หากจะเอ่ยถึงจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่มักถูกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจและเลือกเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยว คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดใหญ่ๆ อย่าง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย หรือน่าน
พะเยา จังหวัดที่น้อยคนนักจะเลือกเดินทางเข้าไปสัมผัสเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ แม้ว่าจะมีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบาย ความร่มรื่นที่มีผลมาจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่นับได้ว่า ยังคงความเขียวขจีอยู่มากกว่าบางจังหวัด ประกอบกับความเงียบสงบของเมืองซึ่งเหมาะแก่การหลบร้อนและพักผ่อน
อาจเป็นเพราะด้วยความที่จังหวัดพะเยาถูกขนาบข้างด้วยเชียงรายและน่าน ที่ดูจะมีภาษีเหนือกว่าในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว ที่เมื่อได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจนทำให้เกิดกระแส ผู้คนแห่แหนกันไปเพื่อเช็กอิน เก็บเกี่ยวประสบการณ์และแชร์การมาเยี่ยมเยือนลงบนโลกโซเชียล นั่นทำให้พะเยาเป็นเพียงทางผ่านในหลายๆ ครั้ง
กระทั่งเมื่อมีการเปิดเผยแผนพัฒนาด่านบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ให้เปิดด่านถาวร จึงเป็นเสมือนการเปิดสวิตช์เครื่องจักร ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาและปลุกศักยภาพของจังหวัดให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้าชายแดน เมื่อด่านบ้านฮวกมีเขตที่สามารถเชื่อมต่อกับแขวงไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ ซึ่งหากด่านบ้านฮวกถูกอนุมัติให้เป็นด่านถาวร อ. ภูซาง จ.พะเยา จะกลายเป็นอีกหนึ่งประตูและเส้นทางการค้าของภูมิภาคนี้
ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ปานทอง สระคูพันธ์ เปิดเผยว่า “จังหวัดได้งบประมาณจากรัฐบาลมา 500 ล้านบาท โดยจะนำงบประมาณดังกล่าวมาพัฒนากว๊านพะเยา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และแหล่งท่องเที่ยว เมื่อถนนที่เชื่อมไทย-ลาว แล้วเสร็จจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง”
ทั้งนี้ด่านบ้านฮวกจะเป็นด่านชายแดนถาวรได้ภายในปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของปานทอง สระคูพันธ์ นั่นหมายความว่า จังหวัดพะเยาคงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาทั้งระบบเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง
เส้นทางโลจิสติกส์ที่น่าจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญสำหรับการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agancy (NEDA) ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างและปรับปรุงถนนช่วงบ้านฮวก (จ.พะเยา)-เมืองคอบ-เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ-บ้านปากคอบ-บ้านก้อนตื้น สปป.ลาว
หากเส้นทางนี้แล้วเสร็จน่าจะเป็นช่องทางที่ช่วยให้การค้าการลงทุน และการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่าง 2 ประเทศสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดพะเยากับเมืองไซยะบุรี สปป.ลาว
หากพิจารณาการสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2558 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมายังจังหวัดพะเยาในปี 2558 นั้นประมาณ 560,000 คน กระนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของพะเยายังคงมีความคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พะเยาเป็นจังหวัดเล็กๆ จำต้องมองหาบทเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปจนไม่สามารถจะนำเสนอการบริการที่ดีเป็นมาตรฐานเดียวกันได้อย่างทั่วถึง หรือจะเป็นเรื่องของการถูกดูดกลืนทางวัฒนธรรมอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน หรือ เชียงคาน จ.เลย เมื่อการท่องเที่ยวบูม และนักลงทุนนอกเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จนเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ เปลี่ยนไป
วีระวุฒิ ต๊ะปินตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา เปิดเผยแผนการรับมือสถานการณ์ดังกล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “ต้องสร้างให้เกิดสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือวัฒนธรรมต้องไม่เสีย สิ่งแวดล้อมป่าไม้ ต้องไม่ถูกทำลาย และรายได้ต้องไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราจะมุ่งเน้นที่นักท่องเที่ยวคุณภาพ และแม้ว่ายังต้องการการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะที่พักที่จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ เพื่อไม่ให้มากจนเกินไป และด้านของระบบการขนส่งต้องมีการจัดระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้นเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปกลับสนามบินเชียงราย”
หากจะถอดบทเรียนของเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงคาน หรือปาย ดูเหมือนว่าเสน่ห์ของความเป็นเมืองที่มีองค์ประกอบในเรื่องของธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และรูปแบบของวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างธรรมชาติ ดูจะไม่แตกต่างจากพะเยามากนัก
องค์ประกอบดังกล่าวของเมืองเหล่านี้ดูจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือคนจากเมืองใหญ่ให้เข้ามาได้เป็นอย่างดี เพราะเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเหล่านี้คือการแสวงหาความสงบเงียบที่หาได้ยากนักจากในเมืองใหญ่
ทั้งนี้ภาครัฐของพะเยาจำต้องพึงระวังและวางมาตรการที่เข้มแข็งให้กับคนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการล้นทะลักของทุนจากนอกเมืองจนมากเกินความจำเป็น หากไม่ต้องการให้วิถีชีวิตของคนพะเยาถูกเปลี่ยนไปจนไม่สามารถกู้กลับได้
กระนั้นสิ่งที่ยังน่ากังวลสำหรับพะเยาคือเรื่องของการสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว เมื่อถูกขนาบข้างสองจังหวัดใหญ่อย่างเชียงรายและน่าน จะทำเช่นไรให้เมืองเล็กๆ อย่างพะเยาโดดเด่นขึ้นมาได้
แม้ว่า รองผู้ว่าฯ จ.พะเยา จะอธิบายถึงโครงการเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างพะเยา-สปป.ลาว ภายใต้ชื่อ “สวัสดีกว๊านพะเยา สบายดีหลวงพระบาง” ที่ดูเหมือนจะเป็นความพยายามชูจุดเด่นของเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ กระนั้นต้องไม่ลืมว่า จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่านเองต่างมีเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองสำคัญๆ ของ สปป.ลาว ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวชายแดน มองว่า เมื่อใดที่ด่านบ้านฮวกเป็นด่านถาวรแล้ว อ.ภูซาง จ.พะเยา น่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึงปีละ 800 ล้านบาท
นอกจากปัญหาเรื่องของการสร้างตำแหน่งทางการตลาดในการท่องเที่ยวของจังหวัดทางภาคเหนือแล้ว พะเยายังต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะเข้ามาถึงชุมชน ต้องสร้างการกระจายรายได้ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ในเมือง หรือพื้นที่สำคัญๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่งปานทอง สระคูพันธ์ อธิบายว่า “พะเยาเป็นเมืองเกษตร ซึ่งขณะนี้มีความพยายามที่จะสร้างสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรออกานิก แต่กรณีนี้ยังต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ ให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้สารเคมี แต่คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร โดยสินค้าเกษตรของพะเยานั้นจะมุ่งเน้นที่ตลาดนิชมาร์เกตเป็นหลัก”
เมื่อพิจารณาดูความพยายามของตัวแทนภาครัฐของจังหวัดพะเยาแล้ว หากนโยบายที่แสดงออกมานั้นสามารถทำได้จริง น่าจะสร้างผลตอบแทนทั้งในด้านของรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่จากเดิมดูเหมือนรายได้จะมาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถตามสถานที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก
และเมื่อใดก็ตามที่เส้นทางเชื่อมต่อพะเยาไป สปป.ลาว แล้วเสร็จ ถึงเวลานั้นการเติบโตในเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว คงจะเป็นไปอย่างที่คนจังหวัดพะเยาคาดหวัง น่าติดตามว่าเส้นทางใหม่ที่ชื่อว่า “สวัสดีกว๊านพะเยา สะบายดีหลวงพระบาง” จะเป็นที่กล่าวถึงมากเพียงใด และจะตรงตามเป้าประสงค์ของคนท้องถิ่นหรือไม่