วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ตรวจแนวรบคอนวีเนียนสโตร์ สมรภูมิชนช้างชิงพื้นที่

ตรวจแนวรบคอนวีเนียนสโตร์ สมรภูมิชนช้างชิงพื้นที่

ล่าสุด เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาย้ำอีกครั้งถึงความร่วมมือกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการขยายร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ต่อไปตามสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์อีก 6 ปี โดยยังคงใช้รูปแบบการเติบโตไปด้วยกันและตั้งเป้าจะขยายครบ 1,700 แห่ง จากปัจจุบันมีทั้งสิ้นประมาณ 1,100 แห่ง

แต่เรื่องอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงได้ และช่วงปลายปี 2560 บอร์ด ปตท. จะพิจารณาแผนการลงทุนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งรวมถึงธุรกิจนอนออยล์ พร้อมๆ กับการเร่งแยกธุรกิจค้าปลีกเป็นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เร่งโอนทรัพย์สินให้ PTTOR ก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2560 เพื่อนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2561

ช่วงจังหวะนี้จึงถือเป็นการปรับทัพธุรกิจนอนออยล์ของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก 2 แบรนด์หลัก คือ จิฟฟี่และจอยคาเฟ่คอนวีเนียน ซึ่งตามแผนการลงทุน 4-5 ปีข้างหน้า เทวินทร์ระบุว่า ปตท. ต้องการให้ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ “จิฟฟี่” เป็นหัวหอกการลงทุนขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลัก โดยภายในปี 2565 จะมีร้านจิฟฟี่ใน สปป. ลาว เพิ่มเป็น 97 แห่ง หรือ 160 แห่งในอาเซียน จากปัจจุบันเปิดสาขาในลาว 19 แห่ง กัมพูชา 13 แห่ง และฟิลิปปินส์ 1 แห่ง

ส่วนสาขาในประเทศ ปัจจุบันมี 149 แห่ง จะขยายเพิ่ม 30 แห่งในปั๊ม ปตท. เพื่อเสริมความเป็นมินิคอมมูนิตี้มอลล์ของสถานีบริการ และนอกปั๊มอีก 50 สาขา เน้นการเปิดตามสถานศึกษา โรงพยาบาล ออฟฟิศ และคอนโดมิเนียม

ขณะที่แบรนด์ “จอยคาเฟ่คอนวีเนียน” ซึ่งถือเป็นคอนวีเนียนสโตร์เซกเมนต์ใหม่ เน้นจุดขายเรื่องสินค้าและบริการที่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพิ่มโซนร้านกาแฟ Cafe Amazon และชานมไข่มุก Pearly Tea มีโซนเบเกอรี่ โซนบิวตี้ และโซน Price Point หรือสินค้าราคาเดียวเหมือนร้านไดโซะ เพื่อเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็กเหมาะกับชุมชน

ตามแผนเดิม บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM ตั้งใจจะขยายจอยคาเฟ่คอนวีเนียนอย่างน้อย 30 แห่ง เน้นพื้นที่ทำเลย่านชุมชน อาคารสำนักงาน เขตเมือง ย่านท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าความพยายามสร้างโมเดลธุรกิจเจาะตลาดคอนวีเนียนสโตร์รูปแบบใหม่ของ ปตท. กลับไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค จนทำให้แผนทั้งหมดหยุดชะงัก

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ร้านจอยคาเฟ่คอนวีเนียนเป็นโมเดลทดลอง ซึ่งล่าสุดเปิดเพียง 3 สาขา และอยู่ระหว่างการศึกษาสรุปโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุด โดยเบื้องต้นจากผลตอบรับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่า รูปแบบคาเฟ่คอนวีเนียนสโตร์น่าจะไปได้ดีกับทำเลย่านอาคารสำนักงาน แต่ยังไม่สรุป เพราะการแข่งขันในธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์รุนแรงและคู่แข่งทุกรายต่างงัดกลยุทธ์จุดขายมากมาย ทำให้ ปตท. ต้องจัดทำแผนดำเนินธุรกิจใหม่ให้ชัดเจน เพื่อเสนอบอร์ดพิจารณาช่วงปลายปีนี้

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวของ ปตท. ในฐานะยักษ์ใหญ่บริษัทน้ำมันและผู้นำธุรกิจจีสโตร์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ความสำเร็จในธุรกิจร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” และการรุกธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับร้านสะดวกซื้อจนถึงคอมมูนิตี้มอลล์ สร้างโมเดลสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ “มินิคอมมูนิตี้มอลล์” ทำให้ยักษ์ค้าปลีกต่างเร่งปรับกระบวนทัพเพื่อรองรับผู้ค้าปลีกรายใหม่อย่าง ปตท. ซึ่งมีจุดแข็งในแง่เจ้าของทำเลที่ดินทั่วประเทศ เครือข่ายเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งและการเติมเต็มธุรกิจไลน์ใหม่ๆ

ทั้งการซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ ไก่ทอด “เท็กซัสชิคเก้น” ร้านติ่มซำ “ฮั่วเซ่งฮง” ร้านโดนัท แด๊ดดี้โด ดึงพันธมิตรรายใหม่ๆ และเตรียมขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการอย่างโครงการ “บัดเจ็ทโฮเต็ล” ซึ่งเร่งเจรจาหาพันธมิตร เพื่อผุดโรงแรมราคาประหยัดในสถานีบริการน้ำมันเฟสแรก 5 แห่ง ใน 5 ภูมิภาคหลัก

โดยเฉพาะเบอร์ 1 อย่างบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เหมือนจะเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้เชื่อว่า ที่สุดแล้ว ปตท. กับซีพี ออลล์ น่าจะเดินด้วยกันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ หากสิ้นสุดสัญญากับ ปตท. และไม่สามารถเจรจาต่อรองจนได้ข้อยุติ การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากร้านสาขาทั้ง 1,700 แห่ง ย่อมหมายถึงการสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การหาทำเลใหม่ที่มีศักยภาพไม่ต่างกัน ซึ่งล่าสุด ซีพี ออลล์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เพื่อผุดสาขาในโครงการทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมของพฤกษาทุกโครงการ โดยเริ่มนำร่อง 3 โครงการแรก คือ พฤกษาวิลล์ 92 อ่อนนุช-สุวรรณภูมิ, ดีไลท์ วงแหวนฯ-วัชรพล และซีนเนอรี่ ซ.แก้วอินทร์ 25 ก่อนขยายเข้าสู่ทุกโครงการที่มีศักยภาพ

ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่นยังเป็นคอนวีเนียนสโตร์ที่ขยายตัวเร็วที่สุด ยึดครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 65% จากร้านสะดวกซื้อกว่า 15,000 แห่ง มีศักยภาพรองรับลูกค้า 4,500 คนต่อร้าน เกือบ 2 เท่าของญี่ปุ่น

จำนวนสาขา ณ เดือนกรกฎาคม 2560 กว่า 10,000 สาขา และตั้งเป้าหมายเปิดสาขาใหม่ 700 สาขาต่อปี จนกว่าจะถึงเป้าหมาย 13,000 สาขาภายในปี 2564 โดยมีทำเลใหม่ๆ ตามการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนใหม่ การขยายตัวของโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน และโครงการคอนโดมิเนียม

อย่างไรก็ตาม สมรภูมิคอนวีเนียนสโตร์ยิ่งแข่งขันสูง ยิ่งดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งมากขึ้น เพราะถือเป็นเทรนด์ค้าปลีกที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคและมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง

ทุกค่ายจึงเร่งปักหมุดขยายสาขา ไม่ว่าจะเป็น “เทสโก้ โลตัส” ที่ลุยผุด เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มากถึง 1,600 สาขา และเร่งปูพรมในทุกพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มบริการใหม่ๆ นอกจากการชูจุดขายเรื่องสินค้าราคาประหยัด

สำหรับ “แฟมิลี่มาร์ท” ของกลุ่มเซ็นทรัล ยืนยันเร่งขยายครบ 3,000 แห่งภายในปี 2563 โดยเน้นตามทำเลในจังหวัดหลัก เช่น กทม. พัทยา ภูเก็ต สมุย และแหล่งท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน สถานการศึกษา ปั๊มน้ำมัน และชอปปิ้งมอลล์ รวมถึงการจับมือเป็นเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์เปิดร้านแฟมิลี่มาร์ทในคอนโดแอสปายของเอพี (ไทยแลนด์) จากปัจจุบันแฟมิลี่มาร์ทมีสาขาที่เปิดในคอนโดเกือบ 30 แห่ง และเน้นร้านโฉมใหม่ขนาดใหญ่ขึ้น เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120 ตร.ม. เพิ่มสินค้าและบริการภายในร้านให้มีความหลากหลาย เช่น อาหารพร้อมทาน เพิ่มขึ้น 30% อาหารปรุงสดแบบวันต่อวัน บริการรับชำระเงินผ่านเซ็นเพย์และอาลีเพย์ บริการส่งพัสดุ Kerry Express และบริการดีลิเวอรี่

