วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ปัจฉิมกาลของนิตยสาร กับบทบาทใหม่ของหอสมุด

ปัจฉิมกาลของนิตยสาร กับบทบาทใหม่ของหอสมุด

พัฒนาการอันก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในยุคนี้ส่งผลให้เกิดกระแสเชี่ยวกรากของสื่อออนไลน์ ที่พัดพาเอาหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาให้เราได้เรียนรู้ ทำความรู้จัก เข้าใจ ขณะเดียวกันกระแสดังกล่าวทำให้บางสิ่งถูกพัดหายไปจากสังคม

ภาพสะท้อนความทันสมัยของเทคโนโลยีที่เห็นชัดคือ พฤติกรรมของผู้อ่านหน้าเดิมเปลี่ยนไป จากที่เคยเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อสิ่งพิมพ์ที่อุดมไปด้วยข่าวสาร หรือสาระอันเป็นประโยชน์ สู่การใช้ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจออุปกรณ์สื่อสารเพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสารตามหน้าฟีดจากแอปพลิเคชันต่างๆ แทน สิ่งที่ตามมาคือ สื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวถูกลดทอนความสำคัญลง กระทั่งหลายฉบับถูกกลืนหายไปในสังคมดิจิทัล

ข่าวคราวของการเดินทางครั้งสุดท้ายของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสาร ที่ข่าวการประกาศปิดตัวมีให้เห็นบ่อยครั้งจนเกือบกลายเป็นเรื่องชินตาไปแล้ว และปล่อยนิตยสารปัจฉิมฉบับไว้อำลาแผงหนังสืออย่างน่าเสียดาย

การปิดตัวของบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร น่าจะมาจากปัญหาที่หลายบริษัทประสบพบเจอในห้วงยามนี้ ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องของการขาดดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย

ทั้งนี้นับตั้งแต่สื่อออนไลน์เริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย งบประมาณและเม็ดเงินโฆษณาของหลายบริษัทถูกจัดสรรใหม่ และให้ค่ากับสื่อออนไลน์มากขึ้น โดย ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI) เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ตัวเลขจากการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาตลอดปี 2017

โดยตัวเลขการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในปี 2017 สามารถแบ่งตามประเภทสื่อต่างๆ ได้ดังนี้

1. สื่อโทรทัศน์ 44,941 ล้านบาท

2. สื่อวิทยุ (เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ) 3,459 ล้านบาท

3. สื่อสิ่งพิมพ์ 7,738 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

4. สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 1,877 ล้านบาท

5. สื่อนอกสถานที่ 10,012 ล้านบาท

6. สื่อออนไลน์ 11,179 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

แม้ว่าแง่มุมหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์จะมาจากการเติบโตของสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน และงบประมาณโฆษณาที่ถูกจัดสรร โดยผู้ประกอบการสินค้าและบริการเลือกที่จะโฆษณากับสื่อออนไลน์มากกว่า กระนั้นอีกเหตุผลสำคัญที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ นั่นคือ พฤติกรรมของคนไทยบางส่วนที่ “อ่านน้อย” เพราะไม่ว่านิตยสารนั้นๆ จะพยายามรังสรรค์ผลงานเขียนใดๆ ออกมา แต่กลับไม่สามารถตอบสนองหรือดึงดูดความสนใจของคนไทยบางส่วนได้

และนิตยสารที่เดินทางมาถึงปัจฉิมฉบับอีกรายหนึ่งก็คือ “คู่สร้างคู่สม” ที่แม้ว่าจะมีจุดแข็งในเรื่องของคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย และน่าจะตอบสนองความสนใจของคนหลายช่วงวัย ก็ยังไม่อาจดำรงอยู่ได้ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเทิงถูกเสิร์ฟถึงมือผู้อ่านได้ทุกที่และทุกเวลา แม้ว่านิตยสารคู่สร้างคู่สมจะมีความพยายามยืนระยะอยู่ให้ได้ในห้วงยามหนึ่งก็ตาม

ดำรง พุฒตาล ผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ซึ่งอดีตเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา 6 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิต และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ได้สร้างตำนานแห่งวงการนิตยสารไทยก็ว่าได้ โดยนิตยสารคู่สร้างคู่สมฉบับปฐมฤกษ์ วางแผงเมื่อปี 2523 ที่สร้างจุดแข็งให้กับตัวเองด้วยคอนเทนต์ที่เป็นแมส ผู้คนเข้าถึงได้และสมราคา เป็นเวลา 37 ปีที่นิตยสารอย่างคู่สร้างคู่สม เป็นนิตยสารอีกฉบับที่จะจบตำนานลงภายในสิ้นปีนี้

