ปี 2017 กำลังเดินทางเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ควบคู่กับการเป็นจุดเริ่มต้นของงบประมาณก้อนใหม่ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่มีมูลค่ารวม 2.9 พันล้านล้านบาท หากแต่สถานการณ์โดยรวมทางเศรษฐกิจของไทยดูจะไม่ได้ดำเนินไปตามที่กลไกภาครัฐพยายามที่จะโหมประโคมว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นแล้วมากนัก
ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐดูจะทุ่มเทความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ การเร่งลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจ และการใช้นโยบายด้านภาษี ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามาตรการหลากหลายดังกล่าวได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ภายใต้แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินมาก่อนหน้า และทำให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2017 หรือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไม่จำเป็นต้องนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ อีก
ตรรกะวิธีคิดดังกล่าวในด้านหนึ่งเป็นผลจากกระบวนทัศน์ที่ฝากความหวังไว้กับการเบิกจ่ายงบลงทุนจากเงินงบประมาณประจำปีงวดใหม่ ที่เป็นงบประมาณขาดดุล ที่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยในช่วงท้ายของปีกระเตื้องขึ้นอีก
ตัวเลขประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจถูกนำมาอ้างอิงอย่างต่อเนื่องในฐานะภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยต่างระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากผลของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเกินกว่าที่ประมาณการไว้และอาจทำให้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับไปสู่ร้อยละ 3.8 จากเดิมที่ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ระดับร้อยละ 3.4 เท่านั้น
ความมั่นใจของกลไกภาครัฐจากความสำเร็จในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ที่ดำเนินผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจในด้านหนึ่งกลับสะท้อนความตีบตันของมาตรการที่จะนำเสนอในอนาคต เพราะในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะดีขึ้น แต่ในภาพที่เล็กลงไปในระดับจุลภาค ผลของเศรษฐกิจกลับมีแนวโน้มไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือได้รับผลอย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังเผชิญความยากลำบาก และเป็นประเด็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องคำนึงและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
มาตรการของภาครัฐที่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติล่าสุด ในนามของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกขานโดยทั่วไปว่าบัตรสวัสดิการคนจน ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ในด้านหนึ่งได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยยังมีผู้มีรายได้น้อยมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการดังกล่าวมากถึง 10-14 ล้านคน ซึ่งดูเหมือนว่าความมุ่งหมายที่จะนำพาประเทศไทยให้ “ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ดูจะห่างไกลจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันเหลือเกิน
จริงอยู่ที่แม้ว่าหลักเกณฑ์ในการแบ่งประเทศรายได้ปานกลางกับประเทศพัฒนาแล้ว จะใช้เกณฑ์แบ่งจากตัวเลขเฉลี่ยรายได้ต่อคนของประชากรที่ระดับ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 770,000 บาทต่อปี โดยวัดจาก PPP (purchasing power parity)
ซึ่งนั่นอาจทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าประเทศไทยอาจขยับเข้าใกล้การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ไม่ยากในอนาคต จากเกณฑ์เฉลี่ยที่ว่านี้ แต่ภายใต้เงื่อนไขของการเข้ารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรสวัสดิการคนจน ที่ระบุถึงการเป็นผู้รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ไปจนถึงไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี กลับสะท้อนข้อเท็จจริงของภูมิทัศน์ในระบบสังคมไทยที่ผู้คนกว่าร้อยละ 20 ยังอยู่ห่างไกลจากค่าเฉลี่ยที่ระบุไว้มากจนน่าใจหาย
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากกรณี บัตรสวัสดิการคนจน ซึ่งเป็นโครงการที่นำเสนอโดยรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตั้งข้อรังเกียจแนวนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่องว่า ดำเนินนโยบายประชานิยมที่ทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหาย และพยายามนำเสนอวาทกรรมและแนวนโยบายประชารัฐเข้ามาแทนที่ หากแต่บัตรสวัสดิการคนจน กลับกลายเป็นเพียง ประชารัฐสงเคราะห์ ซึ่งประหนึ่งเป็นการย้อนทางกลับไปหาการสังคมสงเคราะห์ ที่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาล คสช. พยายามเร่งสร้างวาทกรรมและแนวนโยบายว่าด้วยการพัฒนาไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ควบคู่กับความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ดูเหมือนข้อเท็จจริงที่แวดล้อมกลไกของรัฐจะไม่ได้หมุนตาม หรือเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยพัฒนาไปในแนวทางที่ควรจะเป็นมากนัก เพราะแนวคิดว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่รายได้ปานกลางอยู่ที่การกระจายการผลิต (diversification) ที่ทำให้การผลิตและการจ้างงานมีลักษณะเฉพาะด้านมากขึ้น ขณะที่การลงทุนจะลดความสำคัญลง และนวัตกรรมการผลิตจะกลายเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนจากการสร้างทักษะให้กับแรงงานมาเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานสำหรับผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตใหม่ๆ
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเห็นได้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ที่มีมูลค่ารวมถึง 2.9 พันล้านล้านบาท กลับพบว่างบประมาณที่จัดสรรให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อ “แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ไม่นับรวมงบประมาณด้านการบริหารงานบุคคล มีประมาณ 1 พันล้านบาท
โดยสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 371 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับงบ 104 ล้านบาท สำนักงานสถิติแห่งชาติ 339 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 62 ล้านบาท สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 62 ล้านบาท และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้รับงบประมาณ 34 ล้านบาท
สิ่งที่น่าสนใจจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการประการหนึ่งอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำ “แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน” ที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวนกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท ในด้านหนึ่งอาจให้ภาพของความใส่ใจและความพยายามที่จะกระตุ้นการพัฒนาและเสริมสร้างระบบการศึกษาให้ก้าวหน้า หลังจากที่ประเด็นว่าด้วยมาตรฐานการศึกษาไทยตกต่ำกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์มาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ “แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน” หรือแม้กระทั่งภายใต้กรอบใหญ่ว่าด้วย “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ได้สื่อให้เห็นความไร้ทิศทางในการพัฒนาของสังคมไทย และทำให้เป้าหมายในอนาคตดูเป็นสิ่งที่เลือนรางเต็มที เพราะการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยย่อมไม่ได้ดำเนินไปภายใต้แผนงานพื้นฐานหรือยุทธศาสตร์ที่เพิ่งเริ่มต้นสร้าง หากแต่ควรเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ดำเนินต่อยอดได้จริงในทางปฏิบัติ
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อาจไร้แรงกระตุ้นเสริม และคงต้องรอคอยแนวคิดหรือมาตรการใหม่ๆ ที่กลไกภาครัฐในยุคสมัยปัจจุบันว่าจะสามารถกำหนดมาตรการเชิงรุกอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างที่วางเป้าประสงค์นี้หรือไม่