การประกาศลุยธุรกิจตัวล่าสุดของ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ที่ย้ำว่า เทหมดหน้าตัก ทั้งเงินลงทุนส่วนตัว ใช้ชื่อและหน้าเป็นแบรนด์สินค้า ภายใต้ชื่อบริษัท ฟาเธอร์ ออฟ ออล ซอส โดยประเดิมสินค้าตัวแรก ซอสพริกพริก Made By TODD หรือ “ซอสต๊อด” ด้านหนึ่งเป็นความพยายามฉีกแนวตลาดซอสในเมืองไทย ซึ่งมีให้เลือกอยู่ไม่กี่ชนิดและแยกประเภทชัดเจน ใช้จิ้ม หมัก ปรุงรส หรือทานคู่กับอาหารไม่กี่เมนู
เพราะ “ซอสต๊อด” เป็นซอสอเนกประสงค์ที่อร่อยได้ครบ ทั้งจิ้ม หมัก ผัด ทอด ปิ้ง ย่าง หรือผสมกับซอสอื่น ชนิดที่คนไม่เคยชอบกินซอสอย่าง “สันติ ภิรมย์ภักดี” ยังต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาจิ้มซอสต๊อดอย่างเอร็ดอร่อย
แต่อีกด้านหนึ่งเป็นความพยายามของปิติที่ต้องการสร้างโมเดลธุรกิจ “ซอสต๊อด” โดยวางระบบซัปพลายเชน หรือการจัดการห่วงโซอุปทานของบริษัททั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) การจัดจำหน่าย (Distribution) และการขนส่ง (Transportation) เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ผู้บริโภคและผู้จัดจำหน่ายที่ถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
สำหรับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ปิติ ภิรมย์ภักดี เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธุรกิจซัปพลายเชน บริษัท ลีโอ ลิงค์ จำกัด และบริษัท บุญรอดเอเชีย จำกัด เมื่อกลางปี 2559 เพราะบริษัทบุญรอดฯ กำลังเร่งพัฒนาระบบซัปพลายเชนของธุรกิจในเครือทั้งหมด ซึ่งทำให้ธุรกิจส่วนตัวของนักธุรกิจหนุ่มเน้นเรื่องดังกล่าวไม่ต่างกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ฟาเธอร์ ออฟ ออล ซอส ปิติใช้เวลาเริ่มต้นกระบวนการผลิต “ซอสต๊อด” จนเปิดตัวสินค้านานกว่า 2 ปี ทั้งพัฒนาสูตรซอสพริกอเนกประสงค์ และคัดสรรวัตถุดิบชั้นเยี่ยมจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกกะเหรี่ยง และพริกยอดสน ซึ่งหายากมาก และ 1 ใน 4 สายพันธุ์ของพริกที่คัดเลือกมาเป็นพริกที่เผ็ดที่สุดในประเทศไทย ทำให้ซอสมีความหอม รสแซ่บจัดจ้าน และในอนาคตวางแผนจะขยายพื้นที่การปลูกพริกสายพันธุ์หายากในไร่บุญรอด “สิงห์ปาร์ค” จ.เชียงราย
ส่วนวิธีการเคี่ยวเปรี้ยวใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิต ทำให้ซอสเหนียวข้น ซึ่งต่างจากซอสยี่ห้ออื่นๆ ที่มักผสมแป้ง และการเคี่ยวไม่มีสารกันบูด มีมาตรฐานการผลิตอาหาร HACCP การบรรจุที่อุณหภูมิ 80 องศาแล้วซีล ช่วยให้เก็บรักษาได้นานถึง 1 ปี
ด้านแผนการทำตลาดเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ปิติย้ำอย่างชัดเจนว่า บริษัทจะไม่ใช้สื่อโฆษณาและไม่จำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด แต่เน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ซอสพริกพริก By Todd” https://www.facebook.com/Dynamitebytodd/ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายด้วย รวมถึงช่องทาง Line Official ID: @saucesbytodd เพื่อสร้างแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับเปิดรับตัวแทนจำหน่ายรายย่อย 3 ระดับ ได้แก่ Silver, Gold, Platinum โดยวัดจากยอดขายและตัวแทนจำหน่ายที่เป็นร้านอาหาร ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
“ผมเน้นการตลาดแบบชีพจรลงเท้า คือการใช้คนเดินขายสินค้าเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสทดลองสินค้า และทำให้ผมมีเครือข่ายกระจายสินค้าทั่วประเทศได้ ซึ่งการไม่เข้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เพราะธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่องทางออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้น และการจำหน่ายในโมเดิร์นต้องจ่ายค่าฟี หักส่วนแบ่งจากยอดขาย ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นและราคากว่าจะถึงผู้บริโภคต้องแพงขึ้นอีก แต่การขายตรงบริษัทกำหนดราคาต้นทุนให้ตัวแทนขาย ใครอยากเป็นตัวแทนสามารถมารับสินค้าที่เอเย่นต์หรือเครือข่ายนำไปขาย เขาได้ส่วนแบ่งกำไรทันที ยิ่งขยัน ขายได้มากยิ่งได้ส่วนลดมาก ยิ่งได้เงินกำไร”
ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจของซอสต๊อดไม่ต่างจากการทำธุรกิจของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ที่มียอดขายมาจากเทรดดิชันนอลเทรด หรือร้านค้าดั้งเดิมอย่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สัดส่วนสูงถึง 80% ขณะที่โมเดิร์นเทรดมีไม่ถึง 20% เมื่อบวกกับการใช้ช่องทางออนไลน์ ผสานการขายตรงและเทรดดิชันนอลเทรด จะสามารถขยายฐานครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ ต้นทุนไม่สูงขึ้นและสร้างรายได้ให้ผู้ค้ารายย่อยด้วย
ปิติเล่าว่า ในฐานะกรรมการผู้จัดการธุรกิจซัปพลายเชนในเครือบุญรอดฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบซัปพลายเชนทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ลดต้นทุนและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในเครือ โดยเฉพาะเทรดดิชันนอลเทรดจากระบบยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งกลุ่มบุญรอดฯ มีระบบแข็งแกร่งมาก และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบซัปพลายเชนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ระบบการค้าขายสินค้าของไทยในขณะนี้พึ่งพาโมเดิร์นเทรดมากจนถูกต่อรอง สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ จากเดิมมีสินค้าขายผ่านร้านโชวห่วยเกือบ 100 ตัว ปัจจุบันเหลือเฉลี่ยแค่ 5 ตัว สุดท้ายโมเดิร์นเทรดจะเข้ายึดกุมระบบค้าปลีกทั้งหมด At The End ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบซัปพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”
กรณีตัวอย่างในประเทศจีน เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จ้างบริษัทเกาหลีเข้าไปวางระบบซัปพลายเชนทั้งหมด ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี บริษัทซัปพลายเชนสามารถต่อรองยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้น 50% อย่างง่ายดาย ประเทศไทยก็เช่นกัน ถ้าคนไทยไม่จับมือกันสร้างระบบซัปพลายเชนของตัวเอง ไม่เกิน 3 ปีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาพัฒนาแต่ต้องปรับตัว ซึ่งทั้งกลุ่มบุญรอดฯ หรือแม้กระทั่งบริษัท ฟาเธอร์ ออฟ ออล ซอส กำลังพยายามสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกๆ ธุรกิจ
ปัจจุบันปิติลงทุนสร้างธุรกิจของตัวเอง 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารไทย แบรนด์ แสนแซ่บ เปิดแล้ว 8 สาขา แซ่บบาร์ 1 สาขา และเตรียมเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ที่ 3 เร็วๆ นี้, ธุรกิจบริการ Heaven Service สุขาเคลื่อนที่ระดับไฮเอนด์ รองรับงานอีเวนต์ งานเลี้ยงต่างๆ เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานคอนเสิร์ต และล่าสุด คือ ธุรกิจประเภทวัตถุดิบอาหาร เช่น ซอสและวัตถุดิบชนิดต่างๆ ซึ่งทุกธุรกิจต่อยอดและเอื้อกันได้ทั้งหมด
เฉพาะ “ซอสต๊อด” หลังเปิดตัวครั้งแรกในงานแสดงสินค้าอาหาร 2560 “ไทยเฟ็กซ์ เวิลด์ ฟู้ด ออฟ เอเชีย” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และอาศัยแผนการตลาดแบบชีพจรลงเท้า สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถสร้างยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน โดยมี 40 ร้านที่ใช้และวางจำหน่ายซอสต๊อด ไม่นับตัวแทนขายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและเริ่มจำหน่ายในต่างประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอังกฤษ ในรูปแบบการซื้อไปจำหน่าย เนื่องจากการทำตลาดต่างประเทศอยู่ระหว่างการวางแผนและรอการขยายกำลังการผลิต เพราะบริษัทจ้างบริษัท เฮส โกโซลูชั่น ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้ยอดสั่งซื้อล้นทะลักจนผลิตไม่ทัน
แผนแจ้งเกิด “ซอสต๊อด” จึงสะท้อนแนวคิดการฉีกกลยุทธ์ตลาด สวนกระแสโมเดิร์นเทรด ที่ผู้ผลิตหลายค่ายอาจคิดเพียงว่าต้องขายในโมเดิร์นเทรดเท่านั้น ซึ่งน่าจับตาผลสำเร็จและการเติบโต
“อยู่หรือเจ๊ง” ใช้เวลาไม่นานรู้แน่