วัฏจักรของปัญหาว่าด้วยผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาตกต่ำ แต่ในขณะที่บางช่วงผลผลิตที่ได้กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร อันเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พยายามคิดค้นหาวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาต่อยอด ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดองค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำผลการวิจัยที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในหลากหลายมิติ
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ตลาดผลไม้ได้ทำความรู้จักกับมะม่วงสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับตลาด ในชื่อ “มะม่วงมหาชนก” มะม่วงพันธุ์เฉพาะของไทย ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมะม่วงพันธุ์ซันเซทของอเมริกากับพันธุ์หนังกลางวันของไทย จนได้มะม่วงที่มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะม่วงในท้องตลาด
มะม่วงมหาชนกมีลักษณะผลกลมยาว ปลายงอน ผลใหญ่ กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ ผลเมื่อสุกมีสีแดงสวยงาม รสชาติหวานหอม เนื้อไม่เละ เป็นที่ต้องการของทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติ และเป็นผลไม้ที่มีอนาคตไกลสำหรับการส่งออก ในขณะนั้นปริมาณการส่งออกมะม่วงมหาชนกเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทั้งแบบผลสุกและแปรรูป
ระยะต่อมาความนิยมในมะม่วงมหาชนกกลับลดลง เหตุเพราะพบปัญหาสีของผลที่สุกแล้วกลับไม่เป็นสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของมะม่วงมหาชนก เหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้ผู้บริโภคลดความนิยมลง ทั้งที่เป็นมะม่วงที่ปลูกง่าย ให้ผลเร็ว ทนต่อโรคและแมลง ให้ผลตอบแทนต่อต้นสูง และอุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร
จากปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่การศึกษาวิจัย “ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสีแดงและปริมาณสารสกัดแอนโทไซยานินอันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในมะม่วงมหาชนก” ของ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร รวมถึงพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงมหาชนก อันจะนำไปสู่การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
จากการวิจัยพบว่า ปัจจัยของแสงที่มะม่วงได้รับและการฉีดพ่นสารเมทิลจัสโมเนส (Methyl Jasmonate) สารเร่งสีแดงที่ความเข้มข้น 80 ไมโครลิตรต่อมิลลิลิตร ที่ระยะ 90 วันหลังดอกบาน ทำให้เกิดพื้นที่สีแดงเพิ่มขึ้นถึง 25% ของพื้นที่ผิวเปลือกผล และมีปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นเท่ากับ 1.31 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักสด
ซึ่งการฉีดพ่นสารเมทิลจัสโมเนทยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของสารอาหารในมะม่วงมหาชนก ทั้งวิตามินซี ปริมาณน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส และทำให้ปริมาณแคโรทีนอยด์เพิ่มขึ้นเท่ากับ 1.43 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักสด มากกว่าการไม่ฉีดพ่นสาร
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ระบุว่า การใช้สารเมทิลจัสโมเนทมีผลในการเพิ่มระดับของแคโรทีนอยด์ระหว่างการสุกมากกว่ามะม่วงที่ไม่ใช้สารถึง 50% นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมกระบวนการสุกทำให้สามารถยืดอายุมะม่วงมหาชนกออกไปได้นานกว่าปกติ และปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการของผลมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งสารแคโรทีนอยด์ที่พบในมะม่วงมหาชนกนั้น เป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจถึง 40% ในส่วนของแอนโทไซยานิน หรือสารที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ที่เราพบในมะม่วงมหาชนกเช่นเดียวกันนั้น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมอง และช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
สำหรับตัวสารเมทิลจัสโมเนทนั้น เป็นสารเร่งสีแดงที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนำไปใช้ในทางการเกษตร เช่น การเพิ่มสีแดงในแอปเปิล โดยเป็นสารที่ผ่านมาตรฐานสากล ปลอดภัย ไม่มีพิษตกค้าง และที่สำคัญคือต้นทุนไม่สูง สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
ทั้งนี้จะมีการขยายผลงานวิจัยให้กับเกษตรกร โดยจะมีการจัดอบรมในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหา เพราะในปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงมหาชนกใช้วิธีการปลูกแบบปล่อย ลูกไหนได้รับแสงแดดเต็มที่ สุกแล้วเปลือกเป็นสีแดง ตลาดต้องการก็ขายได้ราคา ซึ่งที่ผ่านมาให้ผลได้ไม่เต็มที่
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะม่วงเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย เกษตรกรจะปลูกพันธุ์น้ำดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นมะม่วงที่มีการส่งออกมากที่สุด การวิจัยดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่พบในมะม่วงมหาชนกได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงมหาชนก โดยใช้สรรพคุณในการช่วยป้องกันโรคมาเป็นตัวชูโรง ซึ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและนำพาภาคการเกษตรไปสู่ความเป็น Smart Farming จากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีและมีการบริหารจัดการที่ดี
อีกหนึ่งผลงานวิจัยที่โดดเด่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรพื้นบ้าน จาก “ว่านมหาเมฆ” สมุนไพรไทย สู่นวัตกรรมควบคุมการเจริญของผมและขนตามร่างกาย และกลายเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้
รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสมุนไพร มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ ได้ทำการศึกษาสารสกัดจากว่านมหาเมฆ ซึ่งเป็นสมุนไพรท้องถิ่น ปลูกมากทางแถบเขาค้อ ทะเลภู พบว่าว่านมหาเมฆมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (anti-androgen) ซึ่งฮอร์โมนเพศชายนี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงที่พบได้บ่อย
คณะวิจัยจึงได้นำผลการวิจัยที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากสารสกัดว่านมหาเมฆสำหรับผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้านจากฮอร์โมนเพศชายโดยเฉพาะ ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีศักยภาพในการกระตุ้นการเจริญของผมได้
โดยคณะวิจัยได้จดสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนอย่างบริษัท สยาม นวัตต จำกัด ไปเมื่อปี 2559 จากผลงานวิจัยพัฒนามาสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีปัญหาผมร่วง ศีรษะล้านจากพันธุกรรมได้สำเร็จเป็นที่แรก
จักรรินทร์ ศรีวิไล หนึ่งในคณะผู้วิจัย เชื่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการปลูกว่านมหาเมฆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรพื้นบ้าน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
การวิจัยที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคม นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ เห็นได้จาก “แผนยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ 20 ปี” ที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น โดยเน้นการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในด้านเศรษฐกิจและสังคม และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน