเชื่อว่า ชื่อยี่ห้อมีความสำคัญน้อยลง
ประเมินด้วยว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของช่องทางค้าขายออนไลน์จะเติบโตเทียบเท่ากับร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานจะเติบโตเร็วขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนช่องทางการค้าขายทั้งกระบวนการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาผลกำไรและเงินลงทุน
ขณะที่ช่องทางค้าปลีกในอังกฤษมีทั้งกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายสินค้าราคาถูก ร้านค้าออนไลน์ และร้านค้ากลุ่มสเปเชียลตี้สโตร์ ซึ่งมีค่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 4 ค่ายแรก หรือ “Big Four” ประกอบด้วย ห้างเทสโก้โลตัส ห้างมอร์ริสัน (Morrison) ห้าง ASDA และห้าง Sainsbury’s นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มค้าปลีกขนาดกลางและเล็กอีก 4 แบรนด์ ได้แก่ Lidl, M&S, Waitrose และ CO-OP โดยกลุ่มเทสโก้มีส่วนแบ่งการตลาดในสหราชอาณาจักรประมาณ 28%
ปัจจุบันเทสโก้มีสาขาในอังกฤษรวม 3,585 สาขา โดยรูปแบบร้านสะดวกซื้อ “วัน สต็อป เทสโก้ เอ็กซ์เพรส” มีมากที่สุด 2,678 สาขา รูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ เทสโก้, เทสโก้เอ็กซ์ตร้า และเทสโก้เมโทร มีจำนวน 655 สาขา และรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ เอ็กซ์ตร้า มีจำนวน 252 สาขา
ที่ผ่านมา บริษัทแม่เทสโก้แบ่งช่องทางการส่งออกสินค้าไปสู่เครือข่ายสาขาเทสโก้โลตัสทั่วโลกทั้ง 10 ประเทศ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ ซึ่งแบรนด์ของไทยที่ขายผ่านเทสโก้ในอังกฤษส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ เช่น มาม่า ศรีราชาพานิช กะทิมะพร้าวชาวเกาะ ส่วนอีกกลุ่มเป็นสินค้าที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์เทสโก้
ตัวแทนคัดเลือกผู้ประกอบการไทย เทสโก้โลตัส ระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เทสโก้โลตัสจัดงานคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อส่งออกสินค้าเจาะตลาดอังกฤษ ซึ่งมีบริษัทสมัครเข้าร่วมประมาณ 60 บริษัท ทุกรายจะต้องนำเสนอสินค้าคุณภาพตามมาตรฐานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) และผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตอาหารของเทสโก้ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญมากกว่าชื่อเสียงของแบรนด์ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอังกฤษยุคปัจจุบันเน้นคุณภาพ ความประหยัดและคุ้มค่า นิยมสินค้าราคาไม่แพง แม้แบรนด์ไม่ดัง
สำหรับประเทศไทยนั้น เทสโก้มีสาขารวม 1,900 แห่ง และมีการนำสินค้าจากอังกฤษเข้ามาทำตลาดเช่นกัน ทั้งสินค้าแบรนด์เทสโก้และเฮาส์แบรนด์ “ไฟน์เนส” (Finest) ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้านำเข้าทั้งจากอังกฤษและประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง โดยจัดโซนสินค้าไฟน์เนส (ไฟน์เนสคอร์เนอร์) 24 แห่ง และเปิดร้านเทสโก้ ไฟน์เนส 7 แห่งในเทสโก้ โลตัส 7 สาขา ได้แก่ สาขารามอินทรา พระราม 4 สุขุมวิท 50 พัทยาใต้ ภูเก็ต สมุย และสาขาถลาง
สินค้าในกลุ่มไฟน์เนส เช่น ชาอิงลิชเบรกฟาสต์ ชาเอิรล์เกรย์ เมล็ดกาแฟจาวาสุมาตรา ซอสเพสโต้อัลลาจีโนเวเซ่ ซอสพาสต้า ซอสโหระพาสำหรับปรุงรส ปลาแอนโชวี่ในน้ำมัน เรดเบอร์รี่กราโนล่า เนื้อปลาคอดชุบเกล็ดขนมปัง ช็อกโกแลตสวิสผสมเนื้อส้มและอัลมอนด์ ซึ่งมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี
แน่นอนว่า กรณีเบร็กซิทคือมรสุมลูกใหญ่ ซึ่งบริษัทเทสโก้ยังต้องปรับตัวเพื่อแก้ผลกระทบต่างๆ อย่าลืมว่า ช่วงปี 2558-2559 บริษัทแม่กลุ่มเทสโก้เคยเจอภาวะหนี้ล้นทะลักจนต้องประกาศขายที่ดินที่เตรียมก่อสร้างซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 14 โครงการในอังกฤษให้กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเงินรวมกว่า 250 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 13,500 ล้านบาท จ่ายหนี้ และคุมเข้มลดการขยายสาขา ท่ามกลางกระแสข่าวเลิกจ้างพนักงานอย่างต่อเนื่อง
พ้นวิกฤตคราวนั้นมาเจอวิกฤตลูกใหม่ หากซ้ำรอยอีก บริษัทลูกในไทยอาจเจอหางเลขก็เป็นได้