ขณะเดียวกัน กลุ่มเซ็นทรัลยังมี “ท็อปส์ เดลี่” เข้ามาเสริมเซกเมนต์มินิซูเปอร์มาร์เกตในชุมชน ชูจุดขายเรื่องสินค้านำเข้า มีครัวเพื่อปรุงอาหารสดพร้อมทาน บริการร้านกาแฟสดพร้อมดื่ม “คอฟฟี่ บาย ท็อปส์” และเพิ่มบริการเสริมอื่นๆ เช่น บริการ wi-fi ถ่ายเอกสาร แฟกซ์ และท็อปส์ช็อป ออนไลน์ จัดส่งสินค้าถึงบ้าน

ส่วน “ลอว์สัน” ร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมียมจากญี่ปุ่น ตั้งเป้าขยายสาขาในประเทศไทยอย่างน้อย 1,000 สาขา จากปัจจุบันเปิดแล้วมากกว่า 90 สาขา และจะครบ 100 สาขาภายในสิ้นปีนี้ โดยเน้นทำเลย่านชุมชน อาคารสำนักงานและในสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขา ได้แก่ สาขา MRT พระราม 9 สาขา MRT คลองเตย สาขา MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ และ สาขา MRT สุขุมวิท

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท สหลอว์สัน จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 ได้ทำสัญญาแฟรนไชส์ ครั้งแรกกับสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ และเปิดสาขาแรกในซัสโก้ นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จ.ระยอง เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนทำงาน

ก่อนหน้านี้ ลอว์สัน 108 ได้เข้าไปเปิดสาขาในสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ประมาณ 10 สาขา แต่เป็นการลงทุนเองของบริษัท รวมถึงปั๊มอื่นๆ เช่น เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และเชลล์

แต่รายที่กำลังขยับเขยื้อนอย่างน่าสนใจ คือ ค่าย “บางจาก” ซึ่งทุ่มทุนดึงแบรนด์รีเทลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ “สพาร์” เข้ามาเป็นหัวหอกลุยธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมันบางจาก โดยเน้นจุดขายที่มีทั้งสินค้าทั่วไป สินค้านำเข้า สินค้าเกษตรกรชุมชน อาหารพร้อมรับประทาน และมุมกาแฟ “อินทนิล” โดยวางทิศทางขยายร้าน SPAR Supermarket ครบ 400 สาขาในปี 2564 ซึ่งล่าสุด สพาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (SPAR International) บรรลุข้อตกลงกับ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (DHL Supply Chain) และบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด เพื่อเร่งเปิดตัวร้านสะดวกซื้อกว่า 300 สาขาทั่วประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563

การได้ดีเอชแอลเข้ามาวางระบบซัปพลายเชน ทั้งบริการขนส่งสินค้า บริการกระจายสินค้า และคลังสินค้าแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ย่อมเป็นจุดแข็งสำคัญของสพาร์

และนอกเหนือจากกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ๆ แล้ว ยังมีหน้าใหม่ๆ เข้ามาซุ่มลุยตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากจีสโตร์ เช่น พีทีมาร์ทและแมกซ์มาร์ทของค่ายน้ำมัน พีทีจี เอ็นเนอยี “เดลี่ คาเฟ่” ของ “เชลล์” และซูเปอร์เซฟของกลุ่มตระกูล “ตั้งคารวคุณ” ซึ่งต้องการแจ้งเกิดทั้งร้านสะดวกซื้อ “เอสมินิมาร์ท” และซูเปอร์เซฟ ซูเปอร์มาร์เกต

ตรวจแนวรบคอนวีเนียนสโตร์ หลังสัญญาณที่ ปตท. ส่งถึงเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว ตื่นเต้นดุเดือดยิ่งนัก

ใส่ความเห็น