ระลอกคลื่นแห่งการดับสูญของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและทีมงานภายในกองบรรณาธิการเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในวังวน ไล่เรียงไปตั้งแต่โรงพิมพ์ ที่จะมีงานพิมพ์น้อยลง นั่นหมายถึงรายได้สำคัญที่จะถูกแบ่งสรรสำหรับเป็นค่าแรงของพนักงานในโรงพิมพ์ สายส่ง รวมไปถึงแผงหนังสือขนาดเล็ก

ผู้ที่อยู่ในวังวนและมีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งพิมพ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยับและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

จำนวนที่ลดน้อยถอยลงของสื่อสิ่งพิมพ์ทำให้เกิดคำถามต่อ “หอสมุดแห่งชาติ” ผู้มีพันธกิจในการสำรวจ จัดหา รวมรวม จัดเก็บ และสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาด้านทรัพยากรสารสนเทศในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารโบราณ ว่า เมื่อสถานการณ์ความเป็นไปของโลกแห่งสื่อสิ่งพิมพ์ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นนี้แล้ว หอสมุดแห่งชาติจะมีการปรับบริบทของตัวเองในสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร

หากย้อนเวลาถอยหลังไปราว 15-20 ปีก่อน หอสมุด หรือห้องสมุด ดูจะเป็นสถานที่สำคัญในการให้บริการและส่งเสริมการอ่าน ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยให้แก่ประชาชน สำหรับหลายคนห้องสมุดดูจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยหย่อนใจในยามว่างได้เป็นอย่างดี เมื่อกลิ่นหมึกกลิ่นกระดาษและการจัดเรียงหนังสือตามหมวดหมู่ สามารถดึงดูดใจนักอ่านได้ไม่น้อย

แน่นอนว่าในปัจจุบันทั้งหอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดตามหัวเมืองทั่วไป คงจะถูกละเลยและลดบทบาทความสำคัญลงไปไม่น้อย เมื่อยุคดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้คน อีกทั้งบรรดาข้อมูลข่าวสารสามารถหาได้เพียงปลายนิ้วคลิก ซึ่งทำให้การค้นหาข้อมูลเพียงครั้งเดียวแต่ได้ผลในหลายหน้า ขณะที่การค้นหาในรูปแบบเดิมของห้องสมุดบางที่ยังเป็นไปในแบบอนาล็อก

การจะดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่หมุนไปอย่างรวดเร็วตามสปีดของสัญญาณอินเทอร์เน็ต หอสมุด หรือห้องสมุดของจังหวัด คงจะไม่ใช่เพียงแต่ก้าวและทำความเข้าใจให้เท่าทันโลกแห่งการสื่อสารยุคดิจิทัลเท่านั้น หากแต่คงต้องสรรหากลยุทธ์ที่จะเรียกและดึงดูดความสนใจจากผู้คนให้หันกลับมามอง และเห็นถึงความสำคัญของการมีอยู่ของหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย

แม้ว่าเบื้องต้นหอสมุดแห่งชาติเริ่มที่จะมีการปรับตัวด้วยการเพิ่มฟังก์ชัน “ห้องสมุดดิจิทัล” บนหน้าเว็บไซต์ เพื่อรองรับและให้บริการผู้ใช้งานแล้วก็ตาม แต่นั่นอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ดีพอในยุคนี้

หรือหอสมุดแห่งชาติจำเป็นต้องคิดอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้หอสมุดแห่งชาติยังคงเป็นสถานที่ที่รวบรวมมรดกภูมิปัญญาด้านทรัพยากรสารสนเทศที่สมบูรณ์และทันสมัย มุ่งให้บริการอย่างดีเด่น พร้อมเป็นผู้นำด้านวิชาชีพห้องสมุด

หรือกลุ่มคน “อ่านน้อย” ที่ยังคงเพลิดเพลินกับข่าวสารสาระบนโลกออนไลน์ ควรจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อเรายังมี “Hard Copy” จำนวนมากมายที่อุดมไปด้วยสารประโยชน์ให้ได้เรียนรู้

ใส่ความเห็น